4 เรื่องที่กรรมการบริษัทอยากรู้

4 เรื่องที่กรรมการบริษัทอยากรู้

ปีนี้เริ่มต้นปีก็คึกคัก ประมาณการเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ชี้ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะดีต่อเนื่องจากปีก่อน ตลาดการเงินก็พุ่งแรง

ไม่ถึงสามอาทิตย์ ตลาดหุ้นปรับสูงขึ้นไปแล้วกว่า 4.5%  

แต่ภายใต้ความรู้สึกที่ดีนี้ ก็มีนักธุรกิจจำนวนมากที่ยังไม่มั่นใจว่าภาวะธุรกิจ และเศรษฐกิจปีนี้จะดีขึ้นมากอย่างที่กำลังมองกัน

ตัวแปรที่เป็นความไม่แน่นอนดูยังมีมาก ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ประเทศมีอยู่ การเมืองในประเทศ รวมถึงทิศทางนโยบายหลังการเลือกตั้ง เรื่องธรรมาภิบาลและการทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และการปรับตัวของภาคธุรกิจ ต่อการเปลี่ยนแปลงหรือ disruption ที่กำลังกระทบธุรกิจอยู่

เหล่านี้คือ ความไม่แน่นอนที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะออกมาอย่างไร เป็นคำถามที่นักธุรกิจบางส่วนมีอยู่ในใจและต้องการคำตอบ จึงยังไม่อยากตอบรับการคาดหวังที่เป็นบวกขณะนี้เต็มที่ อยากมีข้อมูล และเข้าใจเรื่องต่างๆ มากขึ้นก่อนตัดสินใจ

สถาบันกรรมการบริษัทไทยหรือไอโอดี เข้าใจความห่วงใยเหล่านี้เป็นอย่างดี เพราะในฐานะนักธุรกิจหรือกรรมการก็ควรต้องตัดสินใจด้วยความระมัดระวัง และจากที่สถาบันได้สัมผัส และฟังความเห็นจากนักธุรกิจที่สถาบันมีโอกาสได้พบปะ โดยเฉพาะสมาชิกสถาบันไอโอดี ที่ขณะนี้มีเกือบ 4,000 คน

ความรู้สึกที่ได้ก็สะท้อนว่า บางส่วนยังอยากระมัดระวัง แม้เชื่อว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ยังห่วงใยในความไม่ชัดเจนที่มีอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะ 4 ประเด็นที่กรรมการบริษัทมองว่า สำคัญต่อธุรกิจปีนี้

เรื่องแรกคือ ทิศทางของนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน และนโยบายที่เกิดขึ้นตามมาหลังการเลือกตั้งว่า จะแตกต่าง ดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าในปัจจุบัน

เท่าที่เข้าใจ นักธุรกิจมองว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันคงพยายามผลักดันงานต่างๆ ที่ได้ทำมาให้บรรลุผล หรือเกิดเป็นผลสำเร็จในปีนี้ โดยเฉพาะโครงการที่เป็นการริเริ่มของรัฐบาล เช่น การลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษหรืออีอีซี รวมถึงการสร้างกำลังซื้อให้แก่กลุ่มประชาชนรายได้น้อย ผ่านการอัดฉีดงบประมาณต่างๆ ที่อาจรวมถึงการมีงบประมาณกลางปี

มาตรการเหล่านี้จะทำให้การใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้น ซึ่งจะดีต่อเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของประชาชน โดยเฉพาะปีนี้ที่เป็นปีเลือกตั้ง

แต่ที่ยังไม่ชัดเจนก็คือ ประโยชน์ที่ภาคธุรกิจจะได้จากมาตรการเหล่านี้ จะขยายตัวในวงกว้างหรือกระจุกอยู่เฉพาะกับธุรกิจที่ใกล้ชิดกับโครงการหรือการใช้จ่ายของรัฐ

อีกประเด็นที่นักธุรกิจหวังและอยากเห็นก็คือ จะมีการเร่งปฏิรูปประเด็นสำคัญๆ เพื่อแก้ข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจขณะนี้ ไม่ว่าจะเรื่องกฎระเบียบที่ยังมีมาก เรื่องความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการให้บริการของภาครัฐ หวังว่ารัฐบาลจะจัดลำดับความสำคัญของเรื่องเหล่านี้เพื่อทำบางเรื่องให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งปลายปี

ในสายตาธุรกิจ ความท้าทายด้านนโยบายตอนนี้ อาจไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อปลดล็อค และสร้างฐานความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว

นักธุรกิจต่างประเทศก็มีความเห็นคล้ายกันคือ ไม่ได้ห่วงเรื่องการเมืองในประเทศ จากที่จะมีการเลือกตั้ง เพราะการเมืองหลังการเลือกตั้งไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด ก็จะเป็นรูปแบบของการเมืองที่ประเทศไทยเคยมีมาก่อน ที่คุ้นเคย และจะสามารถปรับตัวได้

แต่ที่อยากรู้ก็คือ จะมีการให้ความสำคัญ (priority) กับการปฏิรูปหรือมาตรการที่จะแก้ไขปัญหาโครงสร้างที่ประเทศไทยมีอยู่หรือไม่ที่ยังเป็นจุดอ่อนของประเทศขณะนี้ เช่น เรื่องความสามารถในการแข่งขัน ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเศรษฐกิจเพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าได้ฉับไวขึ้น เทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค

เรื่องที่สองคือ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

ประเด็นที่นักธุรกิจอยากรู้ปีนี้ ไม่ใช่อัตราการขยายตัว เพราะปีนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะไปได้ดีจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังเป็นขาขึ้น ที่จะดีต่อการส่งออก และการท่องเที่ยว รวมถึงประโยชน์จากการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในปีเลือกตั้ง

แต่ที่อยากรู้มากก็คือ เรื่องความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทั้งแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ การแข็งค่าของค่าเงินบาท โอกาสที่เศรษฐกิจจะประสบปัญหาฟองสบู่จากเงินทุนไหลเข้า และนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนมาก

ทั้งหมดคือโจทย์ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าการบริหารจัดการไม่ทันเหตุการณ์ ก็อาจสร้างปัญหาให้การขยายตัวของเศรษฐกิจหยุดชะงัก และบั่นทอนความสามารถของเศรษฐกิจที่จะเติบโตในปีต่อๆไป ซึ่งจะลดโอกาสทางเศรษฐกิจที่ประเทศมีขณะนี้

เรื่องที่สามก็คือ การปรับตัวของภาคธุรกิจต่อการเปลี่ยนแปลงหรือ disruption ที่กำลังกระทบรูปแบบการทำธุรกิจ (business model) ทั่วโลก และจะกระทบธุรกิจในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเปลี่ยนแปลงหรือ disruption เกิดจากการผุดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ และเปลี่ยนโฉมหน้าและวิธีการทำธุรกิจอย่างสิ้นเชิง ทำให้ผู้บริโภคมีพลังและอำนาจต่อรองมากกว่าที่ผ่านมา รวมถึงสร้างผู้เล่นรายใหม่ให้มาแข่งและบั่นทอนผู้เล่นรายเดิมที่ไม่ใช่คู่แข่งเดิม

ตัวอย่างเช่น ธุรกิจการเงินที่คู่แข่งที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของธนาคารพาณิชย์ในการให้บริการทางการเงิน จะไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นคู่แข่งดั้งเดิม แต่จะเป็นธุรกิจใหม่คือ ฟินเทค (fintech) ที่ให้บริการทางการเงินเหมือนธนาคารพาณิชย์ แต่ด้วยความรวดเร็ว ความคล่องตัวและต้นทุน ที่ดีกว่า รวมถึงให้ประสบการณ์ที่น่าประทับใจแก่ลูกค้าได้มากกว่า

ประเด็นที่นักธุรกิจห่วงก็คือ ความพร้อมของผู้บริโภคในการใช้เทคโนโลยีใหม่ในชีวิตประจำวันมีสูง เทียบกับบริษัทที่ผลิตสินค้าที่มักมีปัญหาในการปรับตัว เพราะยึดติดกับวิธีการทำงานแบบเดิม แนวคิดแบบเดิม รวมถึงต่อต้านการเปลี่ยนแปลง สร้างช่องว่างของการไม่ทำอะไรให้เกิดขึ้น ซึ่งอาจหมายถึงความเป็นความตายของธุรกิจ คำถามที่นักธุรกิจต้องการคำตอบก็คือ จะหาโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้อย่างไร จะสู้หรือถอย หรือพร้อมจับมือกับผู้เล่นรายใหม่ที่มีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เหนือกว่า เพื่อหาประโยชน์และต่อยอดธุรกิจให้เติบโตได้ต่อไป

เรื่องที่สี่ที่นักธุรกิจอยากรู้คือ เรื่องธรรมาภิบาลของประเทศ ทั้งในภาครัฐและเอกชน ว่าแนวโน้มจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร จะดีขึ้นหรือแย่ลง

ในส่วนของธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการในภาคเอกชน ปัจจุบันทั้งผู้ถือหุ้น และนักลงทุนต่างยอมรับ และให้ความสำคัญกับเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี ถือเป็นปัจจัยแข่งขันที่สำคัญของบริษัท

คำถามคือ แนวโน้มด้านนี้จะไปต่ออย่างไร มีประเด็นอะไรหรือไม่ที่บริษัทต้องปรับตัว ทั้งในแง่ กระบวนการทำงาน แนวปฏิบัติที่ดีของการกำกับดูแลกิจการ การเปิดเผยข้อมูล และประเด็นของคณะกรรมการ เพื่อให้การทำธุรกิจของบริษัทเป็นไปตามการคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อการเติบโตของธุรกิจที่ยั่งยืน

ส่วนธรรมาภิบาลภาครัฐ ก็มีประเด็นเรื่องเดิม เช่น ความโปร่งใส ประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้ง และปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ยังมีข่าวอยู่ คำถามคือ สถานการณ์ของปัญหาจะดีขึ้นหรือแย่ลงในช่วงต่อไป โดยเฉพาะเมื่อบริบทของการเมืองในประเทศเปลี่ยนกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็ต้องปรับตัวกับกฎหมายใหม่ๆที่จะมีผลบังคับใช้เพื่อยกระดับมาตรฐานธรรมาภิบาลของประเทศ เช่น พ... จัดซื้อจัดจ้าง และข้อกำหนดของป... ที่คาดหวังให้บริษัทเอกชนมีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้การทำธุรกิจของเอกชนต้องเปลี่ยนและบริษัทต้องปรับตัว​

คำถามเหล่านี้ล้วนสำคัญและต้องการคำตอบ และเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับกรรมการบริษัทในประเด็นเหล่านี้ สถาบันไอโอดีจะจัดการสัมมน "าแนวโน้มธุรกิจและเศรษฐกิจของปี 2560 ในหัวข้อ “ประเด็นร้อนที่กรรมการควรทราบ” เพื่อตอบคำถามโดยวิทยากรที่มีความรู้และใกล้ชิดกับเรื่องดังกล่าว เริ่มจาก

1.ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะพูดเรื่องนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน  2.ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ (สายงานวิจัย) บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) จะพูดเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย 3.คุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะพูดเรื่องการปรับตัวของภาคธุรกิจต่อการเปลี่ยนแปลงหรือ disruption 4. ดร.บัณฑิต นิจถาวร คือผมเอง ในฐานะกรรมการผู้อำนวยการสถาบันไอโอดี จะพูดเรื่องความท้าทายด้านการกำกับดูแลหรือธรรมาภิบาลในภาคเอกชน เน้นประเด็นสำคัญปีนี้ ที่ภาคธุรกิจควรตระหนักและเตรียมตัว และ5 ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย จะพูดถึงแนวโน้มปัญหาธรรมาภิบาลในภาครัฐ สะท้อนจากพัฒนาการของปัญหา และความคืบหน้าในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน โดยมีร้อยเอกนายแพทย์ยงยุทธ มัยลาภ ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคมโรงพยาบาลพญาไท และอดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินรายการ​

อยากเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจมาร่วมงาน ร่วมฟัง และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น งานจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 25 ม.ค.นี้ ที่โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพ ราชประสงค์ เวลา 11.00-15.00 น. อยากให้มากันเยอะๆและหวังว่าจะได้พบกันวันพฤหัสบดีนี้