ICO การระดมทุน-การลงทุนที่คนยุค 4.0 ต้องรู้

ICO การระดมทุน-การลงทุนที่คนยุค 4.0 ต้องรู้

ICO การระดมทุน-การลงทุนที่คนยุค 4.0 ต้องรู้

ICO (Initial Coin Offering) หรือการระดมทุนผ่านเสนอขายเหรียญดิจิตอลต่อสาธารณะชนครั้งแรก เป็นกระบวนการในการออกสกุลเงินดิจิตอล ที่เป็นจุดกำเนิดทำให้มีสกุลเงินดิจิตอลนับหมื่นสกุลทั่วโลกในวันนี้ ซึ่งหลักการก็คล้ายๆ กับการออก IPO ของบริษัทตอนเข้าตลาดหลักทรัพย์ แตกต่างกันตรงที่การขาย ICO ไม่ได้มีลักษณะเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์หรือหุ้นของบริษัทที่ออกแต่อย่างใด

ปัจจุบันการออก ICO ในประเทศไทยยังไม่ได้รับการกำกับดูแลหรือมีกฎระเบียบรองรับ กล่าวคือยังไม่ถูกกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติในวงการนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่นวัตกรรมต้องเกิดก่อนเสมอ และเมื่อมีการใช้นวัตกรรมนั้นๆ สักระยะจนเกิด “Best Practice” หรือแนวปฏิบัติที่ดีเกิดขึ้น กฎระเบียบและกฎหมายที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มากจึงจะเกิดขึ้นได้

ผู้ระดมทุน มักจะแจ้งผู้ลงทุนในรายละเอียดว่าเงินทุนที่ได้ จะถูกนำไปใช้ทำอะไรบ้าง เช่นสร้างระบบ จ้างพนักงาน ทำการตลาด เป็นต้น โดยระบุลงในเอกสารบรรยายโครงการที่เรียกว่า “White Paper” ซึ่งหากโครงการนั้น นักลงทุนเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จ มีการสร้างระบบ (Eco-System) ที่จะทำให้มีผู้ใช้เงินสกุลดังกล่าวเยอะ หรือผู้ระดมทุน สามารถให้ผลตอบแทนกับนักลงทุน ในรูปแบบต่างๆ เช่นเงินส่วนแบ่งจากกำไรของกิจการหรือดอกเบี้ยได้ในอัตราที่พึงพอใจ ก็จะทำให้เกิดความต้องการในการครอบครองเหรียญดังกล่าวมาก และมูลค่าของเหรียญก็จะสูงขึ้น ในทางกลับกัน หากผู้ระดมทุน ไม่สามารถทำให้โครงการประสบความสำเร็จตาม White Paper ได้ มูลค่าของเหรียญก็จะตกลง

ข้อดีที่เห็นได้ชัดของนวัตกรรม ICO ทั้งสำหรับฝั่งนักลงทุน และฝั่งผู้ระดมทุน คือ

1.นักลงทุนสามารถลงทุนได้ทั่วโลก ผู้ระดมทุนสามารถระดมทุนได้จากทั่วโลก

สำหรับคนทั่วไปการจะเปิดพอร์ทเพื่อซื้อหุ้นดีๆ ในต่างประเทศนั้นเป็นไปได้ยาก ขณะที่การลงทุนใน ICO หรือการเทรดเงินดิจิตอล ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดของโลก ก็สามารถเริ่มลงทุนได้ไม่ยาก เปิดบัญชีซื้อขายได้ ภายในไม่กี่นาที ในทางกลับกันผู้ระดมทุน ก็สามารถระดมทุนจากทั่วโลกได้พร้อมๆ กันโดยไม่มีข้อจำกัดด้านภูมิภาค

2.ราคาของเงินดิจิตอลถูกกำหนดโดย Demand-Supply อย่างแท้จริง

ราคาของเงินดิจิตอลแต่ละสกุลถูกกำหนดโดยผู้ซื้อและผู้ขายเหรียญโดยตรง แทบไม่มีตัวกลางหรือกฎคอยควบคุมราคา ซึ่งหากตลาดแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิตอล (Cryptocurrency Exchange หรือเรียกสั้นๆ ว่า Exchange) ตลาดใดออกกลไกที่เป็นการแทรกแทรงราคาจนไม่เป็นที่ยอมรับของนักลงทุน นักลงทุนก็สามารถย้ายไปเทรดที่ Exchange อื่นๆ ที่มีให้เลือกนับพันแห่งทั่วโลก การปั่นราคาจากนักลงทุนรายใหญ่ก็ทำได้ยาก

3.เทคโนโลยีมีความปลอดภัย รวดเร็ว และโปร่งใส

การออก ICO และการเทรดเงินสกุลดิจิตอลใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง การทำธุรกรรมรวดเร็ว ค่าธรรมเนียมต่ำ และที่สำคัญคือโปร่งใส เพราะทุกคนสามารถนำรหัสในการทำธุรกรรม (Transaction ID) ใดๆ ก็ตาม ไปสืบค้นในระบบได้ว่าธุรกรรมนั้นๆ มีมูลค่าเท่าไร เกิดเมื่อใด และเกิดขึ้นระหว่าง ID ของใคร โดยธุรกรรมที่เกิดขึ้นแล้วในระบบแล้วจะไม่สามารถลบหรือแก้ไขได้

ทั้งนี้ข้อดีจากการลงทุนใน ICO หรือสกุลเงินดิจิตอลที่สามารถทำได้ง่ายนั้น กลับเป็นข้อที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน เพราะการที่บัญชีเทรดเงินดิจิตอลสามารถทำได้ง่ายและเร็วกว่าการเปิดบัญชีเทรดหุ้นมาก ก็เพราะไม่มีการกลั่นกรองคุณสมบัติของผู้ประสงค์จะลงทุน ทั้งในด้านความพร้อมของสินทรัพย์ที่มี และความรู้พื้นฐานด้านการลงทุน หลายคนยังขาดความรู้ความเข้าใจว่าการลงทุนในสกุลเงินดิจิตอลถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง นักลงทุนจึงต้องประเมิณด้วยตนเองว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้เงินที่ลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงทุกชนิดต้องเป็น เงินเย็นที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เป็นระยะเวลานานโดยเฉลี่ย 1-3 ปีขึ้นไป หรือมีมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 3-5% ของรายได้ประจำของเรา เมื่อราคาขึ้นเราก็ขายทำกำไรส่วนหนึ่ง เมื่อราคาลงเราก็สามารถอดทนถือนานได้ ที่สำคัญคือต้องมีวินัยในการลงทุน ไม่โลภเกินตัว ถ้านักลงทุนทำได้อย่างนี้ ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดกำไรของตนเองแล้ว ยังส่งผลดีต่อตลาดการลงทุนโดยรวมอีกด้วย

ท่าทีของแต่ละประเทศในการออกนโยบายกำกับดูแล ซึ่งหลักๆ คือในส่วนของตัวผู้ระดมทุนเองที่ต้องได้รับพิจารณาความเป็นไปได้ของธุรกิจ และในส่วนของนักลงทุนที่ต้องลงทุนในปริมาณความเสี่ยงที่รับได้ รวมถึงมีการยืนยันตัวตนในรูปแบบต่างๆ เพื่อความปลอดภัยนั้น ส่วนมากแต่ละประเทศจะยังคงดูเชิงประเทศอื่นๆ อยู่ และค่อยๆ ออกกฎเกณฑ์ทีละขั้น เพราะหากประเทศใดออกกฎระเบียบที่ทำให้การระดมทุนและการลงทุนใน ICO มีความยากลำบากมากจนเกินไป นักลงทุนและผู้ระดมทุน ก็มีทางเลือกที่จะไประดมทุน-ลงทุนในประเทศอื่น และประเทศนั้นก็จะเสียโอกาสในทางเศรษฐกิจ

ล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแล ICO เพื่อให้เหมาะสมในทางปฏิบัติและเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศไทยยุค 4.0 นี้มากที่สุด และจะหมดเขตการแสดงความคิดเห็นในวันที่ 22 มกราคมนี้  หากท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไรสามารถส่งทาง website ของก.ล.ต. หรือเขียนมาคุยกับผมได้ทาง Inbox ของ www.facebook.com/drthuntee นะครับ