ก้าวสู่สังคมไร้เงินสดจากมาเลเซีย และสิงคโปร์สู่ไทย

ก้าวสู่สังคมไร้เงินสดจากมาเลเซีย และสิงคโปร์สู่ไทย

เมื่อเดือนก.ย.ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เชิญชวนประชาชน และภาคธุรกิจให้หันมาชำระเงินผ่านบัตรเดบิต และโทรศัพท์มากขึ้น

แล้วให้ใช้เงินสดให้น้อยลง เพื่อความสะดวกสบายและปลอดภัย

รัฐบาลเตรียมนำมาตรการ National e-Payment เน้นพัฒนาพื้นฐานระบบอิเล็กทรอนิกส์ การชำระเงินของไทย ส่งเสริมให้ประชาชนลดการใช้เงินสด และหันมาใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อก้าวสู่สังคมไร้เงินสดตามกระแสโลก ที่ปัจจุบันการใช้เงินสดเพื่อซื้อสินค้าและบริการลดลงมาก

เมื่อพิจารณาสัดส่วนการใช้เงินสดในประเทศใหญ่ๆ เช่น ในสหรัฐ พบว่าปี 2559 มีผู้บริโภคแค่ 11% ที่นิยมการใช้เงินสดอยู่ ในขณะที่ 75% นิยมจ่ายผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบอื่นๆ ส่วนในจีนพบว่าการใช้จ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือในปีที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 5.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้บริโภคที่เกิดในช่วงปี 2533-2542 เป็นกลุ่มคนที่ใช้จ่ายแบบไร้เงินสดมากที่สุด

สำหรับกระแสการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดในอาเซียน ปีนี้ทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียได้ประกาศที่จะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ ในส่วนการขับเคลื่อนไปสู่สังคมไร้เงินสดของสิงคโปร์เป็นมาตรการสำคัญเพื่อนำไปสู่ “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City) แต่การเป็นสังคมไร้เงินสดของสิงคโปร์กลับไม่ก้าวหน้านักหากเทียบกับจีน

ผลสำรวจเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่าคนสิงคโปร์ 90% ยังเลือกใช้เงินสดเป็นช่องทางในการชำระเงิน เนื่องจากการใช้จ่ายผ่านช่องทางอื่นนั้นมีการคิดค่าธรรมเนียม ในส่วนของร้านค้าต่างๆ มองว่าการใช้จ่ายด้วยเงินสดมีความรวดเร็วกว่า เพราะการไม่ใช้เงินสดต้องเสียเวลาตรวจสอบข้อมูลของผู้ซื้อและผู้ขาย

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวและก้าวสู่สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้เตรียมออก QR code เพื่อให้บริการตามจุดต่าง ๆ ราว 100,000 จุดภายในกลางปีนี้ และเตรียมพัฒนาระบบ PayNow บริการอำนวยความสะดวกในการโอนเงินระหว่างธนาคาร โดยการใช้เพียงเบอร์โทรศัพท์ หรือเลขระบุตัวตน โดยไม่ต้องใช้เลขบัญชีธนาคาร

ซึ่งระบบ QR code นี้จะได้รับการงดเว้นค่าธรรมเนียม 3 ปีแรกเพื่อจูงใจให้คนมาใช้บริการ นอกจากนี้ระบบ PayNow นั้นจะครอบคลุมการจ่ายเงินเดือน การเคลมเงินประกัน หรือการจ่ายค่าแท็กซี่ด้วย

สำหรับมาเลเซียในปีนี้รัฐบาลได้ประกาศขับเคลื่อนสังคมไร้เงินสดเช่นกัน โดยธนาคารกลางมาเลเซียกำลังเตรียมพัฒนาช่องทางการชำระเงินแบบ E- payment ให้มีความสะดวกมากขึ้น โดยริเริ่มจากผู้ประกอบการและประชาชนในเมืองไซเบอร์จายาที่อยู่ติดกับกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประชาชนในเมืองนี้จะทำธุรกรรมผ่านระบบ E - Wallet ที่เรียกกว่า TAY Pay ก่อนที่จะขยายไปยังเมืองอื่น ๆ

รัฐบาลมาเลเซียตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 3 ปี จะสามารถลดการทำธุรกรรมในรูปแบบของการใช้เงินสดให้เหลือเพียง 63% ของการทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมด แล้วเพิ่มการทำธุรกรรมการเงินในรูปแบบ E - payment มากขึ้น

โดยตั้งแต่ 1 ก.ค. 2561 ธนาคารต่างๆ ในมาเลเซียจะงดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมโอนเงินต่างธนาคารของประชาชน รวมถึงธุรกิจ SME ที่มีการโอนเงินในวงเงินต่ำกว่า 5,000 ริงกิต (40,000 บาท) เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนและธุรกิจขนาดย่อมปรับตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้น โดยเน้นพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพพร้อมกับการเข้าสู่สังคมดิจิตอลของภูมิภาค

การไม่ใช้เงินสดมีประโยชน์หรือข้อดีต่อผู้ใช้บริการคือสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัยหากมีมาตรการที่ดีพอ มีหลักฐานชัดเจนในการซื้อขาย ข้อดีในระดับประเทศคือทำให้รัฐบาลสามารถตรวจสอบการใช้เงินได้สะดวก ค่าใช้จ่ายจากการผลิตเงินลดลง มีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม รัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้น โดยเฉพาะภาษีร้านค้าออนไลน์

ทว่าสังคมไร้เงินสดก็ยังมีข้อควรระวังค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ ภาวะหนี้สินของประชาชนที่อาจใช้เงินโดยขาดการยั้งคิดมากขึ้น หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถรับรองความปลอดภัยในประเด็นนี้ได้ก็อาจทำให้ผู้ใช้บริการขาดความมั่นใจ

นอกจากนี้ปัญหาที่คนบางกลุ่มที่ต้องพึ่งเงินสดเป็นหลัก เช่น ผู้ใช้แรงงานที่ได้เงินรายวัน คนสูงอายุ หรือเด็กเล็กที่ยังไม่มีบัญชีธนาคาร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเหล่านี้จะไม่ได้มีความต้องการ หรือไม่มีทางที่จะเข้าสู่ระบบสังคมไร้เงินสด

ดังนั้น ประเทศที่ต้องการมุ่งสู่สังคมไร้เงินสดต้องระมัดระวังเรื่องหลักๆ คือความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือในการใช้บริการหากมีไม่มากพอจะไม่จูงใจให้คนลดการใช้เงินสด

สำหรับไทยก็เช่นกันแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ของรัฐบาลควรจะมีมาตรการอย่างรัดกุมและรอบคอบเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย นอกจากนั้นควรศึกษามาตรการจูงใจและการบริหารจัดการของประเทศอื่นๆ อย่างสิงคโปร์และมาเลเซียแล้วนำมาปรับใช้เพื่อนำพาประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบและมั่นคง

โดย... ชัชฎา กำลังแพทย์

ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการจับตาอาเซียน ฝ่าย 1 สกว.