แบงก์ชาติญี่ปุ่นกับ “Reversal Rate Theory”

แบงก์ชาติญี่ปุ่นกับ “Reversal Rate Theory”

สัปดาห์ที่แล้ว ในวงการเศรษฐกิจ มีข่าวถือว่าเป็น fake news อยู่ 2 ข่าว หนึ่ง คือ ข่าวการที่ธนาคารกลางจีนจะหยุดซื้อพันธบัตรสหรัฐ

ที่ออกมาในสื่อตะวันตกชื่อดัง แล้วทางการจีนก็ออกมาแก้ข่าวว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งไม่บ่อยที่จะเกิดเหตุเช่นนี้

สอง คือ ข่าวการลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาหนังสือพิมพ์วอล์สตรีท เจอร์นัล ก็ออกมาเขียนวิเคราะห์ว่าสื่อตะวันตกตีความเกินจริง

ผมขอเขียนถึงกรณีหลังว่า เหตุใด ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจช่วงนี้ จึงตกเป็นข่าวบ่อยมากว่าจะลดการกระตุ้นทางนโยบายการเงิน

ผมคิดว่าการที่นักวิเคราะห์ชั้นนำหลายท่านเริ่มสงสัยว่า ฮิเรอิโกะ คโรด ผู้ว่าบีโอเจเริ่มจะปันใจจากลูกศรแรกของอาเบะโนมิคส์ เนื่องจากเขาได้เอ่ยถึงคำว่า “Reversal Rate Theory”  ซึ่งหมายถึงอัตราดอกเบี้ยที่เมื่อต่ำกว่าจุดดังกล่าวจะทำให้การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปอีก เท่ากับเป็นการชะลอเศรษฐกิจมากกว่าที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายคุโรดะบอกว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังรองรับอัตราดอกเบี้ย ณ ระดับปัจจุบันได้โดยไม่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว

ผมขอขยายความถึงแนวคิด Reversal Rate Theory ว่าเป็นอย่างไร ถึงมีผลต่อภาพลักษณ์ของนายคุโรดะถึงเพียงนี้

คำนี้ เกิดจากนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของยุโรป ได้นิยามไว้ ภายใต้สมมติฐานที่ว่า สถาบันการเงินเป็นหน่วยงานที่จะสนองนโยบายของธนาคารกลาง ที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือการทำ QE ผ่านการซื้อหลักทรัพย์ อาทิ พันธบัตรระยะสั้น จากธนาคารพาณิชย์ เพื่อส่งเงินทุนต่อให้แบงก์พาณิชย์ไปทำธุรกิจต่อ

ตรงนี้จะไปลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไปในตัว จะทำให้มูลค่าปัจจุบันของสินทรัพย์ในแบงก์พาณิชย์มีมูลค่าสูงขึ้นจากส่วนคิดลด ซึ่งก็คืออัตราดอกเบี้ยดังกล่าวที่ลดลง โดยแบงก์หากำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างเงินกู้กับเงินฝาก แทนด้วยตัวแปร R

อย่างไรก็ดี Reversal Rate Theory บอกว่าแบงก์ก็มีต้นทุนทางธุรกิจในการรับเงินฝากในระยะสั้น เพื่อปล่อยกู้ในระยะยาว หรือที่ทางเทคนิคเรียกว่า Maturity Transformation ต้นทุนดังกล่าว แทนด้วยตัวแปร B

แบงก์พาณิชย์จะกำไรก็ต่อเมื่อ R มีค่าสูงกว่า B อยู่มาก ระดับหนึ่ง ซึ่งหากเป็นภาวะเศรษฐกิจโดยปกติ มักจะเป็นเช่นนั้น

ทว่าในยุคที่บาเซิล 3 กำลังนำมาใช้ ซึ่งมีกรอบของการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ที่สูงกว่าในอดีต ได้ทำให้ B มีค่าสูงขึ้นมาก รวมถึงการที่แบงก์พาณิชย์มีประเภทสินทรัพย์ ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่น้อยลง และสัมประสิทธิ์ในการส่งผ่านจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ดอกเบี้ยเงินฝาก ที่มีค่าสูงขึ้นหรือส่งผ่านได้ยากขึ้น ล้วนแต่ทำให้ B มีค่าสูงขึ้นเช่นกัน

ประจวบเหมาะกับที่ธนาคารกลางทำ QE ก็ทำให้ค่า R ลดลงกว่าในช่วงภาวะเศรษฐกิจโดยปกติเข้าไปอีก เนื่องจากทำให้เส้นโค้งอัตราดอกเบี้ยลดลงทั้งหมด ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง เลยทำให้ในหลายประเทศ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปมากๆ จะทำให้แบงก์ไม่อยากปล่อยกู้ เนื่องจาก B มากกว่า R

ตรงนี้ เมื่อนายคุโรดะเอ่ยแนวคิดนี้ออกมา เลยทำให้นักวิเคราะห์หลายท่าน เริ่มสงสัยว่า การที่บีโอเจทำ QE และดำรงอัตราดอกเบี้ยติดลบมาหลายปีมาแล้ว อาจจะทำให้นายคุโรดะ เริ่มจะลดการกระตุ้นลงได้ เพราะอยู่ๆ ก็เอ่ยถึงแนวคิดนี้ แม้จะบอกว่าที่ญี่ปุ่นยังไม่เข้าสู่จุดดังกล่าวก็ตามที

ตามสูตรของ Reversal Rate Theory ถึงกับแนะนำว่ายาประเภท QE นั้นชงกับยาประเภทอัตรากดอกเบี้ยติดลบเสียด้วยซ้ำ ตรงนี้ทำให้น่าคิดว่านายคุโรดะจะเอาอย่างไรต่อ

ทว่าต้องไม่ลืมว่านายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังไม่ได้แต่งตั้งนายคุโรดะเป็นผู้ว่าบีโอเจต่ออีกหนึ่งสมัยอย่างเป็นทางการ  ซึ่งจะหมดวาระลงในเดือนเม.ย.นี้ แม้จะกล่าวชื่นชมผลงานในอดีตก็ตาม ไว้รอสัปดาห์หน้า ดูว่าการประชุมคณะกรรมการบีโอเจจะมีบทสรุปในเรื่องนโยบายการเงินต่ออย่างไร นายคุโรดะจะปันใจให้ Reversal Rate Theory ไหม

ต้องไม่ลืมว่าล่าสุด มีสมาชิกใหม่ในบีโอเจที่เน้นการกระตุ้นนโยบายการเงินแบบสุดโต่งเข้ามาอีกรายด้วยครับ