โรค Alzheimer’s กับการออกกำลังกาย​

โรค Alzheimer’s กับการออกกำลังกาย​

เรามักจะล้อเล่นกันเล่นเกี่ยวกับการหลงลืมเมื่อเริ่มแก่ตัวลงและมักจะกล่าวถึงการเป็นโรค Alzheimer’s (Alzheimer’s Disease หรือ AD) ในทำนองขบขัน

แต่เมื่อศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านโดยละเอียดแล้วก็จะพบว่า ภาวะการหลงลืมนี้เป็นโรคที่น่ากลัวอย่างมาก เพราะ

1. เป็นโรคที่ค้นพบเมื่อ ค.ศ. 1906 แต่เวลาผ่านมาแล้วกว่า 110 ปี ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีวิธีรักษาได้ ซ้ำร้ายเมื่อวันที่ 6 ม.คที่ผ่านมา บริษัทยายักษ์ใหญ่คือ Pfizer ประกาศยุติการวิจัยและพัฒนายาเพื่อรักษา AD หลังจากที่ได้ลงทุนค้นคว้าหมดเงินไปเป็นจำนวนมาก พร้อมกับประกาศปลดนักวิจัย 300 คนที่สหรัฐ

ทั้งนี้ในปี 2012 บริษัทยาอีกบริษัทคือ Johnson and Johnson ก็ได้ประกาศยุติการลงทุนเพื่อพัฒนายารักษา AD ดังนั้น จึงเหลือบางบริษัทหลัก ๆ ได้แก่ Astra Zeneca Biogen และ Eli Lily ซึ่งยังมีแผนงานที่จะพัฒนายารักษา AD ต่อไป แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จน้อยมากจากการรายงานข่าวของ Wall Street Journal

2.AD จะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมากในอนาคตเพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ และเป็นที่ทราบกันดีว่าประชากรโลกนั้น กำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ซึ่ง AD นั้น ส่วนใหญ่ เริ่มเป็นโรคนี้กันตั้งแต่อายุ 65 ปี และพออายุ 80 ปี ขึ้นไปก็มีความเสี่ยงสูงถึง 1 ใน 3 ที่จะเป็น AD

ดังนั้น จึงได้มีการคาดการณ์กันว่าจำนวนผู้ป่วยเป็น AD ในสหรัฐจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว ในปี 2050 หรือ 32 ปี ข้างหน้า สำหรับประชากรโลกนั้น WHO ประเมินว่า มีคนเป็นโรคสมองเสื่อม(ซึ่งส่วนใหญ่เป็น AD) อยู่ทั้งหมด 47.5 ล้านคนและมีคนเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นปีละ 7.7 ล้านคน แต่มีใครรู้บ้างว่า 40% ของผู้ที่ต้องช่วยดูแลผู้ป่วยเป็น AD เสียชีวิตก่อน ผู้ป่วยเป็น AD เสียอีก เพราะภาระที่หนักและความเครียดของการดูแล บั่นทอนสุขภาพ

3.ปัจจุบันเรามีความรู้เกี่ยวกับ AD น้อยมาก (จึงยังไม่มีวิธีรักษาที่เป็นผล) ตัวอย่างเช่น บทวิเคราะห์ของ Harvard Medical School (ม.ค. 2017) เกี่ยวกับ AD กล่าวว่า “What Causes Alzheimer’s? We still aren’t sure”

โดยกล่าวต่อไปว่าสามารถระบุได้ว่าคนที่เป็น AD 1% นั้นเป็นเพราะมีหนึ่งในยีนส์ 3 ตัวที่พบแล้วว่าเป็นต้นเหตุของ AD แต่แล้วอีก 99% ไม่ทราบว่ามาจากสาเหตุอะไร แต่รู้ว่าคนที่เป็น AD นั้น จะมีเมือก/หินปูน หรือ amyloid-beta plaque ขึ้นมาเกาะตัวที่สมอง

ถ้ารักษาไม่ได้แล้วคำถามต่อไปคือ จะป้องกันไม่ให้เกิดกับตัวเราได้อย่างไร

ตรงนี้เท่าที่ผมหาข้อมูลพบว่า ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่เราจะเข้าใจกันว่าการป้องกัน Alzheimer’s นั้น น่าจะเกี่ยวโยงกับ 6 เรื่องดังนี้

1.การกระตุ้นสมองให้คิดและถูกท้าทาย

2.การมีเพื่อนและมีสังคมที่อบอุ่น

3.การดำเนินชีวิตที่หลีกเลี่ยงความเครียด

4.การกินอาหารที่ระมัดระวังและรักษาสุขภาพ

5.การนอนหลับอย่างเพียงพอและสมบูรณ์

6.การออกกำลังกาย

ทั้งนี้ได้มีการวิจัยเกี่ยวกับทั้ง 6 ประเด็น เพื่อหาข้อสรุปว่าประเด็นใดจะเป็นประโยชน์มากที่สุดในการป้องกัน หรือบรรเทา AD ซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนคงจะคิด (เหมือนผม) ว่า ผมได้เรียงลำดับความสำคัญ ก่อน-หลัง ใกล้เคียงความเป็นจริงแล้ว กล่าวคือ

1,2, และ 3 น่าจะเกี่ยวเนื่องโดยตรงที่สุดเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงของการเป็น AD แต่ปรากฏว่า Harvard สรุปว่า “we have some - but not enough-evidence that ……..life style choices help present Alzheimer’s” ตรงกันข้าม กลับบอกว่า “the most convincing evidence is that physical exercise (PE) helps prevent the development of Alzheimer’s or slow the progression in people who has symptoms”

ดังนั้น จึงแนะนำว่าควรจะออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอครั้งละ 30 นาที ประมาณ 3-4 ครั้งต่อ 1 สัปดาห์ หรือ 1.5-2.0 ชั่วโมงต่อ 1 สัปดาห์ โดยต้องเป็นการออกกำลังกายให้หัวใจเต้นเร็ว (aerobic exercise) เช่น การวิ่ง หรือ ปั่นจักรยาน ซึ่งแตกต่างจากการออกกำลังกาย เพื่อสร้างกล้ามหรือมวลกระดูก เช่น การยกน้ำหนัก

ทั้งนี้แนะนำว่าการออกกำลังกายแบบ aerobics นั้น ควรจะทำให้ได้ในระดับที่เรียกว่า moderately vigorous ซึ่งผมตีความว่า ควรจะออกกำลังกายให้หัวใจเต้นสัก 120-130 ครั้งต่อนาที ต่อเนื่อง 30-40 นาที ในแต่ละครั้ง แต่ทั้งนี้จะต้องปรึกษาแพทย์ของท่านผู้อ่านเพื่อยืนยันความเหมาะสมนะครับ อีกพฤติกรรมที่ช่วยป้องกัน AD คือ การนอนหลับให้เพียงพอครับ

ส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าการออกกำลังกายโดยการวิ่งนั้นมีประโยชน์อย่างมากต่อการออกกำลังกายสมอง และหากพิจารณาดูให้ดีก็จะเชื่อได้ว่าการวิ่งนั้น เป็นการบังคับให้สมองทำงานโดยรอบด้าน ทั้งขยับแขนและขาทั้ง 2 ข้างอย่างรวดเร็วกว่าปกติ และยังต้องสั่งให้ร่างกายรักษาความสมดุลขณะที่วิ่งพร้อมกับการเร่งการหายใจ ตลอดจนการมองไปข้างหน้า และคิดถึงทิศทางที่จะวิ่งอีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม มีบทวิเคราะห์ของญี่ปุ่นพบว่าอาการที่ผู้สูงอายุเดินอย่างเชื่องช้าประมาณ 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมักจะเป็นตัวบอกเหตุว่า ผู้สูงอายุคนนั้นกำลังจะมีปัญหาสมองเสื่อม

นอกจากนั้นจากประสบการณ์ส่วนตัว ก็พบบ่อยครั้งว่าระหว่างการวิ่ง จะทำให้สมองปลอดโปร่งมากขึ้น เดิมคิดอะไรไม่ออกก็มักจะคิดออก และหาคำตอบให้ตัวเองได้ระหว่างการวิ่งระยะยาว ๆ 5-6 กิโลเมตรขึ้นไป (แต่ตอนที่ร่างกายยังไม่ฟิตก็จะรู้สึกว่าเหนื่อยจนคิดอะไรไม่ออกในช่วง 3 กิโลเมตรแรก) ครับ