อุปสรรคขัดขวางนวัตกรรม

อุปสรรคขัดขวางนวัตกรรม

ตอนนี้ประเทศจีนกำลังบ้านวัตกรรมครับ ทุกบริษัททุกวงการต่างพูดเรื่องการสร้างนวัตกรรม

แต่เรื่องของนวัตกรรมนี่เป็นเรื่องพูดง่าย ยิ่งพูดยิ่งเท่ แต่ทำจริงยากเหลือเกินครับ

“นวัตกรรม” ในที่นี้ หมายถึง การยกระดับเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือการหาวิธีสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า สร้างสรรค์ตัวสินค้าให้ดีขึ้น

เมื่อไม่นานนี้ มีบทความเรื่องการสร้างนวัตกรรมของ ศ.โจวฉีเหริน อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของ ม.ปักกิ่ง ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เป่ยจิงรื่อเป้า

ท่านบอกว่า “นวัตกรรม” จริงๆ แล้ว เป็นเรื่องของทัศนคติและวิธีคิด มากกว่าเรื่องของความรู้ เพราะฉะนั้น หากต้องการสร้างนวัตกรรม ต้องส่งเสริมทัศนคติและวิธีคิดใหม่ สนับสนุนให้คนกล้าคิดต่าง คิดแปลก คิดประหลาด คิดแหวกแนว คิดนอกกรอบ ในทิศทางสร้างสรรค์

ท่านแบ่งวิธีคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็น 2 รูปแบบ รูปแบบแรก คือ จากล่างขึ้นบน เริ่มต้นจากการวิเคราะห์จุดอ่อนของสินค้าหรือกระบวนการผลิต ดูว่ายังมีอะไรที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ จากนั้นจึงทำการเสาะหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อนำมาปรับปรุงสินค้า หรือเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ที่น่าจะนำมาปรับใช้สร้างสรรค์เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงสินค้าได้

อีกรูปแบบ ก็คือ จากบนลงล่าง เริ่มต้นจากการสร้างความรู้พื้นฐาน แล้วจึงค่อยนำมาประยุกต์เป็นวิธีการผลิตใหม่หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ตัวอย่างเช่น การพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าของความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เริ่มต้นจากการสร้างองค์ความรู้ก่อน โดยตอนแรกสุดไม่มีใครคาดคิดว่าผลวิจัยจะนำไปใช้ทำอะไรได้

ชวนให้ผมคิดถึงความกังวลของนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของจีนหลายท่าน ที่เห็นว่า จีนเน้นวิจัยประยุกต์ แต่ขาดงานวิจัยพื้นฐาน จีนสามารถพัฒนาประยุกต์ใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วได้ แต่ยังขาดการวิจัยพื้นฐานที่สุดท้ายจะนำไปสู่การสร้างสรรค์เทคโนโลยี สินค้า หรือภาคอุตสาหกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

ในบทความ ศ.โจวฉีเหริน ได้สรุปอุปสรรคขัดขวางนวัตกรรมของจีนไว้ 5 ข้อ ได้แก่ อุปสรรคด้านวัฒนธรรม เงินทุน วิธีคิด ทัศนคติ และรูปแบบการจัดองค์กร

หนึ่ง วัฒนธรรม วัฒนธรรมจีนไม่สนับสนุนให้คนคิดสวนกระแส คิดต่าง แต่สนับสนุนให้คนคิดเหมือนกัน ยึดหลักร่วมกัน ดังนั้น จะทำอย่างไรจึงจะพัฒนาวัฒนธรรมการคิดสร้างสรรค์ และให้คุณค่ากับความคิดใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ แม้อาจฉีกขนบเดิม

สอง เงินทุน บริษัทของจีนที่กำไรต่ำ มักไม่มีเงินที่จะลงทุนพัฒนานวัตกรรม ผลก็คือ ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ ยิ่งขาดเงินทุน ยิ่งไม่กล้าลงทุนเรื่องนวัตกรรม ผลคือมีแต่จะถอยหลังลงคลอง กำไรยิ่งจะลดลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายติดอยู่แต่ในทะเลแดง (Red Ocean) คือสนามที่มีคู่แข่งหนาแน่นตามภาษาธุรกิจ

สาม วิธีคิด สมัยก่อนคนจีนใช้วิธี “เลียนรู้” เป็นหลัก คือ ศึกษาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจากต่างชาติ อาศัยประโยชน์จากช่องว่างทางเทคโนโลยีที่ห่างกันมาก จนสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว แต่ตอนนี้เริ่มใช้ไม่ได้แล้ว เพราะในหลายภาคอุตสาหกรรม บริษัทพัฒนาจนมีเทคโนโลยีทัดเทียมกับต่างชาติ จึงต้องเริ่มศึกษาคิดค้นนวัตกรรมใหม่เอง ซึ่งต้องอาศัยงานวิจัยพื้นฐานมากขึ้น

แน่นอนว่า ในภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีช่องว่าง “เลียนรู้” จากต่างชาติได้อยู่ ก็ควรต้องศึกษาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจากต่างชาติ มายกระดับเทคโนโลยีของตนต่อไป ดังนั้น ยุทธศาสตร์การนำเข้าเทคโนโลยี จึงต้องพิจารณาระดับเทคโนโลยีของแต่ละภาคอุตสาหกรรมและประเภทสินค้า

สี่ ทัศนคติ ต้องมีความมั่นใจว่าจีนเองก็สามารถบุกเบิกนวัตกรรมใหม่ได้ ไม่ใช่ว่าอาศัยการเรียนรู้และนำเข้าเทคโนโลยีจนชิน ศรัทธาและบูชาฝรั่ง จนไม่กล้าคิด ตั้งคำถาม แก้จุดอ่อน และปรับปรุงสินค้าด้วยตนเอง ยิ่งขาดความมั่นใจ ก็จะยิ่งติดกับดักความคิดเดิมๆ ไม่เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่

ตัวอย่างที่ดี คือ คนหนุ่มสาวฝรั่งในซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งเป็นแหล่งนวัตกรรมของสหรัฐฯ พวกเขาจะมีของเด็ดอย่างหนึ่งก็คือ ทัศนคติความมั่นใจ คือเชื่อมั่นว่า ยังสามารถหาวิธีใหม่ๆ มาตอบโจทย์ผู้บริโภคหรือเพิ่มมูลค่าสินค้าได้

ห้า รูปแบบการจัดองค์กร บริษัทที่มีขั้นตอนการบังคับบัญชามาก มักเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ยาก ดังนั้น ควรต้องมีทีมสร้างนวัตกรรมที่ทำงานได้คล่องตัว โดยต้องมีแรงงานทักษะสูง และมีวัฒนธรรมการทำงานที่ยืดหยุ่น

นอกจากบทความของ ศ.โจวฉีเหรินแล้ว ผมยังเพิ่งอ่านบทสัมภาษณ์ ศ.เหยาหยาง อาจารย์เศรษฐศาสตร์อีกท่านของ ม.ปักกิ่ง ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นว่า ภายหลังจากที่เปิดประเทศ จีนประสบความสำเร็จในการสะสมทุน ในปัจจุบัน จีนเริ่มเป็นประเทศที่มีทุนหนา ดังนั้น จึงสามารถทุ่มทุนทำวิจัยนวัตกรรมได้ แตกต่างจากในสมัยก่อน ซึ่งจีนยังขาดแคลนเงินทุน

ท่านเปรียบเทียบว่า ญี่ปุ่นมีนักวิทยาศาสตร์ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลรวม 17 คน ซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้ทำขึ้นในช่วง ค.ศ. 1970 – 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเริ่มมีทุนหนาและมีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกับจีนในปัจจุบัน ดังนั้น ท่านจึงมองว่า ช่วงเวลานับจากนี้ จีนกำลังจะเข้าสู่ยุคทองของการพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งการวิจัยพื้นฐาน

คำทำนายของท่านจะเป็นจริงหรือไม่ ส่วนหนึ่งคงอยู่ที่การจัดการกับอุปสรรคขัดขวางนวัตกรรมทั้งหลายดังที่กล่าวมา!