สร้างพื้นที่เรียนรู้ จุดประกายเด็กน้อย จุดพลังของชาติ ***

สร้างพื้นที่เรียนรู้ จุดประกายเด็กน้อย จุดพลังของชาติ ***

ถ้า “เด็กคืออนาคตของชาติ” คำถามก็คือ ช่วงที่ผ่านมา ผู้ใหญ่ได้ใส่ใจและส่งเสริมให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างถูกทิศทางหรือไม่?

ขณะที่ทุกวันนี้ทุกภาคส่วนกำลังตั้งหลักและหันกลับมาให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยเฉพาะเด็ก ในช่วงปฐมวัยหรืออนุบาลและวัยประถมศึกษา ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญสุดในชีวิต

“การพัฒนาพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษา” เป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 พ.ศ.2560 ที่ทุกภาคส่วนร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการพัฒนากลไก เครื่องมือ และพื้นที่สร้างสรรค์การเรียนรู้อย่างปลอดภัยและมีคุณภาพ นับเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่เยาวชนตัวน้อยๆ

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ รองประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ 1 ชี้ว่า มตินี้จะส่งเสริมให้เด็กไทยมีพื้นที่เรียนรู้อยู่ในทุกลมหายใจ และเกิด “ทักษะชีวิต”ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่สาธารณะหรือสวนสนุกเพียงอย่างเดียว แต่ทุกๆ แห่งสามารถเป็นพื้นที่เล่นได้ มุ่งให้ทุกภาคส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและแผนงานระดับชาติไปจนถึงระดับพื้นที่ 

รวมถึงมีข้อเสนอให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยของพื้นที่เล่นของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

ประเด็น “ความปลอดภัยและการบาดเจ็บในเด็ก” รวมถึง โรคติดต่อ ที่อาจเกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่เล่นของเด็ก เป็นหนึ่งปัญหาหนักใจของผู้ปกครอง จึงมอบให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ฯลฯ ร่วมกันจัดทำ ระบบการเฝ้าระวังความปลอดภัยทาง สุขภาวะ ทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศ 

"หัวใจสำคัญ อยู่ที่การปรับทัศนคติของพ่อแม่ ครู และท้องถิ่นต่างๆ ให้เข้าใจถึงความสำคัญของพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะ ทางกาย จิต ปัญญา และสังคม เพื่อให้เกิดมองมุมใหม่ว่า พื้นที่เล่นไม่ใช่สนามเด็กเล่น แต่เป็นพื้นที่เล่นที่ทำได้ง่าย เสียค่าใช้จ่ายน้อย ปรับเปลี่ยนได้ตามบริบท บำรุงรักษาได้เองในชุมชน เฝ้าระวังได้ง่าย ที่สำคัญเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เล่นอย่างสร้างสรรค์

สร้างพื้นที่เรียนรู้ จุดประกายเด็กน้อย จุดพลังของชาติ ***

เมื่อทุกฝ่ายเห็นภาพตรงกันแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการหารือร่วมกันของเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั้ง 77 จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวาง “มาตรฐานกลาง” ของพื้นที่เล่นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เพื่อให้แต่ละชุมชนหรือจังหวัดนำไปปรับใช้ตามบริบทจริงๆ ซึ่งพื้นที่เล่นแต่ละแห่งอาจไม่จำเป็นต้องมีหน้าตาเหมือนกัน

“มาตรฐานกลาง ไม่ได้หมายถึงโครงสร้างที่กำหนดวัสดุตายตัว แต่มีทางเลือกของวัสดุที่หาได้จากท้องถิ่น อาทิ หากพื้นเป็นทรายก็ต้องมีความหนาไม่ต่ำกว่า 1 ฟุต ไม้ที่ใช้ประกอบต้องเป็นไม้ที่มีตาน้อย มีเนื้อไม้แข็งแรง เพื่อให้ทนแดดทนฝน เพราะต้องตั้งอยู่กลางแจ้ง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเหล็ก หรือเป็นพลาสติกเนื้อแข็งที่ต้องสั่งซื้อราคาแพงจากต่างประเทศเสมอไป”

ข้อสังเกตและความห่วงใยของ อาจารย์ชฎาพร สุขสิริวรรณนักวิจัยจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กโรงพยาบาลรามาธิบดี คือ การขับเคลื่อนเรื่องนี้ ไม่ควรเป็นเพียงการทุ่มงบประมาณสร้างสนามเด็กเล่น หรือซื้อเครื่องเล่นในพื้นที่ เพราะการเล่นของเด็กคือการเรียนรู้ แม้แต่ใบไม้ใบเดียวก็ทำให้เด็กเข้าใจเรื่องราวต่างๆ มากมาย ดังนั้น พื้นที่เล่นคือพื้นที่สร้างการเรียนรู้อย่างแท้จริง ทำให้เด็กมีวินัย รู้จักกฎกติกาอยู่ร่วมกับคนอื่น

“หากเล่นในบ้าน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องสละเวลาอยู่กับลูก เพื่อคอยเฝ้ามองและสอนให้เด็กเรียนรู้จากสิ่งนั้นๆ ในโรงเรียนต้องมีครูคอยดูแล ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ลำพัง ไม่เช่นนั้นการเรียนรู้ของเด็กอาจไม่เกิดขึ้น เพราะบางเรื่องผู้ใหญ่ต้องคอยช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ด้วย จึงจะได้ผล”

ความสุขของเด็กๆ คือช่วงเวลาสำคัญที่ผู้ใหญ่จะช่วยกันรังสรรค์ให้เกิดสิ่งดีๆ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 10 “การพัฒนาพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษา” เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยในการบรรลุถึงเป้าหมาย แต่สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนมตินี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่พื้นที่ๆ ทำอย่างเล่นๆ อีกต่อไป

*** ชื่อเต็มเรื่อง 

สร้างพื้นที่เรียนรู้... เล่นอย่างมีสุขภาวะ

จุดประกายเด็กน้อย สู่พลังของชาติ

โดย...

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ