ชาวบ้านลุ่มน้ำยมเสนอ 14 แนวทาง แก้ปัญหาน้ำท่วมแทนเขื่อนแก่งเ

ชาวบ้านลุ่มน้ำยมเสนอ 14 แนวทาง แก้ปัญหาน้ำท่วมแทนเขื่อนแก่งเ

ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ศึกษาความเหมาะสม

ในการจัดการน้ำขนาดเล็ก ซึ่งพัฒนามาจากแผนการจัดการน้ำ สะเอียบโมเดล โดยมีแม่ทัพภาค 3 และผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้ให้การสนับสนุน มีการประชุมพัฒนาแผนมา ทั้งในชุมชน จนถึงระดับลุ่มน้ำยม จนเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานราชการและเอกชนทุกหน่วยงานแล้ว จึงขอให้ท่านได้ผลักดันและดำเนินงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งตามแนวทางสะเอียบโมเดลที่ทุกฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันมา อันจะก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จึงให้หน่วยงานต่างๆ ยุติการดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ไม่ต้องมาสำรวจ ไม่ต้องมาศึกษาสร้างความกังวลใจให้กับชาวบ้านอีกต่อไป ตามที่ศูนย์ดำรงธรรมได้แจ้งว่ายุติโครงการแล้ว

การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ จะทำลายป่า 41,750 ไร่ การสร้างเขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) จ.แพร่ ซึ่งก็คือเขื่อนแก่งเสือเต้นแยกออกเป็น 2 เขื่อน ก็จะทำลายป่าไม่น้อยไปกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น เพียงแต่เว้นชุมชนสะเอียบไว้เท่านั้น การทำลายป่า 30,000 – 40,000 กว่าไร่นั้น จึงเป็นการทำลายชาติ ทำร้ายชุมชน ผลาญงบประมาณแผ่นดินโดยใช่เหตุ ทั้งที่มีทางเลือก มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยมอย่างน้อย 14 แนวทาง อาทิ การทำแก้มลิงโดยกรมทรัพยากรน้ำ 398 จุดก็สามารถกักเก็บน้ำได้ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นที่จุน้ำได้ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร และมากกว่าเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างถึง 2-3 เท่า อีกทั้งใช้งบประมาณเพียง 4,000 ล้านบาท น้อยกว่างบสร้างเขื่อน 3-4 เท่า โดยกรมทรัพยากรน้ำได้ศึกษาไว้แล้ว สามารถทำได้เลย

การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตามลำน้ำสาขา ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา กระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำยม จะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น 3-6 เท่า ใช้งบประมาณน้อยกว่า และกรมชลประทานศึกษาไว้แล้วถึง 26 แหล่ง ก็สามารถทำได้เลย โดยไม่ต้องทำ EIA. และ EHIA. เพราะมีผลกระทบน้อย เพียงแต่ทำประชาคมชุมชนก็สามารถดำเนินการได้

ดังนั้น คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จึงขอเสนอนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม 14 แนวทาง และผลักดันแผนการจัดการน้ำ สะเอียบโมเดล เพื่อแก้ไขปัญหา อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ประกอบด้วย

1.ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่า ให้ป่าซับน้ำไว้เป็นเขื่อนถาวรและยั้งยืน และทำหน้าที่เก็บคาร์บอลไดออกไซด์ ช่วยลดโลกร้อน อีกทั้งยังช่วยฟอกอากาศให้ออกซิเจนแก่คนไทยทั้งชาติ รวมทั้งมวลมนุษยชาติ อีกด้วย  2.รักษาและพัฒนาป่าชุมชน ทุกชุมชนควรมีป่าชุมชน ไว้ใช้สอย เก็บเห็ด ผัก หน่อไม้ สมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน รักษาป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด ห้ามมิให้พัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อป่าและสัตว์ป่า เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่ผ่าใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นต้น

3.ปลูกต้นไม้เพิ่ม สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และ ประเทศชาติ ทุกคน ทุกชุมชน ช่วยกันทำได้ ช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย ยุติการตัดถางป่าเพื่อปลูกต้นไม้สร้างภาพไปวันๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ควรปล่อยให้ป่าได้ฟื้นสภาพเอง ซึ่งจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่า 4.ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ให้ทั่วทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ สนับสนุนให้ทุกชุมชนได้พัฒนา ฟื้นฟูระบบการจัดการน้ำชุมชน ให้ องค์กรท้องถิ่นสนับสนุนการสร้างแผนการจัดการน้ำชุมชน ใช้สะเอียบโมเดลเป็นแผนการจัดการน้ำชุมชนต้นแบบ

5.เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา ของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า ซึ่งกรมชลประทานสำรวจพบแล้ว 26 จุด ซึ่งสามารพัฒนาได้เลยโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่   6.ทำแหล่งรับน้ำหลากไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง เก็บน้ำได้มากกว่า 1,500 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบเพียง 4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า

7.พัฒนาโครงการ หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม จะสามารถลดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฝนตกที่ไหนน้ำเข้าที่นั่น กระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำ ไม่ใช่รอให้ฝนตกเหนือเขื่อนเท่านั้น ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดธรรมชาติได้ 8.สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

9.พัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อตัวเองและเพื่อชุมชนอื่น ควรได้รับการสนับสนุน ชุมชนใดไม่มีศักยภาพในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควรให้การสนับสนุน เป็นชุมชนพี่น้องหนุนช่วยกัน 10.กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ

11.ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู  12.ส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า สนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่า ให้รักษาป่า รักษาต้นน้ำ รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม

13.บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า อากาศ แร่ ฯลฯ และมีบทลงโทษในการพัฒนาที่ผิดพลาด ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง รวมทั้งส่งเสริมมาตรการลงโทษทางสังคมต่อผู้ใช้อำนาจการตัดสินใจ ผู้วางแผนงาน การบริหารประเทศ การพัฒนาที่ผิดพลาด ไม่ให้มีโอกาสเข้ามามีอำนาจอีกเจ็ดชั่วโคตร และ 14.ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายลูก รองรับสิทธิชุมชน ให้สิทธิชุมชนในการ ปกป้อง รักษา และใช้ประโยชน์ในทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อากาศ แร่ ฯลฯ

โดย... 

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่