Airbnb Bitcoin Uber กับจักรวรรดินิยม

Airbnb Bitcoin Uber กับจักรวรรดินิยม

Airbnb Bitcoin Uber พวกนี้เป็นของเล่น/สินค้าจักรวรรดินิยม ที่ในแง่หนึ่งมีตัวตนจริง หาประโยชน์ได้

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็เป็นการผูกขาดตัดตอน เป็นภัยต่อประเทศกำลังพัฒนาจากการเอาเปรียบของจักรวรรดินิยมหรือไม่ ลองมาดูกัน

Bitcoin: เกมและการพนัน

เมื่อไม่นานมานี้ผมเขียนเรื่อง "บิทคอยน์  กับ จตุคาม-ตุ๊กตาลูกเทพ” (https://goo.gl/Kgtky6)  ผมชี้ให้เห็นว่า Bitcoin เป็นเงินเสียที่ไหนกัน เอาไปใช้ได้จริงสักแค่ไหน ที่คุยนักคุยหนาว่า ร้านนั้นร้านนี้รับซื้อสินค้า เช่น กาแฟสักถ้วยด้วย Bitcoin นั้น คุ้มค่าจริงหรือ รูดเงินหรือจ่ายเงินสดไม่สะดวกกว่าหรือ เวอร์เกินไปหรือเปล่า และคงเป็นทำนองตำนาน “จตุคาม” และ “ตุ๊กตาลูกเทพ” ที่เป็นกระแสเก็งกำไร ดูเท่ๆ แล้วก็จากไปพร้อมกับความเสียหายของคนที่งมงายลงทุน (ส่วนคนที่มีศรัทธาโดยบริสุทธิ์ใจก็อีกเรื่องหนึ่ง)

น่าแปลกที่คนพูดเรื่อง Bitcoin ได้เป็นตุเป็นตะ ทำเป็นเข้าใจกลไกการซื้อขายแลกเปลี่ยน ดูเท่ ดูทันสมัย ดูดีขึ้นมาทันที

ทั้งที่ในความเป็นจริง นี่คือสิ่งที่เป็นอากาศธาตุ เราต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานทางการเงินที่การซื้อขายจะมีราคาตลาด (Prices) ราคานั้นก็จะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง (Value) ของทรัพย์สินที่เราประเมิน ซึ่งอาจแตกต่างไปบ้างตามลักษณะเฉพาะของทรัพย์สิน โดยถือตามพฤติกรรมตลาด เป็นผู้กำหนดราคาตลาด

อย่างไรก็ตามในตลาดที่ไม่สมบูรณ์ (Imperfect Market) กลไกตลาดอาจถูกบิดเบือนไปได้ในบางขณะสั้น ๆ แต่ไมใช่ตลอดไป (http://bit.ly/1PsKAQa)

กรณี Bitcoin “จตุคาม” หรือ “ลูกเทพ” นั้นคงไม่มีมูลค่าในการแลกเปลี่ยน เราจึงเห็นปรากฏการณ์การทิ้ง “จตุคาม” และ “ลูกเทพ” กันเกลื่อนในภายหลัง

ประเด็นอยู่ที่ความโปร่งใส และ การคุ้มครองคนลงทุน การโอน และ แลกเปลี่ยน Bitcoin ข้ามชาติเป็นไปได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว (http://bbc.in/2Bb1Euf) แล้วอย่างนี้โปร่งใสที่ตรงไหน  ที่ว่า Bitcoin ได้รับการดูแลโดยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกนั้น ตอนนี้ระบบหลักๆ ก็มีอยู่ไม่กี่ค่าย กึ่งจะผูกขาดรอมร่ออยู่หรือเปล่า

การขึ้นลงของราคา การพังทลายของตลาดเป็นสิ่งที่เข้าใจไม่ได้ อย่างนี้มีความโปร่งใสน่าเชื่อถือได้อย่างไร จึงเป็นแค่เกมและการพนันที่อาศัยความโลภของคนมาขับเคลื่อน

Airbnb ทำผิดกฎหมายไหม

สิ่งเท่ๆ อีกอย่างคือ Airbnb ในฐานะ เครือข่ายโรงแรมที่มีที่พักหรือโรงแรมมากที่สุดถึง 2 ล้านห้องโดยไม่ได้สร้าง ไม่ได้มีโรงแรมเป็นของตนเองสักแห่ง แถมมีประวัติอันน่าทึ่ง-น่าเท่ คือ

“ย้อนไปเมื่อ ปี 2007 Brian Chesky และ Joe Gebbia ไม่มีเงินจ่ายค่าห้องพักตัวเองในเมือง San Francisco จึงเกิดไอเดีย ที่จะหาเงิน โดยการแบ่งห้องให้คนอื่นมาพัก พร้อมเลี้ยงมื้อเช้า ทั้งสองจึงได้เปิดเว็บไซต์ชื่อว่า airbedandbreakfast.com ปรากฏว่ามีคนเข้ามาพักจริงๆ 3 ราย ทำเงินได้ทันที $240 ทั้งคู่จึงคิดว่า ไอเดียที่ให้คนแบ่งที่พักตัวเองให้คนอื่น มันน่าจะไปได้นะ” (https://goo.gl/GBaE1N) และก็พัฒนามาจนถึงวันนี้ก็เกือบ 11 ปีแล้ว

เราเอาห้องชุดในอาคารชุดมาปล่อยเช่าได้อย่างไร ผิดกฎหมายชัดๆ

คนที่อยู่อาศัยร่วมกันในห้องชุด เขาหวังจะอยู่อย่างสงบสุข แต่นี่กลับเอาไปปล่อยเช่า โดยไม่รู้ใครเป็นใคร ที่ว่ามานี้ไม่ใช่การเข้าข้างพวกโรงแรมแต่อย่างไร แต่เป็นการยึดประโยชน์ของเจ้าของร่วมของห้องชุดมาพูดต่างหาก

แต่หากใครเอาบ้านหลังหนึ่งมาปล่อยเช่า ที่ไม่ได้อยู่ในหมู่บ้านจัดสรร ที่มีนิติบุคคลบ้านจัดสรรดูแล หรือใครจะเอาอพาร์ทเมนท์ที่ปกติให้เช่ารายเดือนมาปล่อยเป็นเช่ารายวัน อันนี้ทำได้ แต่ต้องมีระบบบริหารเช่นเดียวกับโรงแรม มีจดชื่อที่อยู่ของผู้เข้าพัก มีรายงานไปทางราชการเพื่อความมั่นคงของสังคม

ส่วนกรณี Airbnb จะปล่อยให้มาหาประโยชน์บนความทุกข์ยากและเสี่ยงของเพื่อนบ้านไม่ได้

Uber เพื่อผู้บริโภคจริงหรือ

เมื่อนึกถึงการให้บริการแท็กซี่ที่แสน “ห่วย” ในเมืองต่างๆ ก็เลยน่าจะสนับสนุน Uber อยู่เหมือนกัน

Uber ก็มีประวัติที่น่ารักน่าชังเหมือนกัน กล่าวคือ

“ในช่วงเย็นของวันหิมะตกในกรุงปารีสปี 2008 เทรวิส คาลานิคและการ์เร็ต แคมป์มีปัญหาในการเรียกรถแท็กซี่ ทั้งสองจึงเกิดไอเดียที่แสนจะเรียบง่ายต่อการเรียกรถได้เพียงแค่กดปุ่ม . . . สำหรับชายและหญิงที่ขับรถกับ Uber แอพของเราเป็นตัวแทนของวิธีการใหม่ที่ยืดหยุ่นในการสร้างรายได้ สำหรับเมืองต่างๆ เราช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจในท้องถิ่น . . . เพื่อประโยชน์ของทุกๆ คน” (https://goo.gl/E2wSAQ)

พวกแท็กซี่แสน “ห่วย” ก็เป็นการผูกขาดอย่างหนึ่งที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้ให้บริการ พอผูกขาดได้นี่ ก็ “เน่าใน” ไม่ปรับปรุงเท่าที่ควร และออกแนวผูกขาด คล้ายกับกิจการนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา ที่สมาคมนายหน้ากลับเป็นหน่วยงานติดหนึ่งในห้าที่บริจาคทางการเมือง เพื่อการล็อบบี้ทางการเมืองมากที่สุด เพราะต้องการรักษาผลประโยชน์ของนายหน้า

ท่านเชื่อหรือไม่ ค่านายหน้าในสหรัฐอเมริกา สูงถึง 5-7% ในขณะที่ในไทยเป็นเพียง 3% ในสิงคโปร์คิดแค่ 1% นี่คือการเอาเปรียบของพวกนักวิชาชีพ

Uber อาจมา “แก้ลำ” การผูกขาดเหล่านี้ แต่ต้องมีการควบคุมคุณภาพที่ดี โดยเฉลี่ยแล้วเชื่อว่าคนขับ Uber น่าเชื่อถือ

ผู้เขียนมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาประเมินค่าทรัพย์สินที่มีชื่อเสียงในระดับภูมิภาคอาเซียนนี้ บ้านอยู่นิวซีแลนด์ ตอนนี้เกษียณอายุแล้ว ว่างๆ ก็มาขับ Uber อย่างไรก็ตาม การลงทะเบียนที่สำคัญที่สุดก็คือการลงทะเบียนกับทางราชการ และการทำธุรกิจที่ไม่เอาเปรียบแท็กซี่อื่น ต้องดำเนินการตามมาตรฐานแท็กซี่ทั่วไปด้วย

เปิดโปงจักรวรรดินิยม

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การขยายตัวของทุน จาก “นิยาย” การเริ่มธุรกิจที่ดูเป็นดั่ง SMEs แต่เติบใหญ่จนกลายเป็นธุรกิจผูกขาดนั้น ทุนมาจากไหน

พวก Venture Capital ที่แห่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น Google Capital Horizon Ventures Y Combinator Sequoia Capital China Broadband Capital และอื่นๆ พวกนี้อยู่เบื้องหลังหรือไม่อย่างไร แม้แต่นาย Jack Ma ที่มีภาพพจน์ที่แต่งเรื่องขึ้นมาจากครูสอนภาษาอังกฤษ มาเป็นเศรษฐีใหญ่นั้น เบื้องหลังไม่ได้มีรัฐบาลของจักรวรรดินิยมจีนเชิดอยู่หรืออย่างไร

เราต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง จะปล่อยให้สินค้าจักรวรรดินิยมพวกนี้มาตีกิน มาผูกขาดด้วยการเริ่มต้นล่อด้วยการหยิบยื่นประโยชน์จากการเก็งกำไร หรือการให้บริการที่ดีกว่าแบบชั่วคราวไม่ได้

แน่นอนว่าเราต้องการสินค้าที่ดีในราคาที่ถูกและเป็นธรรมที่สุด แต่ก็ต้องเป็นไปตามกฏเกณฑ์ของตลาดที่ต้องคุ้มครองผู้บริโภคและปกป้องตลาดท้องถิ่นด้วย

แปลกที่ในหลายประเทศ พอเป็นสินค้าจักรวรรดินิยม เช่น Bitcoin มาเก็งกำไรกันเป็นบ้าเป็นหลัง แต่รัฐบาลกลับได้แค่เตือน ไม่ค่อยได้ตรวจจับหรือทำการใดให้ชัดเจน อย่าง Airbnb เปิด “โรงแรม” ในอาคารชุด ก็ไม่เห็นมีเจ้าหน้าที่มาตรวจจับ นิติบุคคลอาคารชุดต้องช่วยตัวเอง เช่น ใช้ระบบ scan นิ้วมือสำหรับเจ้าของร่วม ถ้าไม่ใช่ก็เข้าไม่ได้ เป็นต้น

แต่กับผับบาร์เปิดเกินเวลา เจ้าหน้าที่ชอบไปตรวจจับ ชอบไป “ดม” ฉี่ม่วงกันแทบทุกคืน หรือว่าจะได้ผลประโยชน์กันแน่ แต่กับการคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนกลับเฉยชา

อย่าปล่อยให้พวกจักรวรรดินิยม สมคบกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ที่เอาหูไปนาตาไปไร่ เอาเปรียบประชาชน