ข้าวโพด-ข้าวสาลี ปัญหาวัดฝีมือความเป็นธรรม

ข้าวโพด-ข้าวสาลี ปัญหาวัดฝีมือความเป็นธรรม

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มองแนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 2560 พบว่า เพิ่มขึ้น 4.54% เมื่อเทียบกับปี 2559

เนื่องจากดัชนีผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 7.40% ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ลดลงเล็กน้อย 2.67% 

เมื่อพิจารณาถึงรายได้เกษตรกรในแต่ละหมวดสินค้า พบว่า หมวดพืชผลเพิ่มขึ้น 6.96% ส่วนเกษตรกรในหมวดปศุสัตว์มีรายได้ลดลง 4.06% เนื่องจากผลผลิตสินค้าปศุสัตว์หลัก ทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาส่วนใหญ่อ่อนตัวลง  

อย่างไรก็ดี คาดว่าในปี 2561 ดัชนีรายได้เกษตรกรจะยังขยายตัวต่อเนื่อง

รายได้ของเกษตรกรส่วนที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากการขับเคลื่อนนโยบาย และมาตรการด้านการเกษตรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่มาตรการส่วนหนึ่งของรัฐบาลได้กลายเป็นภาระให้เกษตรกรภาคปศุสัตว์ต้องแบกรับไว้ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

ด้วยความที่ในช่วงปลายปี 2559 ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประสบปัญหาราคาตกต่ำ เนื่องจากการกระจุกตัวของผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ออกสู่ตลาดช่วงเดือนก.ย.- พ.ย. 

แต่เนื่องจากไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เพียง 4.5-4.6 ล้านตัน ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศที่มีอยู่ 8.1 ล้านตัน จึงจำเป็นต้องนำเข้าข้าวสาลี ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาใช้ทดแทน

กระทรวงพาณิชย์จึงกำหนดมาตรการให้โรงงานอาหารสัตว์จะนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนได้ ก็ต่อเมื่อรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน ในราคากิโลกรัมละ 8 บาท ณ โรงงาน ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เทียบกับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดโลก ซึ่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 6 บาท อันเป็นราคาที่ตกต่ำมากสุดในรอบหลายปี

ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ กลายเป็นช่องทางในการทำกำไรของพ่อค้าคนกลาง เนื่องจากเกษตรกรได้ขายผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้กับพ่อค้าไปหมด ตั้งแต่ผลผลิตออกแล้ว 

ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้นตั้งแต่ต้นฤดู ราคาล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ที่กิโลกรัมละ 9.50 บาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 12-13 บาท แต่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศที่สูงขึ้นนี้ ไม่ได้เป็นประโยชน์ที่ส่งถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แต่อย่างใด

สำหรับการนำเข้าข้าวสาลีเกรดอาหารสัตว์ในช่วงที่ผ่านมาจากสถิติการนำเข้าของกรมศุลกากร พบว่า โดยปกติจะมีการนำเข้าข้าวสาลีเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ในปี 2558 และ 2559 อยู่ที่ 3.45 ล้านตัน และ 3.54 ล้านตัน ตามลำดับส่วนในช่วง 10 เดือนแรก ปี 2560 มีการนำเข้ามารวม 1.27 ล้านตัน

การเก็งกำไรของพ่อค้าคนกลางจากตัวเลขผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ยังขาดแคลนอยู่ 2 ล้านตัน เมื่อคำนวนด้วยผลต่างของราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นมา 1.50 บาท นั่นหมายความว่าพ่อค้าคนกลางจะได้กำไรแน่นอน 3,000 ล้านบาท

อาหารสัตว์เป็นต้นทุน 60% ของการเลี้ยงสัตว์ การที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีราคาสูงขึ้น 20% ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นตามไปด้วย

รายงานจากสมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก ระบุว่า ปัจจุบันสุกรมีชีวิตมีราคาเฉลี่ยที่ 42-45 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น และสามารถขายเนื้อได้ 50% ส่วนที่เหลือเป็นการขายซาก ซึ่งผู้เลี้ยงสุกรต้องแบกภาระขาดทุนต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 3-4 เดือนแล้ว

ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ประสบปัญหาไม่แตกต่างกัน ผู้เลี้ยงได้รับความเดือดร้อนจากราคาไข่ไก่ที่ตกต่ำกว่าทุนต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งปรีชา สุขบุญพันธ์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน บอกว่า ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มในปีนี้ไม่เคยสูงกว่าต้นทุนที่ฟองละ 2.80 บาท  

ปัจจุบันมีราคาตกต่ำขายได้เพียงฟองละ 2.10 บาท ต้นทุนที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์มีราคาสูงต่อเนื่อง เพราะพ่อค้าขอขึ้นราคาทุกครั้ง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงในภาคปศุสัตว์ในประเทศเท่านั้น แต่ได้ขยายผลกระทบต่อภาคการส่งออกอย่างไก่เนื้อ ที่อนาคตดูไม่สดใสนัก 

คึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ระบุว่า วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น ซ้ำเติมทั้งต่อปศุสัตว์ในประเทศและการส่งออก โดยราคาต้นทุนไก่ในประเทศขณะนี้ 34 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 30-31บาทต่อกิโลกรัม 

ขณะที่วัตถุดิบอาหารสัตว์ในต่างประเทศได้ปรับตัวลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศในปีนี้เอื้ออำนวยต่อการผลิตทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี และถั่วเหลือง ส่งผลให้ผู้ส่งออกไม่สามารถเสนอราคาแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตรายอื่นๆ ได้ ทั้งบราซิล เวียดนาม และจีน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้คาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องถึงปี 2561

ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นนี้ นับเป็นการซ้ำเติมภาคปศุสัตว์ โดยเพราะภาคส่งออก ที่ปัจจุบันไทยมีคู่แข่งมากมาย และการแข่งขันในปีนี้มีแนวโน้มที่สูงขึ้น ทั้งในตลาดอเมริกาและยุโรป ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลีที่สำคัญของโลก

ห่วงโซ่ในภาคปศุสัตว์ล้วนได้รับผลกระทบจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เพื่อป้อนตลาดในประเทศ คงต้องลาจากอาชีพกันไปเพราะไม่สามารถแบกรับภาวะขาดทุนได้นาน ส่วนภาคส่งออกอาจประสบปัญหาจนไม่สามารถแข่งขันทั้งในอาเซียนและตลาดโลก

อย่าปล่อยให้เกิดการบิดเบือนข้อเท็จจริง และเปิดทางให้มีการฉวยโอกาสเก็งกำไร เพื่อประโยชน์ของคนเพียงกลุ่มเดียว แต่สร้างความเสียหายกับประเทศในวงกว้าง

ความหวังที่จะให้ปี 2561 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงสำหรับภาคปศุสัตว์ในทางที่ดีขึ้น จำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหันมาหารือร่วมกัน เพื่อทบทวนมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบ และความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

โดย...

สมเจตน์ ศรีมาตร