ปีใหม่ เปิดฉากใหม่ ความสัมพันธ์ไทย-อียู

ปีใหม่ เปิดฉากใหม่  ความสัมพันธ์ไทย-อียู

เมื่อปีปลายที่แล้ว (ธ.ค. 2650) ไทยได้รับข่าวดี เมื่ออียู โดยคณะมนตรียุโรป ได้ประกาศปลดล็อกทางการเมือง

เนื่องจากรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศโรดแมพที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งในเดือน พ.ย. ปี 2561 หลังจากอียูได้ระงับการดำเนินความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบเป็นทางการกับไทยมาเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่มีการรัฐประหาร (จริงๆ ความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ และในระดับอื่นๆ ก็ดำเนินไปเหมือนปกติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา)

ถือได้ว่าเป็นสัญญาณทางบวกทางการเมือง และเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับปีใหม่ 2561 สำหรับทั้งไทยและอียู ที่จะได้กลับมาเดินหน้า และพัฒนาศักยภาพของความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายอย่างเต็มที่ ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด 

อย่างไรก็ดี อียูเน้นว่า ยังจับตาไทยในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานอยู่

สำหรับอียูแล้ว การชะลอความสัมพันธ์กับไทยมาหลายปีไม่ใช่ว่าจะดี เพราะจริงๆ แล้ว ไทยมีความสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เพราะเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นจุดเชื่อมต่อสู่เอเชียแปซิฟิก ภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว และอียูกำลังจับตาเพื่อสร้างฐานอำนาจทั้งทางเศษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง ในยุคที่จีนและรัสเซียมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาค และสหรัฐ ก็ยังมีฐานอำนาจที่แข็งแกร่งกว่าในภูมิภาคนี้

 อียูจึงไม่สามารถละเลยบทบาทของไทยในภูมิภาคไปได้ แม้ในช่วงหลังๆ รู้สึกว่า อียูจะหันไปให้ความสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์ระดับทิวภาคีกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคมากขึ้นก็ตาม 

สำหรับไทย การเจรจาเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ ที่ต้องหยุดชะงักไปก็ส่งผลให้เสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และขีดความสามารถในการแข่งขันไปไม่ใช่น้อย เพราะอียูถือเป็นตลาดใหญ่ของประชาชนกว่า 500 ล้านคน ที่ภาคธุรกิจไทยต้องการค้าขายด้วย และเป็นตลาดหลักสำหรับไทยในการส่งออกสินค้าหลากหลายประเภท แข่งกับประเทศเพื่อนบ้าน และนักลงทุนยุโรปก็ทำธุรกิจอยู่ในไทยในหลายภาคอุตสาหกรรม

เปิดฉากปีใหม่ ประเด็นที่ไทยและอียูควรเร่งเดินหน้าในการดำเนินความสัมพันธ์ให้เป็นรูปธรรม ดิฉันมองว่าน่าจะเป็นประเด็นหลัก ดังนี้

  1. เร่งเดินหน้าการเจรจาเอฟทีเอ

ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา การระงับความสัมพันธ์ทางการเมืองระดับทางการของอียูต่อไทย ส่งผลให้การเจรจาเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ระหว่างไทยและอียู ที่ได้เริ่มเจรจาไปแล้วหลายรอบ ต้องหยุดชะงักลง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราในภูมิภาคอาเซียนได้เจรจาเอฟทีเอกับอียู สำเร็จ และก้าวหน้าไปแล้วหลายประเทศ อาทิ สิงค์โปร์ และเวียดนาม 

ต่การทำเอฟทีเอแบบทวิภาคีกับแต่ละประเทศในอาเซียน ก็คงไม่มีประโยชน์เท่าเอฟทีเอ ในระดับภูมิภาคกับอาเซียนทั้งภูมิภาค ซึ่งยังเป็นเป้าหมายหลักของอียู

การที่อียูต้องชะลอการเจรจาเอฟทีเอกับไทยมาหลายปี ทำให้อียูต้อง ตกขบวน ในการเดินหน้าความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ในประเทศไทย และทำให้เป้าหมายด้านเศรษฐกิจของอียูในภูมิภาคไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เพราะไทยเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในภูมิภาค 

ดังนั้น การปลอดล็อกทางการเมืองครั้งนี้ มองว่าเป็นสิ่งที่อียูรอคอยอยู่แล้ว เพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ประเด็นทางการเมืองและค่านิยมเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพขั้นพื้นฐาน ที่อียูให้ความสำคัญก็ไม่อาจละทิ้งไปได้

  1. ส่งเสริมการลงทุนระหว่างสองฝ่าย ทั้งนักลงทุนยุโรปมาไทย และนักลงทุนไทยไปยุโรปควบคู่ไปกับการเจรจาเอฟทีเอ 

ไทยควรปรับยุทธศาสตร์การดึงดูดนักลงทุนยุโรป เพราะในสายตายุโรปแล้ว ไทยน่าดึงดูดและมีความสำคัญในฐานะฐานการลงทุนและ hub สำหรับการดำเนินธุรกิจ ขยายตลาด เข้าไปหลงทุนในตลาดอาเซียน และจีน 

การลงทุนจากยุโรปในไทยควรเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งเป็นจุดแข็งของยุโรป รวมทั้งเทคโนโลยีสีเขียว เพื่อประโยชน์ในการส่งผ่านเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาศักยภาพอุตสหกรรมไทย และการสร้างงานในอุตสหกรรมที่มีผลประโยชน์ต่อประเทศไทยไปพร้อมๆ กัน

  1. ปลดล็อกใบเหลืองไอ ยู ยู

งานสำคัญระหว่างไทยและอียูในปีนี้ คือการเดินหน้าการปลดล๊อกใบเหลืองไอยูยู หรือการทำประมงแบบผิดกฏหมาย ที่ไทยและอียูเจรจากันมาหลายปีแล้ว ซึ่งไทยได้ดำเนินการคืบหน้าไปมากทั้งในด้านการกำหนดกรอบกฎหมาย การสร้างระบบการบริหารจัดการประมงใหม่ ก็เพื่อการรักษาทรัพยากรทางทะเล และการทำประมงอย่างยั่งยืน

ไทยอาจมีอีกข่าวดีในอีกไม่นานเกินรอ