'สวัสดีปีใหม่ : เมื่อปีนี้จะดีกว่าปีก่อน'

'สวัสดีปีใหม่ : เมื่อปีนี้จะดีกว่าปีก่อน'

วันนี้วันจันทร์ที่ 1 ม.ค. 2561 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ขอต้อนรับผู้อ่านทุกท่านสู่ปี 2561 ด้วยความยินดีและขออวยพรให้ทุกท่านมีความสุขในปีใหม่นี้

ขอให้ปี 2561 เป็นปีแห่งความสุข และความสำเร็จของทุกๆ คน ให้มีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีปัญญา และสติที่จะนำพาครอบครัวและประเทศชาติไปสู่ความสุขและความสำเร็จที่ปรารถนา 

พูดถึงปีใหม่ หลายท่านวันนี้คงอยู่ในช่วงหยุดพักผ่อน ผมเองก็เหมือนกัน ก็เลยอยากเขียนอะไรเบาๆ ให้เข้ากับบรรยากาศวันหยุด ให้เราได้พักผ่อนสบายๆ เพื่อเตรียมรับปี 2561 ที่มาถึง 

เท่าที่ดูข้อมูล ผู้อ่านน่าจะสบายใจได้ เพราะปี 2561 ดูแล้วน่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจหรือธุรกิจ และแม้แต่เรื่องการเมืองในประเทศ ผมเองไม่ใช่หมอดูแน่นอน แต่เท่าที่วิเคราะห์ คิดว่าปีนี้น่าเป็นปีที่โอกาสต่างๆ จะมีมากขึ้น เพียงแต่เราจะสามารถใช้โอกาสที่ดีเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร เพื่อให้ปี 2561 เป็นปีที่ดีขึ้นจริงๆสำหรับเราและทุกๆคน รวมถึงประเทศ 

เริ่มที่เศรษฐกิจโลก การประเมินจากองค์กรต่างๆ และตลาดการเงิน มีมุมมองคล้ายกันคือ ปีนี้ เศรษฐกิจโลกน่าจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากปีที่แล้ว 

ปีที่แล้วเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แพร่กระจายไปทุกจุดของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม รวมถึงยุโรป และประเทศตลาดเกิดใหม่ ถือเป็นการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นพร้อมกันในหลายพื้นที่ (synchronized) นำโดยการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ และ การบริโภค สนับสนุนโดยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น สร้างความรู้สึกหรือ sentiment ที่ดีให้กับนักลงทุน นำไปสู่การปรับตัวดีขึ้นของตลาดการเงิน 

ราคาสินทรัพย์ปรับสูงขึ้นเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะหุ้นอย่างที่เราเห็นกัน ถือว่าเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเข้มแข็งมากที่สุดในรอบ ปีคือ ขยายตัวร้อยละ 3.6 ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ต่ำ เป็นปีของการฟื้นตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจ

ปีนี้จึงจะเป็นภาพต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวต่อตามวัฏจักรเศรษฐกิจในอัตราที่อาจดีกว่าปีที่แล้ว จากปัจจัยใหม่ๆที่จะเข้ามาเสริม คือ ขยายตัวประมาณร้อยละ 3.7-3.8 สูงกว่าอัตราเฉลี่ยปกติที่ร้อยละ 3.5 ขับเคลื่อนโดยปัจจัยเดิมจากปีก่อนคือ การค้าระหว่างประเทศ กำลังซื้อของภาคครัวเรือน ทั้งในประเทศอุตสาหกรรม เช่น สหรัฐและยุโรป และในประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน อินเดีย และบราซิล และจากนโยบายการเงินและการคลังที่คาดว่าจะยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไป

กรณีสหรัฐ นโยบายการคลังน่าจะผ่อนคลายได้มากขึ้นอีกจากการปฏิรูปภาษีที่คงมุ่งเอาใจภาคธุรกิจตามนโยบายของฝ่ายการเมือง

แต่ที่จะเป็นปัจจัยใหม่ปีนี้คือ การลงทุนของภาคเอกชน ที่เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเข้มแข็งควรสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจนำเงินกำไรที่สะสมไว้กลับมาลงทุน โดยเฉพาะเพื่อหาประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้ปีนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกน่าจะเข้มแข็งกว่าปีที่ผ่านมา จากเครื่องยนต์เศรษฐกิจสี่เครื่องยนต์ คือ การค้าระหว่างประเทศ การใช้จ่ายของภาคครัวเรือน การลงทุนของภาคเอกชน และนโยบายของภาครัฐ ที่จะทำงานพร้อมกัน

ในแง่นโยบาย การฟื้นตัวจะมีผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว และปัจจัยสำคัญที่จะเปลี่ยนภาพอัตราเงินเฟ้อปีนี้เทียบกับปีที่แล้วคือ ราคาน้ำมัน ที่ปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากราคาปัจจุบันที่ 56 ดอลลาร์ คือ เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% 

การปรับสูงขึ้นของราคาน้ำมันจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพื่อลดทอนความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ นำโดยสหรัฐ และประเทศอุตสาหกรรมหลัก การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยคงค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว 

ในแง่การลงทุน อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้นจะทำให้การลงทุนปีนี้เริ่มปรับฐาน 

ปัจจัยสนับสนุนตลาดหุ้นที่มาจากสภาพคล่องจะถูกลดความสำคัญลง นักลงทุนจะหันมาให้ความสำคัญกับความสามารถของบริษัทในการหารายได้แทน ขณะเดียวกัน ตลาดพันธบัตรก็จะเป็นที่สนใจของนักลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะยาวของบริษัทที่มีพื้นฐานดี

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย 

ปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้นตามวัฏจักรเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกกลับมาขยายตัว พร้อมการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของแบงก์ชาติช่วยให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว แม้ระดับหนี้ครัวเรือนจะสูงและมีแรงกดดันต่อคุณภาพหนี้ของธุรกิจขนาดเล็กมากขึ้น

แต่สิ่งที่ขาดไปปีที่แล้วในสายตานักธุรกิจก็คือ การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่ได้ออกมามากและเร็วอย่างที่คิด กระทบความมั่นใจของภาคธุรกิจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนเรื่องทิศทางการเมืองก็กระทบการตัดสินใจของนักลงทุน เศรษฐกิจปีที่แล้วจึงดีขึ้นจากการส่งออก การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเป็นหลัก

แต่ปีนี้ เมื่อเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง อานิสงส์ดังกล่าวจะทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย จะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเช่นกัน สร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจในภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ โรงแรมและท่องเที่ยว 

ประเด็นนี้อธิบายว่าทำไมประโยชน์ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงไม่กระจายตัว แต่กระจุกตัวเฉพาะธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการส่งออกและท่องเที่ยว ผลคือการบริโภคครัวเรือน แม้ขยายตัว ก็ไม่เข้มแข็งอย่างที่อยากเห็น

ปีนี้ การเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนพ.ย. จะเป็นปัจจัยแตกต่างในแง่การบริโภคของภาคครัวเรือน เทียบกับปีที่แล้วคือ การเตรียมการเลือกตั้งโดยทั้งพรรคการเมือง และรัฐบาลจะทำให้มีเม็ดเงินลงไปพื้นที่ต่างๆ ได้มากกว่าปีที่แล้ว รวมถึงมาตรการลดความยากจนของรัฐบาลที่จะออกมาปีนี้ ที่จะสร้างกำลังซื้อชั่วคราว กระจายตัวในหมู่ภาคครัวเรือน และ กระตุ้นการใช้จ่าย

สำหรับการลงทุนภาครัฐ ปีนี้ก็คงจะมีการเร่งเป็นพิเศษเช่นกัน เพราะเป็นปีเลือกตั้ง ทำให้ปีนี้การใช้จ่ายในประเทศมีโอกาสที่จะขยายตัวได้มากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ที่ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อยก็คือ การลงทุนภาคเอกชน ที่ยังติดประเด็นเรื่องความไม่มั่นใจของภาคธุรกิจ ทำให้การลงทุนใหม่ประเภทเครื่องจักรหรือก่อสร้างจึงยังไม่เกิดขึ้นเป็นโมเมนตัม มีแต่การขยายกำลังการผลิตเล็กๆน้อยๆ ทำให้ปีนี้เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยคงจะเดินได้สามเครื่องจากสี่เครื่องที่มีอยู่

เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้นจะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศปรับสูงขึ้น แบงก์ชาติคงมีเวลามากที่สุดไม่เกิน เดือนที่ต้องเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น หลังจากที่ไม่ได้ทำอะไรมากว่าสองปี 

อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นก็จะเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศดิจิทัล จากเดิมที่เงินเหมือนไม่มีต้นทุนคือ อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก สภาพคล่องสูงมาก ไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงลงทุนในหุ้นและที่ดินก็สบายแล้ว มาเป็นเศรษฐกิจที่ต้นทุนการเงินจะเริ่มแพงเป็นปกติ สภาพคล่องจะมีน้อยลง ทำให้ธุรกิจต้องทำกำไรจากปัจจัยพื้นฐาน นักลงทุนเองก็ต้องเริ่มแยกแยะ ต้องใช้สติและสมอง ซึ่งทั้งหมดจะดีต่อการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจของประเทศ

คำถามที่ตามมาก็คือ ความเสี่ยงจะมีไหม

คำตอบคือ มีแน่นอน ส่วนหนึ่งจะมาจากการใช้ประโยชน์ของโอกาสจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ผิดพลาดคือ นักลงทุนเร่งการลงทุนในตลาดหุ้นต่อไป จากอัตราดอกเบี้ยไม่ยอมปรับขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น เพราะเป็นปีเลือกตั้ง ทำให้เงินดูเหมือนจะไม่มีต้นทุน มีการกู้เงินมาลงทุนและเก็งกำไรมากขึ้นๆ จนเกิดเป็นฟองสบู่ เกิดการปรับตัว 

นักลงทุนต่างประเทศถอนเงินลงทุน ตลาดตกหนักจนกระทบเศรษฐกิจ อีกความเสี่ยงคือ การเมืองที่ไม่ออกมาอย่างที่ทุกคนเข้าใจ เช่น ไม่มีการเลือกตั้งปลายปีหรือการเลือกตั้งถูกเลื่อน สร้างความไม่แน่นอน ทำให้ตลาดต้องปรับตัวมาก กระทบเศรษฐกิจ นี่คือสองประเด็นที่จะเป็นความเสี่ยงหลักปีหน้าคือ นโยบายไม่มาหรือการเมืองไม่มา สำหรับความเสี่ยงต่างประเทศ ตัวหลักคงเป็นเรื่องภูมิการเมือง (Geopolitics) เช่น กรณีเกาหลีเหนือ 

ดังนั้น ปีนี้คงเป็นปีของโอกาสที่จะมีตามวัฏจักรเศรษฐกิจที่เป็นขาขึ้น ภาพสามต่ำที่เราเห็นปีที่แล้วคือ อัตราดอกเบี้ยต่ำ ค่าแรงต่ำ เงินเฟ้อต่ำ จะค่อยๆหมดไป นำไปสู่ภาพของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจจะฟื้นตัวและมีโอกาสให้ฉกฉวยและหาประโยชน์ ภาพเศรษฐกิจปีหน้าจึงน่าจะเป็นข่าวดีสำหรับทุกๆ คน