เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เจาะเบื้องหลังสู่ทางป้องกันพฤติกรรมโกง

เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม  เจาะเบื้องหลังสู่ทางป้องกันพฤติกรรมโกง

รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2017 ตกเป็นของ Richard Thaler ซึ่งถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมรายที่ 2

ที่ได้รางวัลดังกล่าวถัดจาก Daniel Kahneman (2002)

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเริ่มเป็นที่สนใจในวงกว้างมากขึ้น ในฐานะเครื่องมือในการทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการออกแบบนโยบายที่สามารถนำไปบังคับใช้ได้ดีขึ้น

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจที่จะกระทำทุจริต โดยเลือกศึกษาความโปร่งใส (Transparency) และการตรวจสอบติดตาม (Monitoring)

ด้วยการวิจัยเชิงทดลองภาคสนามที่มีการควบคุม (Controlled Field Experiment) ซึ่งเป็นการทดลองภายใต้สถานการณ์จำลองที่กลุ่มตัวอย่างไม่ทราบว่ากำลังอยู่ในการทดลอง เพื่อให้ได้พฤติกรรมที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

ในสถานการณ์จำลอง กลุ่มตัวอย่างจะได้รับการโฆษณาให้มาทำงานหารายได้พิเศษ โดยการตรวจหาคำผิดในข้อสอบพิมพ์ดีดของโรงเรียนเลขานุการแห่งหนึ่ง ข้อสอบมีเนื้อหาภาษาไทยที่ไม่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางในการตรวจ สิ่งที่กลุ่มตัวอย่างต้องทำคือเปรียบเทียบข้อสอบพิมพ์ดีดกับใบเฉลยอย่างละเอียด วงกลมและรายงานจำนวนคำที่สะกดผิดในใบปะหน้า

ในการทดลอง กลุ่มตัวอย่างจะได้รับซองที่มีข้อสอบพิมพ์ดีด ใบเฉลย และเงิน 300 บาท แบ่งเป็นค่าตอบแทน 200 บาท และหากเจอคำผิดในข้อสอบจะได้เงินพิเศษเพิ่มคำละ 5 บาท ซึ่งหากเจอคำผิดเกิน 20 คำ จะถือว่าสอบตก สามารถหยุดตรวจแล้วเก็บเงินทั้งหมดในซอง 300 บาท (200+(20x5) และกลับบ้านได้ทันที 

แต่หากตรวจเจอคำผิดน้อยกว่านั้น ก็ต้องคืนเงินที่เหลือจากการตรวจลงซอง เช่น เจอคำผิด 10 คำ จะได้รับเงินพิเศษ 50 บาท และต้องคืนเงินในซอง 50 บาท

สิ่งที่กลุ่มตัวอย่างไม่ทราบ คือ ข้อสอบทุกฉบับมีคำผิดแค่ 10 คำ ดังนั้น หากกลุ่มตัวอย่างตรวจข้อสอบอย่างตรงไปตรงมา และรับค่าตอบแทนตามจริง ทุกคนจะต้องคืนเงิน 50 บาท

กลุ่มตัวอย่างคือ นิสิตนักศึกษาปริญญาตรีจากหลายมหาวิทยาลัย 425 คน แต่ละคนถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งมีระดับการตรวจสอบติดตาม และความโปร่งใสแตกต่างกัน ในสถานการณ์ความโปร่งใสสูง กลุ่มตัวอย่างจะได้รับการบอกว่าต้องนำซองไปคืนให้ผู้ว่าจ้างในอีกห้องหนึ่ง 

ส่วนในสถานการณ์ความโปร่งใสต่ำจะได้รับการบอกให้นำซองไปใส่ในกล่องบนโต๊ะนอกห้องเมื่อตรวจเสร็จ ในสถานการณ์การตรวจสอบติดตามสูง กลุ่มตัวอย่างจะได้รับการแจ้งว่าข้อสอบที่ตนตรวจมีโอกาสถูกตรวจซ้ำ 60% แต่สถานการณ์การตรวจสอบติดตามต่ำ โอกาสที่ถูกตรวจซ้ำคือ 10% ซึ่งพฤติกรรมในการตรวจ รับเงินและคืนเงินของกลุ่มตัวอย่างจะถูกกำหนดด้วยข้อมูลเหล่านี้

หลังการทดลอง ทีมนักวิจัยเชิญกลุ่มตัวอย่างมาชี้แจงเกี่ยวกับการวิจัย พูดคุยและให้ทำแบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ อายุ เพศ ประสบการณ์และมุมมองต่อการทุจริต

พฤติกรรมทุจริตในการทดลอง หมายถึง (1) การรายงานจำนวนคำผิดบนใบปะหน้าไม่ตรงกับจำนวนที่วงกลมในข้อสอบ หรือไม่ตรงกับจำนวนคำผิดจริง และใช้เวลาในการตรวจต่ำกว่าเกณฑ์ กล่าวคือ รีบตรวจเพื่อรับเงินโดยที่ไม่ตั้งใจทำงานให้เสร็จ หรือ (2) การหยิบค่าตอบแทนมากกว่าจำนวนเงินที่ควรจะได้รับ

จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 425 คน มีเพียง 16 คน ที่ไม่มีพฤติกรรมทุจริตตามนิยามของงานวิจัยนี้ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในสถานการณ์ที่มีการตรวจสอบติดตามและความโปร่งใสสูง มีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 44 คน รายงานว่าตรวจเจอคำผิดอยู่ที่ราว 11-16 คำ ขณะที่ 85 คน ใช้เวลาตรวจเร็วกว่าเวลามาตรฐาน และมี 17 คน ที่นำเงินไปมากกว่าจำนวนคำผิดที่รายงานไว้ในใบปะหน้าข้อสอบ

สรุปปัจจัยความโปร่งใสมีผลต่อการตัดสินใจที่จะทุจริต โดยพบความแตกต่างของพฤติกรรมกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในสถานการณ์ที่มีความโปร่งใสสูง (คืนซองกับผู้ว่าจ้าง) กับระดับความโปร่งใสต่ำ (คืนซองบนโต๊ะนอกห้อง)

ดังนั้น ความโปร่งใสจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการป้องกันการทุจริต เพราะเป็นขั้นแรกที่จะทำให้เกิดมาตรการอื่น เช่น ตรวจสอบติดตาม ลงโทษ กล่าวคือ ถ้าไม่ต้องเปิดเผยผลงานแต่แรกก็จะไม่มีทางตรวจสอบพบว่าทุจริต และไม่สามารถนำไปสู่การเอาผิดลงโทษได้

กลุ่มตัวอย่างตอบสนองไม่แตกต่างกันระหว่างการตรวจสอบติดตามระดับสูง กับระดับต่ำ และการตรวจสอบติดตามจะมีผลต่อพฤติกรรมก็ต่อเมื่อใช้ควบคู่กับความโปร่งใส ดังนั้น มาตรการในการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และหน่วยงานภาครัฐเปิดเผยผลการดำเนินงานต่อสาธารณชน อาจสามารถเสริมประสิทธิภาพของมาตรการตรวจสอบติดตามได้ดีกว่าการเพิ่มระดับความเข้มข้นของการตรวจสอบติดตามเอง

จากการวิเคราะห์แบบสอบถามพบว่า ประสบการณ์การเสนอหรือรับสินบนมีความสัมพันธ์กับความสามารถในการตรวจเจอคำผิดได้ตรงกับความเป็นจริงน้อยลง ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้เป็นการทุจริตคอร์รัปชันเล็กๆ น้อยๆ (petit corruption) ไม่ใช่การทุจริตขนาดใหญ่แบบการหักค่าหัวคิวโครงการระดับประเทศ แต่ก็มีผลในทางลบต่อพฤติกรรมของเยาวชน โดยการทำให้เกิดความเคยชินต่อการทุจริต ซึ่งอาจขยายไปสู่พฤติกรรมการทุจริตที่ร้ายแรงขึ้นเมื่อเติบโตขึ้น

ดังนั้น แผนการป้องกัน ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน จึงต้องมุ่งป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันเล็กๆ น้อยๆ ด้วย เพราะเป็นการทุจริตที่ใกล้ตัวเยาวชน สามารถพบเห็นได้ทั่วไป จนอาจเกิดการเคยชินและพัฒนาไปเป็นค่านิยมที่ว่าใครๆ ก็ทำกัน

 

โดย.... บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร