วิกฤติดิจิทัล

วิกฤติดิจิทัล

ปี 2560 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนั้นแม้หลายคนจะมองเห็นความผันผวนปรวนแปรที่เกิดขึ้นจนก่อให้เกิดวิกฤติการณ์มากมายในแวดวงธุรกิจ

 แต่ผมกลับเชื่อว่าจะเป็นปีที่ดีสำหรับธุรกิจในบ้านเรา เนื่องจากวิกฤติที่หลายคนพูดถึงกลับเต็มไปด้วยโอกาสจากการเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่เทคโนโลยีใหม่ ๆ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ตามมามากมาย

แต่ก็ต้องยอมรับว่าแม้จะมีโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้น แต่สำหรับหลาย ๆ องค์กรที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันท่วงที ก็จำเป็นต้องทยอยลดขนาดองค์กร ลดจำนวนพนักงานไปจนถึงปิดกิจการลงในที่สุดโดยไม่สามารถต้านทานอะไรได้เลย ที่สำคัญคือคำว่า “ประสบการณ์อันยาวนาน” ที่เราเคยใช้สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้ามาโดยตลอดนั้นไม่อาจใช้ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะความสำเร็จในอดีตนั้นไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันถึงความสำเร็จในอนาคตเลยแม้แต่น้อย

การสร้างสมดุลระหว่างวิกฤติที่เกิดขึ้น แต่ก็มีโอกาสแฝงอยู่จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของธุรกิจและผู้บริหารทุกคน เพราะไม่มีช่วงเวลาไหนอีกแล้วที่เอื้อให้เราได้ทำสิ่งใหม่ๆ โดยที่ตัวเราและคู่แข่งต่างก็ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบต่างกันมากนักเพราะต่างก็ต้องทำให้สิ่งใหม่ด้วยกันทั้งนั้นสำหรับแวดวงไอทีแม้จะต้องเจอกับภาวะตกต่ำจากยอดขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาหลายปี แต่สำหรับโซลูชั่นที่เสนอให้กับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่อย่างธนาคารและสถาบันการเงินนั้นกลับคึกคักอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะในอดีตการที่องค์กรขนาดใหญ่จะจัดซื้อระบบไอทีแต่ละครั้งนั้นต้องผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน คิดแล้วคิดอีกเพื่อให้มั่นใจว่าระบบดังกล่าวถูกต้อง เหมาะสม และมีความคุ้มค่ากับการใช้งานขององค์กรจริงๆ

แต่ในทุกวันนี้ เมื่อองค์กรขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจึงจำเป็นต้องมองหาเครื่องไม้เครื่องมือที่ดี และแปลกใหม่พอที่จะสร้างความสนใจให้กับลูกค้าได้ องค์กรขนาดใหญ่เหล่านั้นจึงเปิดกว้างเพื่อพิจารณาระบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา จากเดิมที่เคยต้องพยายามหาทางเจาะเข้าองค์กรขนาดใหญ่เหล่านี้เพื่อนำเสนอระบบใหม่ ๆ แต่ทุกวันนี้กลายเป็นว่าองค์กรเหล่านี้ต้องคอยถามคู่ค้าอยู่เสมอว่ามีอะไรใหม่ๆ ให้ได้เรียนรู้อีกไหม เพื่อหาทางนำเอาระบบใหม่ ๆ เหล่านี้ไปใช้เพื่อปรับองค์กรให้อยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ เช่นเดียวกับภาครัฐ ที่หน่วยงานราชการทุกแห่ง ต่างก็ถามว่ามีระบบอะไรที่นำมาใช้งานเพื่อปรับปรุงภาครัฐให้ทันสมัยขึ้นได้บ้าง จะมีแอพพลิเคชั่นอะไรที่ทำให้ตอบสนองนโยบาย 4.0 ของรัฐบาลได้บ้าง มีนโยบายไหนที่จะตอบสนองพฤติกรรมที่เป็นดิจิทัลของประชาชนคนรุ่นใหม่ได้บ้าง

เพราะนโยบายไทยแลนด์​ 4.0 ของรัฐบาลนี้ เข้ามากระตุ้นให้ภาครัฐตื่นตัวในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างที่ ไม่เคยเป็นมาก่อน เริ่มจากรัฐบาลที่ปรับเปลี่ยนกระทรวงไอซีทีเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพราะแนวโน้มใหม่นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเทศไทยแต่เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก ระบบนิเวศน์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปจึงไม่ได้ส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจและคนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังขยายวงไปสู่ภาครัฐที่ต้องยกเครื่องครั้งใหญ่เพื่อให้ทันกับประชาชนยุค 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกันจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว

ทุกวันนี้จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่เราจะเห็นข่าวของสาขาธนาคารรุ่นใหม่ที่ไร้พนักงานให้บริการเพราะใช้คอมพิวเตอร์อันทันสมัยบริหารจัดการได้ทั้งหมด เช่นเดียวกับร้านค้าปลีกต้นแบบอย่าง AmazonGo และ TaoCafe ของ Alibaba ที่ทดลองเปิดให้บริการในปีนี้ก็ไม่มีพนักงานให้บริการเช่นเดียวกัน แต่อาศัยคอมพิวเตอร์ระบบ ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อให้บริการลูกค้าแทน ดังนั้น การปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงเป็นโอกาสมหาศาลให้กับธุรกิจในทุกวันนี้ ขอเพียงเรามองเห็นและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ