พายุใหญ่ ไฟป่าและหมาหัวเน่า

พายุใหญ่ ไฟป่าและหมาหัวเน่า

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวใหญ่ ๆ กลบข่าวสำคัญเกี่ยวกับการพบกันของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสภาวะของโลก และอากาศ กว่า 25,000 คนเกือบหมด

การพบกันของบุคคลเหล่านั้นเกิดขึ้นปีละครั้ง ปีนี้เกิดขึ้นที่เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา สหรัฐ

ตามธรรมดา บนเวทีจะมีการนำข้อมูลและผลการวิจัยในหลากหลายหัวข้อมาเสนอ พร้อมกันนั้นจะมีการปรึกษาหารือกันว่าจะปรับเปลี่ยนนโยบาย หรือทำอะไรจึงจะส่งผลให้โลกปลอดภัยมากขึ้น 

สำหรับปีนี้ มีผลการวิจัยสองชิ้นของนักวิชาการในสหรัฐและยุโรป ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพราะทั้งสองชิ้นเกี่ยวกับพายุใหญ่ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในอ่าวเม็กซิโกเมื่อเดือนส.ค.  และก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงมากต่อรัฐเท็กซัส ด้วยเหตุนี้จึงมองกันว่าเป็นการวิจัยที่ได้ข้อสรุปเร็วมากและทันเหตุการณ์ 

การวิจัยทั้งสองยังวางอยู่บนฐานของข้อมูลจริงอีกด้วย ต่างกับการวิจัยในประเด็นเดียวกันที่ผ่าน ๆ ซึ่งมักวางอยู่บนฐานของการสร้างแบบจำลองทางทฤษฎี

การวิจัยดังกล่าวได้ข้อสรุปตรงกันแม้จะใช้วิธีต่างกัน และผลของการวิจัยในรูปของตัวเลขจะต่างกันบ้างก็ตาม นั่นคือ ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ ส่งผลให้พายุใหญ่ร้ายแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

หากโลกไม่ตกอยู่ในภาวะร้อนระอุ พายุจะไม่ทำให้ฝนตกหนัก และนานต่อเนื่องกันเช่นนั้น

ปัจจัยที่ทำให้ร้ายแรงมากได้แก่ ชั้นบรรยากาศที่ร้อนขึ้นสามารถดูดซับไอน้ำและอุ้มเมฆไว้ได้มากขึ้น

นักวิชาการมองกันว่าพายุลูกดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของสภาวะต่อเนื่อง 

เมื่อปีที่แล้วผิวโลกร้อนมากแบบที่ไม่เคยเกิดมาก่อน และปีนี้มีทั้งพายุร้ายแรงหลายลูก และไฟป่าที่สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนีย 

อากาศที่ร้อนระอุและความแห้งแล้งนานนับปีทำให้เกิดไฟป่าแบบไม่เคยมีมาก่อน 

ไฟป่าที่เกิดทางตอนเหนือของรัฐเมื่อสองเดือนก่อน เผาพื้นที่วอดไปราว 5 แสนไร่ บ้านไหม้ไปกว่า 2,800 หลังและคนตายไป 41 คน 

ไฟนั้นดับไปแล้ว แต่ทางตอนใต้ ไฟยังโหมอยู่ และยังประเมินไม่ได้ว่าจะสร้างความเสียหายอีกเท่าไร

ในการพบกันที่เมืองนิวออร์ลีนส์ครั้งนี้ ไม่มีรายงานว่ามีนักวิชาการออกมาโต้แย้งประเด็นพื้นฐานที่ว่าโลกร้อนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และพฤติกรรมของมนุษย์เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น 

เท่าที่ผ่านมา ทุกครั้งที่มีการพูดถึงประเด็นนี้ไม่ว่าจะบนเวทีใด จะมีนักวิชาการออกมาโต้แย้งเสมอ นักวิชการส่วนน้อยนี้มักจะมีภูมิหลังเกี่ยวเนื่องกับเรื่องการผลิตพลังงาน โดยเฉพาะจากถ่านหินและน้ำมันปิโตรเลียม จึงมักมีผู้สงสัยว่าพวกเขามิใช่นักวิชาการจริง หากเป็นผู้แอบแฝง หรือผีโม่แป้งของกิจการยักษ์ใหญ่ในด้านการผลิตพลังงาน ถ่านหินและน้ำมันปิโตรเลียม

 อย่างไรก็ดี มุมมองของบุคคลเหล่านี้มีอิทธิพลสูงต่อนโยบายของรัฐบาลอเมริกันนำโดยนายโดนัลด์ ทรัมป์

ณ วันนี้คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่านายทรัมป์มองว่า ปัญหาที่มาจากความเสียหายในระบบนิเวศ และภาวะโลกร้อนไม่ร้ายแรง เขาจึงยกเลิกกฎข้อบังคับจำนวนมากของรัฐบาลก่อน และได้นำสหรัฐออกจากข้อตกลงปารีส เกี่ยวกับการแก้ปัญหาโลกร้อน 

การกระทำเช่นนั้นทำให้เขาถูกมองว่าเป็นมหาเศรษฐีที่สนใจเฉพาะในผลประโยชน์ของพวกตน และกิจการยักษ์ใหญ่ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกิจการผลิตถ่านหิน 

ด้วยเหตุนี้ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในฐานะเจ้าภาพจึงไม่เชิญนายทรัมป์เข้าร่วมประชุมสุดยอดเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้นายทรัมป์ถูกวิจารณ์ว่าเป็นหมาหัวเน่าตามสำนวนไทย

นักวิเคราะห์ต่างแสดงความงุนงงว่าเพราะเหตุใดนายทรัมป์จึงยึดมั่นในการสนับสนุนถ่านหิน ทั้งที่การสนับสนุนของเขาไม่เกิดผล เพราะทั่วโลกยอมรับว่าถ่านหินเป็นพลังงานสกปรก โรงงานไฟฟ้าถ่านหินในสหรัฐยังปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง 12 แห่ง ที่ประกาศปิดตัว หลังเขาเข้าเป็นประธานาธิดีเมื่อต้นปีนี้ด้วย 

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ดูจะไม่เข้าใจนายทรัมป์ แต่นักวิชาการไทยที่สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินคงเข้าใจ เนื่องจากตกอยู่ในสภาวะหมาหัวเน่าเช่นกัน