จะปรับ พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมให้เวิร์ค…ต้องทำอย่างไร (4)

จะปรับ พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมให้เวิร์ค…ต้องทำอย่างไร (4)

บทความที่สี่ในชุดซีรีส์นี้จะขอเรียกว่าตอน “จะไปหา คชก. ได้จากไหน” คชก.ย่อมาจากคำว่า คณะกรรมการผู้ชำนาญการ

ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการพิจารณาและให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงานอีไอเอ ที่เจ้าของโครงการทั้งภาครัฐและเอกชนนำส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตรวจก่อนจะไปดำเนินการต่อ เช่น ไปขออนุญาตก่อสร้างโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือไปหาผู้รับจ้างสร้างเขื่อนในกรณีของกรมชลประทาน ฯลฯ

คชก.นี้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกสผ. มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ คนที่เก่งเรื่องโรงงานปิโตรเคมีคงจะไม่เก่งเรื่องนิเวศวิทยา คนที่เชี่ยวชาญด้านถนนไฮเวย์ หรือไฮสปีดเทรนอาจไม่เก่งเรื่องการระบายน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำท่วมถนนหรือทางรถไฟ 

คนที่ฉลาดเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลอาจไม่ชำนาญด้านภาวะมลพิษ ฯลฯ ดังนั้นองค์ประกอบของคชก.จึงมาจากบุคคลหลากหลายทั้งในทางวิชาชีพและวิชาการ ซึ่งเมื่อต้องการคนที่ทั้งเก่ง ทั้งมาจากหลากหลายสาขาวิชา ก็คงเกินขีดความสามารถและกำลังคนที่มีของสผ.ที่มีในปัจจุบันจึงต้องพึ่งพาคนจากภายนอกดังที่กล่าวมาแล้ว

นอกจากนี้ เนื่องจากโครงการที่นำรายงานอีไอเอมาเสนอ สผ. มีความแตกต่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับประเภทของโครงการ เช่น โครงการเขื่อนเพื่อการชลประทาน เขื่อนเอนกประสงค์ อุโมงค์ทะลุภูเขา เหมืองแร่ทองคำ ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน ศูนย์การค้า โรงพยาบาล เป็นต้น คชก.จึงจำเป็นต้องมีหลายชุด เพื่อให้สอดคล้องกับงานที่ต้องพิจารณา

คชก. มีภาระหน้าที่ที่ต้องเอารายงานอีไอเอไปศึกษา ทั้งในส่วนที่ตนมีความเชี่ยวชาญ และส่วนที่บูรณาการเป็นภาพรวม เมื่อศึกษาจนละเอียดแล้วสผ.ก็จะเรียกประชุม ในที่ประชุม คชก.แต่ละคนมีสิทธิ์ที่จะซักถามและให้ความเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะต่อรายงานอีไอเอที่ตนเองรับผิดชอบ หากมีสิ่งใดที่ยังไม่ครบ หรือไม่ชัดเจน หรือไม่สมบูรณ์ คชก.ก็จะแจ้งให้สผ.ไปแจ้งต่อไปยังเจ้าของโครงการ เพื่อนำรายงานไปเพิ่มเติมข้อมูลและปรับแก้ก่อนที่จะนำส่งมาให้ คชก.พิจารณาใหม่

ถ้า คชก.เห็นชอบเรื่องก็จบในส่วนที่ คชก.รับผิดชอบและ สผ.จะนำผลสรุปส่งต่อให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตหรืออนุมัติแก่เอกชนเจ้าของโครงการ หรือแจ้งหน่วยงานรัฐอื่นที่เป็นเจ้าของโครงการเพื่อไปดำเนินการต่อ

แต่ถ้าคชก.ไม่เห็นชอบและสั่งแก้ไข เจ้าของโครงการทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็ต้องนำไปแก้ไขปรับปรุง ตามข้อคิดข้อเสนอหรือข้อโต้แย้งของคชก. ทำเสร็จเมื่อไรก็นำมาส่งสผ. ให้คชก.พิจารณาอีกครั้ง วนเป็นวงจรเช่นนี้ไปตามลำดับ 

ทว่าถ้าเจ้าของโครงการหมดแรงหมดใจไม่ส่งรายงานมาให้พิจารณา เรื่องก็จบอยู่ตรงนั้น ตัวอย่างที่เด่นชัดและเป็นที่ฮือฮาพอสมควรคือโครงการเขื่อนแม่วงก์ที่กรมชลประทานประกาศถอนรายงานอีไอเอออกไปจากระบบการพิจารณาของสผ. เมื่อประมาณกลางปีพ.ศ.2560 นี้เอง

เรื่องแบบนี้แหละที่เป็นปัญหา กล่าวคือ วันดีคืนดีเจ้าของโครงการอาจเห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรมหรือถูกกลั่นแกล้ง เช่น มองว่าการมีดึงเรื่องให้ช้า หรืออาจมีประเด็นใหม่ๆมาให้เพิ่มเติมครั้งแล้วครั้งเล่า ฯลฯ จนคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเขาคือการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นั่นคือ การฟ้องร้องต่อศาล ซึ่ง สผ. นั้นแน่นอนที่ต้องเป็นจำเลย และคชก.เองซึ่งแม้จะเป็นบุคคลภายนอก มิได้มีเงินเดือนจากสผ. ก็คงหนีไม่พ้นที่จะเป็นจำเลยร่วม ส่วนใครจะเป็นจำเลยหลักจำเลยรอง นั่นขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของโครงการมองว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากใครเป็นหลัก ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น

แล้วคชก.ที่ไหนจะอยากมาแบกรับความรับผิดชอบที่มากมายขนาดนั้น

 สผ.เองในปัจจุบันก็เริ่มมีปัญหาหาคนเก่งๆหลากสาขามาอาสาเป็นคชก.ให้แล้ว และยิ่งนานวันต่อไปปัญหานี้จะยิ่งรุนแรงขึ้น จนอาจทำให้ระบบอีไอเอพังไปจากเมืองไทย ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นกระบวนการอีไอเอที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อรักษาดูแลสิ่งแวดล้อม แต่ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ธุรกิจและเศรษฐกิจเดินหน้าได้ ก็จะถึงการอับปาง และประเทศอาจจะถึงกาลอวสานในเชิงการพัฒนาทางเศรษฐกิจทีเดียว

คชก.สมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้วได้ ‘ค่าอ่าน’ เป็นเบี้ยประชุมครั้งละ 400 – 500 บาท ใช่แล้ว! ไม่ผิดหรอก สี่ร้อยห้าร้อยบาทจริงๆ ตัวประธานอาจได้มากกว่านั้นหน่อยในฐานะที่ต้องรับหน้ามากกว่ากรรมการคนอื่น แต่ก็น้อยนิดเมื่อเทียบกับความรับผิดชอบที่แบกอยู่บนบ่า 

ปัจจุบันเบี้ยประชุมได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น1,600 บาท และสผ.เองก็กำลังคิดว่าจะออกกฎระเบียบที่เป็นเสมือนการ‘จ้างอ่าน’ที่ได้ค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อขึ้น

แต่จะพยายามให้สมน้ำสมเนื้อเพียงใด ค่าตอบแทนฝ่ายบริษัทที่ปรึกษาผู้ทำรายงานฯ กับฝ่ายคชก. ก็ยังต่างกันอย่างเทียบกันไม่ได้ ในขณะที่คชก.ผู้เป็นผู้ตรวจและให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรายงานฯ ถูกมองว่าต้องเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญกว่าคนทำรายงานฯ เปรียบเสมือนคนทำรายงานเป็นนักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ และคชก. เป็นกรรมการผู้ตรวจวิทยานิพนธ์นั่นเอง 

เมื่อเก่งกว่า เชี่ยวชาญกว่า รอบรู้มากกว่า รวมทั้งอาวุโสกว่า ใยเขาจะต้องมารับภารกิจที่มองอย่างไรก็ไม่คุ้มนี้

นั่นสิ เขามาทำกันทำไม

คำตอบ (แม้จะใช้ไม่ได้กับคชก. ทุกคน) คือ 1) ทำเพราะเป็นหน้าที่ที่ตรงกับภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดและถูกมอบหมายมา 

2) ทำเพราะรู้สึกดี รู้สึกว่าได้ทดแทนคุณแผ่นดิน ซึ่งส่วนมากเข้าใจว่าเป็นกันด้วยเหตุผลนี้   3) ได้รับเป็นเกียรติส่วนตัว สามารถเอาลงประกอบเป็นเกียรติประวัติ ซึ่งยังประโยชน์ไปยังข้อ 4) คือ หากเป็นอาจารย์หรือข้าราชการก็สามารถเอาผลงานบริการสังคมหรือเกียรติประวัตินี้ไปประกอบเอกสารขอกำหนดตำแหน่งที่สูงขึ้น เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ขอเป็นรองศาสตราจารย์ หรือข้าราชการซี 8 ขอเป็นซี 9

แต่แม้จะเป็นพันธกิจหรือมีข้อดีดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ทว่าเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่ต้อง‘เห็นชอบ’หรือ‘ไม่เห็นชอบ’ รายงานอันอาจนำไปสู่การถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทางศาล ไม่ว่าจะถูกฟ้องโดยเอ็นจีโอหากเห็นชอบ หรือโดยเจ้าของโครงการกรณีไม่เห็นชอบ ก็คงไม่คุ้มต่อความเดือดร้อนที่มีต่อตนและที่มีต่อครอบครัว คชก.หลายคนจึงเริ่มจะถอดใจแล้วเมื่อสังคมไทยก้าวมาสู่ยุคแห่งการฟ้องร้องอย่างที่เห็นๆกันอยู่ทุกวันนี้

ณ ตรงนี้มีข้อสังเกต และต้องหมายเหตุไว้ตัวโตๆ ว่า คชก. เป็นผู้เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ และ สผ.ในฐานะเลขานุการคชก. จะเป็นเพียงผู้แจ้งผลนั้นๆต่อผู้ประกอบการหรือหน่วยงานเจ้าของโครงการ

ทั้งๆที่จริงแล้ว ตัวสผ.เองมีทั้งภาระและหน้าที่ รวมทั้งความรับผิดชอบ ทั้งทางหลักการและทางปฏิบัติการต่อการเห็นชอบเพื่ออนุมัติรายงานอีไอเอนั้นๆ

ทางออกในระยะยาวที่จะเป็นคำตอบที่ถาวรให้ระบบอีไอเอของบ้านเรา กล่าวคือให้คชก.เพียงให้ความเห็นโดยไม่ต้องให้ความเห็นชอบ ทำให้เหมือนอารยะประเทศ นั่นคือ ปลดแอกคชก.ออกจากความรับผิดชอบที่ไม่ใช่ของตัวเองตั้งแต่แรก และให้สผ.ทำหน้าที่ของตัวเอง เป็นผู้เห็นชอบและอนุมัติรายงานอีไอเอเองแบบภาคภูมิอย่างที่ควรทำมานานแล้ว โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ควรแก้ พรบ.สิ่งแวดล้อมฉบับที่กำลังมีการแก้ไขปรับปรุง ให้เป็นไปตามหลักการนี้

เมื่อถึงเมื่อนั้น คชก.ก็จะมีหลักประกันที่มั่นคงพอสมควร และสผ.จะไปหาคชก.มาจากไหนก็คงไม่ใช่ปัญหาที่ยากเย็นอีกต่อไป รวมทั้งระบบอีไอเอบ้านเราก็จะได้เดินหน้าต่อไปได้ ส่วนกระบวนการในการควบคุมคุณภาพการพิจารณารายงานอีไอเอ หรือการกำหนดความรับผิดชอบที่คชก.มีต่อการพิจารณารายงาน เป็นประเด็นที่ต้องมีการพิจารณากันต่อ ซึ่งสผ.เองกำลังดำเนินการปรับปรุงกระบวนการนี้อยู่เช่นกัน

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวทางวิชาการของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่สังกัด

 

โดย... 

ธงชัย พรรณสวัสดิ์

นักวิชาการอิสระ 

ผศ. ดร. จีมา ศรลัมพ์

ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์