จะปรับพรบ. สิ่งแวดล้อมให้เวิร์ค ต้องทำอย่างไร (๓)

จะปรับพรบ. สิ่งแวดล้อมให้เวิร์ค ต้องทำอย่างไร (๓)

ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ หรือปีพ.ศ. 2550 ได้มีมาตราหนึ่งที่พูดถึงโครงการขนาดใหญ่ที่อาจมีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพ

และได้กำหนดให้ต้องมีการให้ความเห็นที่สองหรือ second opinion เพื่อความรอบคอบ เมื่อโครงการนั้นอาจมีผลกระทบได้รุนแรงมากกว่าโครงการปกติ

เปรียบเสมือนเมื่อเราปวดหัวตัวร้อนเราก็เพียงไปหาหมอ รับยามากินที่บ้านก็เป็นอันเสร็จภารกิจทั้งเราและตัวหมอ แต่หากพ่อแม่เราเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ และเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจ จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดหัวใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่เสี่ยงกว่าการเจ็บป่วยแบบปวดหัวตัวร้อน เราจึงมักกังวลและไม่อยากเสี่ยงให้พ่อแม่เข้าห้องผ่าตัดโดยไม่จำเป็น เพราะ อาจจะ เป็นอันตรายถึงชีวิตและไม่ได้พ่อแม่คืนมา เราจึงมักไปปรึกษาหมออีกคนหรือแม้กระทั่งสองคน เพื่อขอความเห็นที่สองหรือที่สามเพื่อความมั่นใจ

โปรดสังเกตคำว่า อาจจะ และ ไม่ได้พ่อแม่คืนมา ซึ่งคำหลังนั้นเปรียบเทียบหมายถึงสิ่งแวดล้อมที่เมื่อเสียแล้วเสียเลย เพราะเอากลับคืนมาไม่ได้ อันเป็นภาวะการณ์ที่ทุกคนคงรับไม่ได้ 

ส่วนคำแรกหรือ‘อาจจะ’ นั้นมีคนตีความอยู่สองนัยยะคือ นัยยะแรกมีคนกลุ่มหนึ่งตีความว่า เมื่อมันแค่อาจจะ มันจึงอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ แล้วจะตีตนไปก่อนไข้ทำไม ส่วนอีกนัยยะหนึ่ง คนอีกกลุ่มหนึ่งตีความว่า เมื่อมันอาจจะนั้น แสดงว่า มันก็อาจจะเกิดขึ้นได้ แล้วจะเสี่ยงไปทำไม คนกลุ่มหลังนี้มักอิงภาษิตที่ว่า “ไม่เห็นโลง ไม่หลั่งน้ำตา” ในขณะที่คนกลุ่มแรกจะแย้งว่า “ก็เมื่อยังไม่เห็นโลง จะหลั่งน้ำตาไปทำไม” 

คงจะเป็นเรื่องเสียเวลาที่จะมาถกว่าใครผิดใครถูกในประเด็นถกเถียงนี้ เพราะมันขึ้นอยู่กับจุดยืน และความคิดของผู้นั้น

 ทว่าสิ่งที่เถียงไม่ได้และเป็นกระแสโลกปัจจุบันคือ การกำหนดให้ใช้หลักการที่เรียกว่า 2P หรือ Precaution Principle ซึ่งก็คือหลักการกันไว้ดีกว่าแก้ นั่นหมายความว่า สังคมโลกมีความโน้มเอียงไปทางกลุ่มหลังหรือกลุ่มที่ไม่ชอบเสี่ยงมากกว่ากลุ่มแรก

เมื่อเป็นเช่นนั้น รัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ที่ถือว่าทันสมัยในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ก็ได้กำหนดให้รัฐจัดตั้งองค์กรขึ้นมาองค์กรหนึ่งที่เป็นอิสระจากการครอบงำของภาครัฐและรัฐบาลเรียกว่า ‘กรรมการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ’ (หรือชื่ออื่นที่คล้ายๆ อย่างนี้) และเรียกกันย่อๆ ว่า ‘กอ.สส.’ 

กอ.สส.นี้มีหน้าที่ให้ความเห็น(ที่สอง)ต่อรายงานอีไอเอที่เมื่อรวมประเด็นสุขภาพเข้าไปด้วย จะเรียกใหม่ว่าเป็นรายงาน อีเอชไอเอ กล่าวคือมีเอช ( H ) หรือ Health เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

โครงการที่ต้องทำรายงานอีเอชไอเอ ซึ่งต้องศึกษาประเด็นสุขภาพต่อคนให้ลึกมากกว่าการทำรายงานอีไอเอปกติ เป็นโครงการที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเท่านั้น หากเป็นโครงการพัฒนาปกติ กติกาจะกำหนดให้เจ้าของโครงการทำเพียงรายงานอีไอเอ และไม่ต้องผ่านการให้ความเห็น(ที่สอง) ของกอ.สส. ซึ่งจะง่ายกว่าด้วยเหตุผลที่ว่าความเสี่ยงต่อความเสียหายมีน้อยกว่า

ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนด้วยว่า กอ.สส. มีหน้าที่เพียงให้ ความเห็น (ที่สอง) ต่อรายงานอีเอชไอเอที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.)ได้ให้ความเห็นชอบมาแล้วเท่านั้น กอ.สส.ไม่ได้มีพันธกรณีที่ต้องให้ความเห็นชอบกับรายงานฯ เพราะหากเป็นเช่นนั้นอาจจะยุ่งยากจนเป็นกรณีสับสนได้ หากมีกรรมการสองชุดให้ความเห็นชอบต่างกันเป็นคนละขั้ว 

กล่าวสรุปง่ายๆ คือ ยังคงเป็นหน้าที่ของหมอคนแรกที่จะทำการผ่าตัด ไม่ใช่ภารกิจของหมอคนที่สองที่เป็นเพียงผู้ให้ second opinion

พอมาถึงรัฐธรรมนูญปัจจุบัน จะด้วยเหตุผลหรือสาเหตุใดก็ตาม ปรากฏว่ากอ.สส.ได้หายไปจากรัฐธรรมนูญ แต่ ‘โครงการอาจรุนแรง’ ถึงอย่างไรก็ยังคงมีอยู่โดยธรรมชาติ เพราะสิ่งนี้เป็นสัจธรรมที่ไม่ขึ้นกับตัวบทในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดหรือเขียนไว้เช่นไร เช่น โครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สนามบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ ท่าเรือขนาดใหญ่ เหมืองแร่ขนาดใหญ่ ฯลฯ

เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็แน่นอนที่การมีความเห็นที่สองยังคงมีความจำเป็นอยู่ เพราะเรากำลังเอาพ่อแม่เราเข้าผ่าตัดหัวใจ ที่ทุกคนก็ทราบดีว่าแม้มีคุณประโยชน์มากแต่ก็มีความเสี่ยงสูง เข้าทำนอง High Return ก็ย่อมมี High Risk 

ดังนั้นจะทำอย่างไรในเมื่อกอ.สส.ไม่มีแล้วในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 นี้ ซึ่งกรณีนี้ได้รับการต่อต้านอย่างมากจากกลุ่มรักสิ่งแวดล้อม และเอ็นจีโอสายนี้ 

สิ่งที่ควรต้องทำคือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดที่กำลังพิจารณาร่างพรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ....... ที่ได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการของทั้งครม.และสนช.ไปแล้ว เมื่อเดือนพ.ย. 2560 ควรต้องกำหนดให้มีหน่วยงานขึ้นมาหน่วยหนึ่ง ให้ทำหน้าที่เฉพาะการให้ความเห็นที่สองต่อโครงการอาจรุนแรง ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงและขจัดการต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์ที่อาจลุกขึ้นมาประท้วงจนโครงการอาจเกิดขึ้นไม่ได้ ดังที่ได้ประจักษ์เห็นกันอยู่บ่อยๆ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่จะตั้งขึ้นมาใหม่นี้ สมมติให้ใช้ชื่อว่า หน่วยงานอิสระให้ความเห็นที่สอง (นอ.หส.) สนช.จะต้องกำหนดให้เป็นหน่วยงานที่อิสระจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) 

เหตุผลคือ สผ.เป็นผู้แต่งตั้งคชก.ผู้จะมาเป็นผู้พิจารณาและให้ความเห็นชอบรายงานอีไอเอและอีเอชไอเอ การที่จะเอานอ.หส.ไปอยู่ภายใต้การกำกับของสผ.อีกหน่วยหนึ่ง ก็จะเกิดการลักลั่นและการขัดแย้งของผลประโยชน์หรือ Conflict of Interest ได้

เราจะขอลองเสนอความคิดการจัดตั้งนอ.หส. ว่าควรอยู่ภายใต้หน่วยงานรัฐใด เรียงลำดับดังนี้ 

1) เป็นหน่วยงานกึ่งถาวรอยู่ภายใต้สป. หรือสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม(สส.) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช(อช.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) และ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ฯลฯ ได้อย่างบูรณาการ 

2) เป็นหน่วยงานเฉพาะกิจที่แต่งตั้งขึ้นโดยสป.ทส. ตามภารกิจที่สอดคล้องกับลักษณะโครงการและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น โครงการสนามบินจะมีส่วนที่มาจาก คพ. เป็นหลัก โครงการท่าเรือน้ำลึกจะมีส่วนที่มาจากทช. เป็นหลัก โครงการถนนหลวงตัดผ่านป่าอนุรักษ์จะมีส่วนที่มาจากอช.เป็นหลัก ดังนี้เป็นต้น

ถ้าปรับแก้พรบ.สิ่งแวดล้อมให้ตอบโจทย์เช่นนี้ได้ กระบวนการตรวจพิจารณารายงานอีเอชไอเอก็จะเดินหน้าได้อย่างที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น และการพัฒนาประเทศก็จะได้เดินหน้าได้สมกับความต้องการของทั้งฝ่ายเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ซึ่งนั่นย่อมเป็นความคาดหวังและเป้าประสงค์ของคนไทยทุกคน

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวทางวิชาการของผู้เขียน โดยไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่สังกัด

 

โดย... 

อรอนงค์ ลาภปริสุทธิ

ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย