การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไทย ไปที่ไหน ไปเพื่ออะไร

การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไทย ไปที่ไหน ไปเพื่ออะไร

หากเปิดหน้า นสพ. หรือท่องอินเทอร์เน็ตในทุกวันนี้ เราจะพบเจอข่าวบริษัทของคนไทยออกไป ลงทุนโดยตรงในตปท.หรือThai Direct Investment(TDI) อยู่เสมอ

หากพิจารณาบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทย พบว่าจำนวนบริษัทที่มี TDI เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าภายใน 4 ปี จาก 92 บริษัทในปี 2012 เป็น 198 บริษัทในปี 2016 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 71 ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 

ในระยะหลังเริ่มเห็นแนวโน้มบริษัทขนาดใหญ่ของไทยออกไปลงทุน TDI ด้วยวิธีซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ

คุณผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าในบางปีที่ผ่านมา TDI ต่อปีมีมูลค่าสูงกว่าการลงทุนโดยตรงของต่างชาติในไทย หรือ Foreign Direct Investment (FDI) ต่อปีแล้ว ถึงแม้ยอดคงค้างการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศสุทธิของไทย (net TDI stock ซึ่งคำนวณจาก TDI stock หักด้วย FDI stock) จะยังติดลบอยู่จาก FDI stock ที่ยังสูงกว่า TDI stock มาก 

แต่เราสังเกตเห็นว่า net TDI stock เริ่มมีทิศทางสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2015 ซึ่งเป็นพัฒนาการที่สอดคล้องกับประสบการณ์ของประเทศอื่น คือ เมื่อเศรษฐกิจเจริญเติบโตขึ้นและ FDI สูงถึงระดับหนึ่งแล้ว บริษัทในประเทศจะทยอยออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น จนในบางประเทศ ยอดคงค้างของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศสูงกว่า FDI ที่สะสมในประเทศแล้ว เช่น เกาหลี มาเลเซีย

ปัจจัยหนุนใน-นอก

เมื่อถามว่าบริษัทไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศเพราะอะไร จากงานวิจัยที่ผ่านมาและการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ สรุปได้ว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้ TDI ขยายตัวอย่างชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีทั้ง ปัจจัยภายใน คือ ตลาดภายในประเทศที่เริ่มอิ่มตัว ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอลง การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้นิติบุคคลไทยออกไป TDI ได้เสรีตั้งแต่ปี 2010  และให้นักลงทุนทุกประเภทรวมถึงบุคคลธรรมดาออกไป TDI ได้เสรีตั้งแต่ปี 2013  

ส่วน ปัจจัยภายนอก คือ วิกฤติการเงินโลก ที่ทำให้บริษัทต่างชาติหลายแห่งต้องการขายกิจการหรือหาพันธมิตรเพิ่ม อีกทั้งกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะ CLMV มีเศรษฐกิจขยายตัวสูงและมีโอกาสทางธุรกิจ บริษัทไทยจึงใช้โอกาสนี้ออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ 

ข้อมูลรายบริษัทเข้าใจTDI

เพื่อทำความเข้าใจวัตถุประสงค์และลักษณะของ TDI ให้ลึกซึ้งมากขึ้น คณะผู้เขียนจึงนำข้อมูลบริษัท 250 บริษัทจาก การสำรวจฐานะการลงทุนระหว่างประเทศรายบริษัท ที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และรายงานรายปีของบริษัท ระหว่างปี 2012-2016 มาใช้ในการวิเคราะห์ ซึ่งครอบคลุมร้อยละ 95 ของมูลค่า TDI แบบการเพิ่มทุน (equity) หรือการลงทุนด้วยการถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไป ไม่รวมการกู้ยืมระหว่างบริษัทในเครือเดียวกัน 

ในกรณีที่บริษัทไทยลงทุนผ่านประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการเงิน เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง มอริเชียส ก็จะวิเคราะห์ประเทศปลายทางที่บริษัทไปประกอบธุรกิจจริง ๆ

เราได้แบ่งวัตถุประสงค์ของ TDI ออกเป็น 4 ประเภท คือ (1) ขยายตลาด (2) แสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ (3) ลดต้นทุน และ (4) แสวงหาเทคโนโลยี แบรนด์สินค้า และอื่น ๆ 

นอกจากนี้ ยังแบ่งลักษณะของธุรกิจในประเทศปลายทางที่ออกไปลงทุนเป็น 3 ประเภท คือ (1) การลงทุนในธุรกิจเดิม (2) ธุรกิจที่เชื่อมโยงกับธุรกิจในประเทศ และ (3) ธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิมในประเทศ

ทำธุรกิจเชี่ยวชาญแสวงหาตลาด

จากการวิเคราะห์ข้อมูลข้างต้น เราพบว่าธุรกิจไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากที่สุดคือ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเหมืองแร่และถ่านหิน และธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นธุรกิจใหญ่ที่สามารถออกไปแข่งขันในต่างประเทศได้

ประเทศปลายทางที่ได้รับเงินลงทุนมากที่สุดคือ เวียดนาม จีน และอินโดนีเซีย

เมื่อแบ่ง TDI ตามวัตถุประสงค์ เราพบว่าวัตถุประสงค์ของ TDI ลำดับที่ 1 คือการขยายตลาด ในปี 2016 มีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 54 ของมูลค่า TDI ที่วิเคราะห์ การขยายตลาดของบริษัทไทย 3 ใน 4 เป็นการออกไปลงทุนในธุรกิจเดิม เช่น บริษัทผลิตวัสดุก่อสร้างออกไปตั้งโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้าง เพื่อจำหน่ายในเวียดนาม บริษัทการค้าออกไป M&A ธุรกิจการค้าต่างประเทศหรือเปิดสาขาใหม่ในต่างประเทศเพิ่มเติม 

ส่วนการขยายตลาดที่เหลืออีก 1 ใน 4 เป็นการออกไปลงทุนในธุรกิจที่เชื่อมโยงกัน เช่น บริษัทผู้ผลิตไปลงทุนตั้งบริษัทจัดจำหน่ายเพื่อขายสินค้าจากไทยในประเทศปลายทาง

วัตถุประสงค์ของ TDI ลำดับที่ 2 คือการแสวงหาเทคโนโลยี แบรนด์สินค้า และอื่น ๆซึ่งคิดเป็นร้อยละ 17 ของมูลค่า TDI ที่วิเคราะห์ 

ช่วงหลังพบว่าบริษัทพลังงานออกไปลงทุนเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ shale oil ในประเทศจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐ หรือบริษัทผลิตอาหารไทยซื้อบริษัทผลิตอาหารที่สหรัฐ เพื่อให้ได้แบรนด์สินค้าและช่องทางการจัดจำหน่าย 

เรายังเห็นบริษัทบางแห่งที่ต้องการกระจายแหล่งรายได้ไปลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ไม่ได้ทำในไทย เช่น บริษัทผลิตเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันไปลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จีน

วัตถุประสงค์ของ TDI ลำดับที่ 3 คือ การแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15 ของมูลค่า TDI ที่นำมาวิเคราะห์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจพลังงาน ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในประเทศปลายทาง เนื่องจากในไทยมีเหลือจำกัด เช่น การทำเหมืองถ่านหินในจีน และอินโดนีเซีย การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนในลาว หรือการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่แคนาดา

วัตถุประสงค์ของ TDI ลำดับสุดท้ายคือการแสวงหาต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งมีเพียงร้อยละ 3 ของมูลค่า TDI ที่นำมาวิเคราะห์ โดยทั้งหมดเป็นการลงทุนในธุรกิจเดิมหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกัน ตัวอย่างคือบริษัทเครื่องนุ่งห่มหลายแห่งที่ใช้แรงงานมากย้ายฐานการผลิตไปกัมพูชาเพราะมีค่าแรงต่ำกว่า หรือบริษัทผลิตน้ำยางพาราออกไปลงทุนผลิตถุงมือยางที่มาเลเซียซึ่งเชี่ยวชาญในธุรกิจนี้ จึงสามารถผลิตได้ถูกกว่า

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า วัตถุประสงค์หลักที่เป็นจุดเริ่มต้นของ TDI คือ การแสวงหาตลาด แตกต่างจากประเทศเอเชียอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ที่จุดเริ่มต้นมาจากการแสวงหาต้นทุนที่ถูกลง โดยมีปัจจัยภายในประเทศดังกล่าวเป็นแรงผลักดันหลัก เช่น ค่าเงินหรือค่าแรงที่สูงขึ้น ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ Plaza Accord ปี 1985 ที่ทำให้ค่าเงินของญี่ปุ่นแข็งขึ้นมากและราคาสินค้าส่งออกปรับสูงขึ้น บริษัทญี่ปุ่นจึงต้องออกไปลงทุนต่างประเทศ หรือไต้หวันและเกาหลีใต้ที่เริ่มออกไปลงทุนต่างประเทศเพื่อหนีค่าแรงและต้นทุนการผลิตในประเทศที่ปรับสูงขึ้น

แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยสรุปแล้ว บริษัทไทยมี TDI มากขึ้นจากในอดีต ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตลาดในต่างประเทศโดยการนำความรู้ความสามารถของบริษัทไปลงทุนในธุรกิจเดิมในประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งการเจาะตลาดในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในระยะต่อไป TDI มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อเข้าถึงตลาด แหล่งทรัพยากร แบรนด์สินค้า เทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น และมีแหล่งรายได้อีกทางหนึ่งนอกเหนือจากตลาดในประเทศและการส่งออก จากการส่งกลับกำไรของบริษัทลูกในต่างประเทศ เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วที่ลงทุนโดยตรงในต่างประเทศมาก่อนหน้าไทย

โดย... 

นิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์

ภรมาภา พูนภักดี

พราวรวี นาคใหม่