ไทยครองแชมป์อุบัติเหตุทางถนน เพราะ “ฟิล์มดำ”

ไทยครองแชมป์อุบัติเหตุทางถนน เพราะ “ฟิล์มดำ”

อาจเป็นทั้งข่าวดีและข่าวร้ายสำหรับการพูดถึงสังคมไทยของเราในสายตาของต่างชาติ

ข่าวดีคือ มีข่าวเผยแพร่มาว่า ธนาคารโลกกำลังจะจัดให้ประเทศไทยหลุดพ้นเส้นความยากจน พูดง่ายๆ ว่า คนไทย ประเทศไทยจะเป็นเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่คนไทยชอบไปเที่ยวไปซื้อข้าวของทั้งในยุโรป เอเชีย จะเทียบประมาณใกล้บ้านเราอย่างฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น ก็น่าจะไม่ผิดนัก 

แต่สำหรับข่าวร้าย เพื่อให้ได้ใจความครบถ้วน ขออนุญาตนำเสนอการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ดังนี้

ปี 2559 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนราว 22,000 ราย เฉลี่ยวันละ 50 - 60 ราย มีผู้ที่ไปเข้ารับการรักษาที่ รพ. จากกรณีรถชน ประมาณ 1 ล้านคน กลายเป็นผู้พิการราว 6 หมื่นคนต่อปี และเมื่อเดือนพ.ย. 2560 เว็บไซต์เวิลด์แอตลาส ได้เปิดเผยว่าประเทศไทยมีอัตราตายบนท้องถนนอยู่ในอันดับ 1 ของโลก” 

เชื่อว่าเป็นอันดับแชมป์โลกที่คนไทยไม่น่าจะพึงพอใจเป็นแน่แท้ ซึ่งในรายละเอียดของเนื้อข่าวนี้ มีควบคู่ไปกับการรณรงค์เรื่อง กล้องถ่ายภาพบนถนน หรือ กล้องติดรถยนต์ บ้างก็กระตุ้นให้ติดป้ายเตือนว่า “รถนี้มีกล้อง” เป็นเสมือนการใช้การข่มขู่ หรือใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ “ยังเกาไม่ถูกที่คันเช่นเดิม

เหตุผลก็เพราะการดำเนินการในเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ เป็นเรื่องปลายเหตุ  

ในต่างประเทศ ทั้งเครื่องวัดแอลกอฮอล์ เครื่องจับความเร็ว กล้องถ่ายภาพระยะไกล อื่นๆ อีกมากมาย เขาทำมานานแล้ว ถ้าย้อนไปได้ เทคโนโลยีเหล่านี้ได้เห็นในยุโรป และอเมริกามากว่าสิบปี ไม่ใช่เรื่องใหม่ 

แต่ที่เขาบริหารจัดการ ทำให้อัตราการบาดเจ็บล้มตายพิการทุพพลภาพในการใช้รถใช้ถนน ไม่ใช่ตายเฉลี่ยวันละเกือบร้อย อย่างที่มีการรวบรวมตัวเลขสถิติไว้ ก็เพราะเขาไม่เหนียมอาย และไม่เกรงใจที่จะต้อง “ขัดใจ” ประชาชน หรือ กระทั่งเจ้านายผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ที่ยังคงใช้รถฟิล์มดำ อ้างความเป็นส่วนตัว อ้างความปลอดภัย 

บางทีก็มีอ้างความเป็นหญิงเป็นผู้อ่อนแอ มาเป็นเกราะกำบัง ทั้งที่คนใช้รถคนขับรถก็ผู้ชายแท้ๆ ที่โบ้ยไปเรื่องดินฟ้าอากาศ ความร้อน อุณหภูมิที่สูงมากของฟากฟ้าเมืองไทยก็มี

จะอ้างอะไร ก็รับฟังได้ แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหา และเป็นการพูดคนละเรื่องกับเป้าหมาย คือ ความปลอดภัย สุขอนามัยของส่วนรวม เพราะการป้องกันอุบัติภัยบนท้องถนน

 หากยังพูดกันวิพากษ์กันโดยเอา “ตัวเอง” เป็นที่ตั้ง ก็คงแก้ไขกันได้ยาก เราต้องเริ่มคิดถึงส่วนรวมกันให้มาก และการรณรงค์เรื่องงดใช้ฟิล์มดำเป็นสิ่งที่ผม และเชื่อว่ามีคนอีกหลายกลุ่มในสังคมเห็นพ้องต้องกันมานานแล้วว่า จะช่วยลดทอนปัญหาที่หมักหมมนี้ลงได้

ถ้าถามว่า “ฟิล์มดำ” มาเกี่ยวข้องอะไร  สามารถตอบได้เลยว่า ที่กล่าวกันว่า คนขับรถทำไมไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทำไมขับรถอย่างย่ามใจ ก็เพราะเขาคิดว่า ฟิล์มดำปกปิดใบหน้า ป้องกันไม่ให้ใครเห็นเขาได้ถนัดถนี่ เขาจะทำอะไรอย่างไร ก็เป็น “โลกส่วนตัว” ของเขา 

หลายประเทศที่เจริญมั่งคั่งอย่างที่ไทยเรากำลังจะเป็นเขา จึงห้ามการติดฟิล์มทึบแสง หรือหลายแห่งห้ามกระทั่งการติดฟิล์มทุกประเภทเพื่อให้มีความโปร่งใส เห็นกันและกันได้ถนัดถนี่  

มีงานวิจัยที่ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ของอเมริกา นำมาเผยแพร่ก่อนโครงการ ถนนสีขาว” ในบ้านเรา ซึ่งเป็นโครงการที่น่ายกย่องเช่นกัน  โดยซีเอ็นเอ็น ระบุชัดเจนถึงผลงานวิจัยว่า คนขับรถ” ด้วยฟิล์มทึบแสง นอกจากบดบังทัศนวิสัยของตนเองในยามค่ำคืนแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดของพฤติกรรมก้าวร้าว สร้างความหวาดระแวงให้กับคนทั่วไป เพราะการปกปิดซ่อนเร้นตัวตนของผู้ขับขี่ ทำให้ผู้ขับขี่คนอื่นคาดเดาสถานการณ์ได้ยาก ไม่ว่าทางร่วมทางแยก จะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา 

ยิ่งพฤติกรรมคนใช้รถในเมืองไทยที่ไม่ชอบเปิดไฟสัญญาณ เพราะเกรงว่า “จะถูกหาว่าอ่อนหัด หรือ ทะนงในศักดิ์ศรีว่า นี่รถยุโรป ฉันโฟร์วีลล์ แกต้องเกรงใจฉันสิ” เป็นพฤติกรรมที่นอกจากน่ารังเกียจแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดแห่งอันตรายอย่างมหันต์ ที่หากทำการศึกษาวิจัยจะพบว่าเป็นข้อความจริงดังว่า เพราะนี่คืองานวิจัยที่ผมดำเนินการให้กับ สสส เมื่อหลายปีก่อน 

ระบบวิธีการสืบสวนคดีจราจร ไม่จำกัดเฉพาะข้อกฎหมายใครผิดใครถูก แต่ยังมองถึงระบบวิศวกรรมจราจร และเมื่อมีการสัมภาษณ์เชิงลึกทำให้เห็นได้ว่าพฤติกรรมของผู้ขับขี่มีส่วนอย่างสูงต่ออุบัติภัยทางถนน ใครอยากได้งานวิจัยนี้ ติดต่อที่ผมโดยตรงหรือที่ สสส ได้

โดยส่วนตัวเรื่องกล้องติดหน้ารถยนต์ ไม่มีข้อคัดค้าน เพราะด้วย ฐานะทางการเงินของคนไทยที่กินดีอยู่ดีมีความสุขมากขึ้น ใครจะว่าเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการมาของ คสช ก็สุดแท้แต่ สำหรับผมเห็นว่า ไม่เหนือบ่ากว่าแรงสำหรับคนไทยที่มีเงินซื้อรถจะซื้อหามาติดตั้งในราคาย่อมเยา ตั้งแต่หลักร้อยไปถึงหลักหลายพันบาท 

แต่สิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ได้ คือ พฤติกรรมที่คนส่วนใหญ่เป็นไม้แก่ดัดยาก ไม่สามารถจะอบรมสั่งสอนอะไรได้ในช่วงวัยนี้ แต่ต้องใช้มาตรการในการควบคุมพฤติกรรมด้วยสภาพแวดล้อม เช่น การเปิดให้ผู้ขับขี่ยวดยานได้เห็นซึ่งกันและกัน อย่ามาอ้างความเป็นส่วนตัวในขณะที่คุณขับขี่อยู่บนถนนสาธารณะ ถ้าคุณขับรถในบ้านในไร่ ในพื้นที่ส่วนบุคคลจะไม่มีใครว่า แต่นี่คือ การรับผิดชอบต่อผู้อื่น 

เราให้แท็กซี่ รถบัสรถตู้โปร่งใส แต่เมื่อมาถึงรถบ้านกลับบังคับใช้กฎหมายต่างกัน รถบางคันยิ่งเลวร้ายหนัก คือ ไม่สวมป้ายทะเบียน หรือ ติดแผ่นป้ายทะเบียนปลอม เอาไฟสัญญาณไซเรนมาติดตั้ง ท้าทายและเย้ยกฎหมาย เพราะเชื่อว่า ตำรวจเกียร์ว่างไม่กล้าจับกุม เพราะกลัวชนตอ

เริ่มวันนี้ เดี๋ยวนี้ ได้เลยครับ ด้วยมาตรการ ยกเลิกการติดฟิล์มทึบแสง ที่ดำสนิท ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีปัญหามาก ต่อให้ตำรวจจราจรมีกล้องติดบนยอดหมวก ถ้าเขาไม่ลงจากรถมาคุยหรือเขาขับรถหนีไป เมื่อเกิดอุบัติเหตุ การติดตามจับกุมตัวนั้นยากเย็นแสนเข็ญ 

ยิ่งคนมีเงินถึงเงินถัง เขายังกล้าทำคดีเล็กให้เป็นคดีใหญ่ กลายเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปก็มี ป่านนี้ตำรวจก็ดี ดีเอสไอ ใครต่อใครก็ปัดกันวุ่น รอให้คดีเลยกำหนดเวลา น่าจะได้เห็นมานั่งแถลงข่าวกันอีกรอบ

นี่คือ ปัญหาที่คนรู้ปัญหาไม่กล้าพูด ผมเป็นประชาชนและอยู่กับสังคมนี้มาช้านาน มีความปรารถนาดีกับบ้านเมืองสังคมส่วนรวม ถือเป็นสิทธิหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่ต้องช่วยกันพิทักษ์รักษาปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวมและแผ่นดินไทย