การชันสูตรพลิกศพ

การชันสูตรพลิกศพ

การชันสูตรพลิกศพ(Indication) ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวน กรณีการตายโดยผิดธรรมชาติ (Unnatural)

และการ “ตายโดยผิดธรรมชาติ” มี 5 กรณี คือ การฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นทำให้ตาย ถูกสัตว์ทำร้ายตาย ตายโดยอุบัติเหตุ และตายโดยยังมิปรากฏเหตุ  

วัตถุประสงค์ของกฎหมายการชันสูตรพลิกศพ มีทั้งเพื่อให้ทราบว่าผู้ตายเป็นใคร ทราบว่ามีการตายที่ไหน ทราบว่ามีการตายเมื่อใด ทราบถึงเหตุการณ์ตาย (Cause Death) ที่อาจต้องสรุปเหตุแห่งความตายผิดธรรมชาติ เช่น ตายจากแผล ตายจากการขาดอากาศ ตายจากพลังงานกายภาพ ตายจากสารพิษ หรือตายจากการอดอาหาร 

ทั้งยังมีการชันสูตรเพื่อให้ทราบถึงพฤติการณ์การตาย (Manner of Death) อันเป็นการประมวลข้อมูลเพื่อสันนิษฐานการตายนั้นว่า มีพฤติการณ์ที่ตายโน้มเอียงไปทางใด ซึ่งถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใคร หรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิดเท่าที่จะทราบได้ 

กฎหมายกำหนดให้แพทย์เข้ามาร่วมในการตรวจสอบความจริงด้วย

ในการชันสูตรพลิกศพ แพทย์ถือว่าเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยตรวจสอบความจริงได้ ถ้าการดำเนินการของแพทย์ที่เข้าร่วมในการชันสูตรพลิกศพนั้นดำเนินการไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์ และจรรยาบรรณ มีการทำงานแบบเคียงคู่กับพนักงานสอบสวนที่ร่วมือกันในการผดุงความเป็นธรรม และความยุติธรรมของทุกฝ่าย

การชันสูตรพลิกศพ นอกจากวัตถุประสงค์เพื่อทราบถึงสาเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามมูลเหตุกฎหมายการแพทย์หรือมูลเหตุอย่างอื่น หรือเพื่อยืนยืนตัวบุคคลที่ได้เสียชีวิตแล้ว ยังเป็นกระบวนการที่สำคัญอันเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา ในกรณีการตรวจพิสูจน์พบว่า การตายนั้นเกิดขึ้นจากการกระทำความผิด โดยการคำนึงถึงหลักการของสนธิสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กล่าวโดยเฉพาะความสำคัญของกระบวนการชันสูตรพลิกศพที่ดี กล่าวโดยเฉพาะความจำเป็นของการปกป้องความเป็นอิสระ และความเป็นกลางของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายการแพทย์(Medico-legal experts) 

ในกรณีที่มีการตายเกิดขึ้นแล้ว จะต้องมีการสืบสวนอย่างเป็นกลางโดยรวดเร็ว และโปร่งใส 

กรณีการตรวจพิสูจน์ศพเป็นกระบวนการที่ทำขึ้น เพื่อทราบถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย เพื่อประโยชน์แก่การมีความเห็นต่อไปว่า การตายนั้น เกิดขึ้นโดยคำทำร้ายหรือไม่ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนชันสูตรพลิกศพ ทั้งนี้ อาจทำโดยการตรวจศพภายนอก การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และรวมถึงการผ่าศพเพื่อตรวจอวัยวะภายใน และการตัดเอาก้อนเนื้อไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์(Microscopic Examination)

การกำหนดให้เจ้าพนักงานมีดุลพินิจในการที่จะสั่งให้มีการผ่าศพหรือการแยกธาตุ แม้จะมีผลดีต่อการที่จะทำให้การดำเนินการในเรื่องดังกล่าว มีความยึดหยุ่นและสามารถปรับใช้กับแต่ละกรณีได้อย่างเหมาะสมก็ตาม แต่การบัญญัติกฎหมายให้เจ้าพนักงานสามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง โดยไม่มีขอบเขตการใช้ดุลพินิจและกลไกการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตายอย่างเหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงาน จากเหตุที่การผ่าศพเป็นกระบวนการที่ขาดความแน่นอน และผู้เกี่ยวข้องกับการตายไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการตันสินใจของเจ้าพนกงานได้

จากเหตุการณ์นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2560 ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน และภายหลังครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้เข้าร้องต่อสื่อมวลชน ซึ่งกรณีที่ครอบครัวผู้ตายเรียกร้องสิทธิในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจจะให้มีการผ่าศพหรือไม่ โดยไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองถึงสิทธิดังกล่าวไว้จึงอาจทำให้เกิดความขัดแย้งต่อไป

คณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แห่งองค์การสหประชาชาติ(United Nations Commission on Human Rights หรือ UNCHR) National Association of Medical Examiner (NAME) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาข้อแนะนำมาตรฐานการชันสูตรพลิกศพ ของสหรัฐ ได้เรียกร้องและแนะนำว่า การผ่าศพไม่จำต้องจัดให้มีขึ้นในทุกกรณี แต่ควรกระทำในกรณีที่จำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การมีความเห็นเกี่ยวกับเหตุ และพฤติการณ์ที่ตาย ที่แม่นยำยิ่งขึ้น และจำต้องอยู่ภายใต้การดูแลโดยแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งจะต้องเป็นนิติพยาธิแพทย์ หรือโดยแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมด้านนิติพยาธิแพทย์มาแล้ว

นอกจากพนักงานสอบสวนและแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์แล้ว กฎหมายได้กำหนดให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่ง ตั้งแต่ปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เข้าร่วมชันสูตรพลิกศพ ณ สถานที่ที่ศพอยู่ด้วย

โดยแท้จริงแล้วการชันสูตรพลิกศพ มิใช่กระบวนการในการสอบสวนเพื่อการดำเนินคดีอาญา หากแต่เป็น กระบวนการตรวจพิสูจน์การตายที่มุ่งประสงค์จะทราบถึงเหตุและพฤติการณ์เกี่ยวกับการตายเป็นสำคัญ แต่โดยผลของการชันสูตรพลิกศพนั้น อาจนำไปสู่การดำเนินคดีอาญาได้ หากเจ้าพนักงานผู้ชันสูตรพลิกศพมีความเห็นว่าความตายนั้นเกิด เชื่อ หรืออ้างว่าเป็นผลจากการกระทำความผิด 

กฎหมายได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในการที่จะต้องแจ้งให้ญาติผู้ตายอย่างน้อยหนึ่งคนทราบเท่าที่จะทำได้ เพื่อเข้ารวมในการชันสูตรพลิกศพ 

การแจ้งที่ไม่อาจกระทำได้ด้วยเหตุใดๆ หรือการที่ไม่ญาติผู้ตายใดเข้าร่วมได้ ยังคงให้เจ้าพนักงานจัดการชันสูตรพลิกศพต่อไปได้ 

ดังนั้น การจะมีญาติผู้ตายเข้าร่วมการชันสูตรพลิกศพหรือไม่ จึงมิใช่เงื่อนไขที่จะทำให้การชันสูตรพลิกศพชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

การเข้ามามีส่วนร่วมของญาติผู้ตายจึงเป็นเพียงการเข้ามารับรู้การปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐเท่านั้น จึงควรกำหนดขั้นตอนและเงื่อนไขในการคืนศพให้แก่ญาติผู้ตาย เพื่อกำหนดขอบเขตและอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจว่า สามารถที่จะรักษาศพไว้เพื่อประโยชน์แก่การพิสูจน์ได้นานเพียงใด 

เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้การเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย รวมตลอดถึงเงื่อนไข และการอนุญาตให้มีการเผาศพ หรือประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อทางศาสนา

ทั้งยังควรกำหนดกลไกการมีส่วนร่วมเพื่อการตรวจสอบของญาติ และผู้เกี่ยวข้องการตายในขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพให้มีความเหมาะสมต่อไป เพื่อมาร่วมในการตรวจสอบและควบคุมอย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

 

โดย... รศ.กรกฎ ทองขะโชค

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ