เสือ สิงห์ กระทิง เม่า

เสือ สิงห์ กระทิง เม่า

เสือ สิงห์ กระทิง เม่า

นักลงทุนหรือคนที่ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น  ถูกจัดให้อยู่ใน 4 กลุ่มคือ  กลุ่มนักลงทุนสถาบัน  กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์  กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ  และกลุ่มนักลงทุนส่วนบุคคล ในการซื้อขายหุ้นแต่ละวันนั้น  ตลาดหลักทรัพย์ก็จะรายงานว่ากลุ่มไหนซื้อและขายคิดเป็นเงินกี่บาทและสรุปยอดซื้อขายสุทธิของแต่ละกลุ่มด้วย 

สถิติการซื้อขายในช่วงหลัง ๆ  นี้บอกว่ากลุ่มนักลงทุนสถาบันและพอร์ตของบริษัทหลักทรัพย์มีการซื้อขายประมาณกลุ่มละ 10% กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ 30% และกลุ่มนักลงทุนส่วนบุคคลประมาณ 50% นี่ก็เป็นสถิติที่บอกถึงแนวโน้มที่ลดลงของนักลงทุนส่วนบุคคลที่เคยมีปริมาณการซื้อขายสูงถึง 70% ในอดีต  โดยกลุ่มที่เพิ่มขึ้นมากก็คือกลุ่มนักลงทุนสถาบันและพอร์ตของโบรกเกอร์  ในขณะที่นักลงทุนต่างประเทศดูเหมือนจะทรงที่ประมาณ 30% มายาวนาน 

มาดูกันว่านักลงทุนแต่ละกลุ่มนั้นเป็นอย่างไร  มีพฤติกรรมการซื้อขายหุ้นอย่างไร  บางทีการที่เข้าใจพวกเขาจะทำให้เราสามารถลงทุนได้ดีขึ้นบ้าง  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  นักลงทุนทั้งหลายในตลาดเองนั้น  ต่างก็  “แข่งขัน”  กันที่จะ “เอาชนะ” หรือสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่าคนอื่น

กลุ่มนักลงทุนกลุ่มแรกก็คือนักลงทุนสถาบันนั้น  ประกอบด้วยกองทุนรวมต่าง ๆ  ที่บริหารเงินของผู้ที่ถือหน่วยลงทุน  กองทุนของหน่วยงานใหญ่ ๆ  เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ  กองทุนประกันสังคม  และพอร์ตลงทุนของบริษัทประกันภัยและประกันชีวิตต่าง ๆ  ซึ่งนับวันก็จะมีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  เนื่องจากมันมักจะเป็นเงินที่ผู้ถือหน่วยลงทุนเก็บเงินสะสมไว้เพื่อการเกษียณและส่วนใหญ่เป็นเงินที่กฎหมายบังคับหรือให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุนซึ่งทำให้เงินในส่วนนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  แม้ในยามที่ตลาดหุ้นไม่ดี  และนี่คงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักลงทุนในกลุ่มนี้โตขึ้นเรื่อย ๆ และมีอิทธิพลสูงขึ้นเรื่อย ๆ  ในตลาดหลักทรัพย์

โดยปกติ  นักลงทุนกลุ่มนี้จะถือหุ้นยาวกว่ากลุ่มอื่น  การเลือกหุ้นลงทุนก็จะเน้นทางด้านขนาดและคุณภาพของหุ้น  นั่นก็คือ  พวกเขาจะเน้นถือหุ้นขนาดใหญ่ประเภท “บลูชิพ” เป็นหลัก  โดยที่จะซื้อหุ้นขนาดกลางที่มีคุณภาพดีและอาจจะโตเร็วเป็นตัวเสริมเพื่อที่จะสร้าง “ผลงาน” การลงทุนให้สูงขึ้น  ส่วนหุ้นตัวเล็กและหุ้นที่อาจจะมีภาพว่าเป็นหุ้นปั่นหรือหุ้นเก็งกำไรสูงนั้นส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็จะหลีกเลี่ยง  เหตุผลก็คือ  คนที่บริหารเงินนั้นมักจะเป็น  “มืออาชีพ”  ที่ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรมากนักถ้าบริหารได้ดีมีผลตอบแทนการลงทุนสูง  แต่ถ้ากองทุนเสียหายหรือผลตอบแทนตกต่ำ  พวกเขาจะลำบาก  อาจจะต้องตกงานถ้าไปลงทุนในหุ้นที่  “มีปัญหา”

นักลงทุนสถาบันเองนั้น  มักจะเรียนมาจากตำราเดียวกันและมีพื้นฐานทางสังคมและความคิดใกล้เคียงกันด้วย  นอกจากนั้น  พวกเขาก็มักจะได้รับข้อมูลแทบจะชุดเดียวกันนั่นก็คือ  พวกเขาไปฟังผู้บริหารบริษัทบรรยายและให้ข้อมูลแบบเดียวกัน  เขาอ่านบทวิเคราะห์จากนักวิเคราะห์คนเดียวกัน  ดังนั้น  การคิดและตัดสินใจลงทุนในหุ้นก็อาจจะคล้าย ๆ  กัน   ผลก็คือ  บ่อยครั้งพวกเขาจะซื้อหรือขายหุ้นในทิศทางเดียวกัน  ผมเองสังเกตดูในระยะหลัง ๆ  นั้นพบว่า   วันไหนที่นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิมาก  ๆ  ดัชนีหุ้นมักจะขึ้น  ตรงกันข้าม  ถ้าพวกเขาขาย  ดัชนีก็มักจะตกลงมา  ทฤษฎีของผมก็คือ  พวกเขาซื้อหรือขายหุ้นขนาดใหญ่ที่มีผลต่อดัชนีมากในทิศทางเดียวกัน  แน่นอน  เขาคงไม่ได้คุยกัน  แต่คนที่มีหลักการเดียวกัน  มีพื้นฐานและการฝึกฝนคล้ายคลึงกัน  เข้าถึงข้อมูลแบบเดียวกัน  ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะคิดและทำแตกต่างกันได้มาก  ผลงานการลงทุนของกลุ่มนักลงทุนสถาบันจึงไม่ต่างกันมากนัก  และนั่นก็เป็นปัญหาที่ทำให้คนที่  “เลือกได้”  จึงไม่สนใจลงทุนกับกองทุนรวมหุ้นมากนัก

แต่การแข่งขันกันรุนแรงในธุรกิจจัดการการลงทุนก็ทำให้ในระยะหลังเองก็มีกองทุนรวมที่สร้างความแตกต่างจากสิ่งที่เคยทำ  บางบริษัทก็เริ่มลงทุนแบบกล้าเสี่ยงมากขึ้น  จากการลงทุนที่เน้นแต่หุ้นบลูชิพขนาดใหญ่ก็เริ่มหันมาลงทุนในหุ้นขนาดเล็กลงมาที่  “โตเร็ว”   จากวิธีการลงทุนที่กระจายความเสี่ยงมากก็หันมา Focus หรือเน้นหุ้นน้อยตัวลง  การฟังการแถลงผลประกอบการและแผนงานพร้อมกับนักวิเคราะห์ก็กลายเป็นการเข้าพบผู้บริหารเป็นส่วนตัว  หลักการลงทุนก็อาจจะเปลี่ยนแนวเป็นแบบ  “VI”  กล่าวโดยสรุปก็คือ  การลงทุนของกองทุนเหล่านี้บางแห่งก็ทำคล้าย ๆ  กับ “นักลงทุนส่วนบุคคลรายใหญ่”  ที่การลงทุนหรือซื้อหุ้นของตนเองนั้นส่งผลต่อราคาหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ  บ่อยครั้งกองทุนถือหุ้นในบริษัทเกินกว่า 5% ของบริษัทที่มักจะมีหุ้น Free Float ต่ำอยู่แล้ว  ซึ่งมักส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูงมากและทำให้ผลงานการลงทุนของกองทุนโดดเด่นขึ้นอย่างชัดเจน  และดังนั้น  กองทุนรวมก็คงไม่ใช่นักลงทุนที่คนจะมองข้ามได้  ผมเองอยากจะเรียกพวกเขาว่าเป็น  “เสือ” ในยุทธจักรหุ้น

นักลงทุนกลุ่มที่สองก็คือ  โบรกเกอร์ ซึ่งก็หันมา “เล่นหุ้น” มากขึ้นเรื่อย ๆ  ค่าที่ว่าซื้อขายหุ้นโดยไม่เสียค่าคอมมิชชั่นและมีเงินสดที่แทบไม่ได้ดอกเบี้ยเลยจำนวนมาก  นอกจากนั้น  พวกเขาก็ยังมีข้อมูลและบทวิเคราะห์ที่ลึกและล่าสุดเทียบกับนักลงทุนกลุ่มอื่น  ด้วยเหตุดังกล่าว  โบรกเกอร์จึงหันมาหารายได้หรือทำเงินจากการซื้อ ๆ  ขาย ๆ หุ้น  พวกเขาคิดว่าไม่ต้องทำผลตอบแทนมากก็คุ้มเมื่อเทียบกับผลตอบแทนเฉลี่ยแค่  1%  ต่อปีของเม็ดเงินที่มีอยู่   นอกจากนั้น  การซื้อ ๆ  ขาย ๆ หุ้นสำหรับโบรกเกอร์หลายแห่งก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นและเสริมกับบริการหรือผลิตภัณฑ์อนุพันธ์ใหม่ ๆ  ที่บริษัทออกมาในช่วงหลัง ๆ  อย่างไรก็ตาม  พอร์ตโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ไม่น่าจะเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อหวังผลตอบแทนระยะยาว  พวกเขาน่าจะแค่ซื้อ ๆ  ขาย ๆ  ซึ่งแปลว่าเมื่อพวกเขาซื้อหุ้นสุทธิสะสมมาก ๆ  แล้วหลังจากนั้นก็จะถึงเวลาขาย  วิธีการลงทุนของโบรกเกอร์นั้น  ผมเองคิดว่าส่วนใหญ่น่าจะมองระยะสั้น ๆ  โดยเน้นภาวะตลาดหุ้นและเรื่องราวของบริษัทจดทะเบียนเป็นหลัก  การดูเรื่องของโมเมนตัมและเทคนิคน่าจะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการซื้อขายหุ้น  ถ้าจะให้นิยามโบรกเกอร์  ผมจะเรียกว่าเป็น  “สิงห์” ในสนามหุ้น

กลุ่มที่สามคือ  นักลงทุนต่างประเทศ  นี่คือกลุ่มนักลงทุนที่  “ลงทุนระยะกลาง”  โดยเน้นที่พื้นฐานของกิจการเช่นเดียวกับภาวะเศรษฐกิจของไทยและตลาดหุ้น  “ทั่วโลก”  โดยเฉพาะที่เป็นตลาดกำลังพัฒนา  พวกเขาจะเปรียบเทียบตลาดหุ้นไทยกับตลาดกำลังพัฒนาอื่นตลอดเวลา  เงินของพวกเขามักจะเข้าออกตลาดหุ้นไทยเป็นรอบ ๆ   ยามที่ตลาดหุ้นไทยถูกและพื้นฐานเศรษฐกิจดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่น  พวกเขาก็จะนำเงินเข้ามาลงทุน  เป็น ผู้ซื้อสุทธิ  ตรงกันข้าม  ช่วงที่พื้นฐานไม่สดใสและหรือหุ้นแพง  พวกเขาก็จะขายสุทธิ  นักลงทุนต่างประเทศน่าจะ 80-90% ขึ้นไปมักจะลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่  อย่างไรก็ตาม  ก็อาจจะมีนักลงทุนต่างประเทศบางกลุ่มเช่นที่เป็นเฮ็ดจ์ฟันด์ที่ลงทุนในหุ้นขนาดกลางและใช้วิธีแบบนักลงทุน “ขาใหญ่” ในตลาดหุ้นไทยและลงทุนอย่างค่อนข้างหวือหวาเพื่อทำกำไรมากและเร็วด้วย  สำหรับชื่อของนักลงทุนกลุ่มต่างประเทศนั้น  ผมอยากจะเรียกว่าเป็น  “กระทิง”

นักลงทุนกลุ่มสุดท้ายก็คือนักลงทุนส่วนบุคคลที่ผมจะใช้คำว่า “เม่า” หรือแมลงเม่าที่มักชอบตามแห่หรือตามแสงไฟคล้าย ๆ  แมลงเม่า  นี่คือนักลงทุนส่วนบุคคลที่ชอบเล่นหุ้นรายวันหรือในเวลาสั้น ๆ  เป็นเดือนหรืออย่างมากก็ไม่กี่เดือน  พวกเขาจะเข้าซื้อหุ้นที่มีราคาวิ่งขึ้นแรงและขายหุ้นที่กำลังตกลงมาแรง  หุ้นเหล่านี้จะมีปริมาณการซื้อขายสูงลิ่ว  บ่อยครั้งติดอันดับ 1 ใน 10 หรืออย่างน้อยก็ 1 ใน 20 อันดับ  หุ้นที่ซื้อขายเหล่านั้นมักจะต้องเป็นหุ้นที่มี  Story หรือเรื่องราวน่าสนใจและมี  “เจ้ามือ” หรือ “คนดูแลหุ้น”  ที่พร้อมเข้ามาเชียร์และซื้อขายหุ้นที่จะทำให้หุ้นเคลื่อนไหวหวือหวา  นักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยนั้นมักจะไม่สนใจพื้นฐานของกิจการเช่นเดียวกับความถูกแพงของหุ้น  พวกเขามักซื้อขายหุ้นคล้าย ๆ  กับการเล่นการพนันที่มีเจ้ามือและมีการได้เสียเป็นรอบ ๆ

ในส่วนของนักลงทุนส่วนบุคคลรายใหญ่เองนั้น  ผมไม่คิดว่าพวกเขาเป็นเม่าอย่างแน่นอน  เพราะเม็ดเงินที่มากและวิธีการลงทุนของพวกเขาเองนั้นไม่ได้แพ้นักลงทุนทั้งที่เป็นเสือ  สิงห์หรือกระทิง  ว่าที่จริงนักลงทุนส่วนบุคคลรายใหญ่ของไทยเองนั้นก็มีแนวทางหลากหลาย  เขาอาจจะเป็นเสือหรือสิงห์หรือกระทิงก็ได้ขึ้นอยู่กับว่าเขามีกลยุทธ์อย่างไรเป็นการเฉพาะ  ในส่วนของผมเองนั้น  ผมเรียกตัวเองว่า  “เต่า” ที่เน้นการลงทุนแบบปลอดภัยและอาศัยเวลายาวนานในการสร้างผลตอบแทน  หรือพูดง่าย ๆ  ลงทุนแบบ “ช้าแต่ชัวร์” เหมือนเต่า