เศรษฐกิจโลกดีขึ้น แต่ยังต้องระวัง

เศรษฐกิจโลกดีขึ้น แต่ยังต้องระวัง

ตัวเลขเศรษฐกิจโลกล่าสุดที่ออกมาจากหน่วยงานต่างๆ ล้วนประเมินภาพเศรษฐกิจโลกดีขึ้นทั่วหน้า มองว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน

และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวดีต่อเนื่องปีหน้า ซึ่งน่ายินดี เพราะเศรษฐกิจโลกได้ซบเซามานาน ล่าสุด

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัว 3.6% เพิ่มจาก 3.2% ปีที่แล้ว และขยายตัว 3.7% ปีหน้า เป็นตัวเลขที่ดีขึ้นมากเทียบกับ 5 ปีก่อนหน้า ซึ่งถ้าวิเคราะห์เจาะลึกลงไป การขยายตัวที่ดีขึ้นนี้มีข้อหรือลักษณะที่น่าสนใจอยู่หลายอย่าง 

  1. การฟื้นตัวเกิดขึ้นค่อนข้างแพร่กระจายคือ ขยายตัวได้ดีพร้อมกันทั้งในประเทศอุตสาหกรรม และประเทศตลาดเกิดใหม่

ในทั้ง 2 กลุ่มขยายตัวดีขึ้นชัดเจน ประเทศอุตสาหกรรมขยายตัว 2.2% ปีนี้ และประเทศตลาดเกิดใหม่ 4.6% การขยายตัวที่เกิดขึ้นกว้างขวางในหลายพื้นที่ของโลกพร้อมๆ กัน เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเข้มแข็ง

  1. ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวปีนี้ คือ การค้าโลกที่ปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.2% เทียบกับ2.4-2.8% สองปีก่อนหน้า มีผลให้การส่งออกและการนำเข้าสินค้าของทั้งประเทศอุตสาหกรรม และประเทศตลาดเกิดใหม่ขยายตัวสูงขึ้นมากในปีนี้ 

แต่การขยายตัวส่วนใหญ่ยังสะท้อนความต้องการซื้อสินค้าเพื่อสะสมสต็อกที่ได้เพิ่มสูงขึ้น จากที่ไม่ได้มีการสต็อกสินค้าเพิ่มมานาน เพราะเศรษฐกิจโลกขาดกำลังซื้อ แต่ปีนี้ การสะสมสต็อกเริ่มกลับมาตามวัฏจักร โดยเฉพาะในสินค้าที่มีพัฒนาการด้านนวัตกรรมที่เร็ว เช่น กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิคส์ 

ถ้าการสะสมสต็อกเป็นปัจจัยใหญ่ที่ขับเคลื่อนการค้าโลกปีนี้ ปัจจัยนี้อาจทำให้การค้าโลกอาจปรับลดลงปีหน้า เมื่อการสะสมสต็อกจบสิ้นลง ซึ่งก็จะกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า

  1. การฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนมีมากขึ้นและมีความพร้อมที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าแต่ก่อน นำไปสู่การลงทุนทางการเงินที่ขยายตัว ราคาหุ้น และตลาดการเงินปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ ฐานะของระบบธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกก็ดูเข้มแข็งขึ้น จากปริมาณเงินกองทุนที่ได้เพิ่มขึ้น และภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำที่เอื้อต่อธุรกิจ เหล่านี้สร้างเงื่อนไขที่จะช่วยเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง และลดความจำเป็นของการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในประเด็นหลังนี้ เป็นที่เข้าใจกันว่า เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างในปัจจุบันอาจต้องเริ่มเปลี่ยนทิศทางปรับไปสู่การดำเนินนโยบายการเงินที่เป็นปกติมากขึ้น นำโดยนโยบายการเงินของสหรัฐ ที่คงมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในปีนี้ เพื่อลดแรงกดดันของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อาจมีต่อภาวะเงินเฟ้อ  

ธนาคารกลางสหรัฐก็เตรียมการเรื่องนี้โดยคาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น

ในเรื่องการฟื้นตัวนี้ ที่อยากจะตั้งเป็นประเด็น ก็คือ ถึงภาพเศรษฐกิจโลกจะดูดีขึ้น แต่ลึกๆ แล้ว ในโครงสร้าง และลักษณะของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้น ก็มีหลายอย่างที่สร้างความกังวลว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่กำลังดีขึ้นอาจไม่ต่อเนื่องหรือ sustain เพราะมีหลายประเด็นที่ควรต้องระวัง

ข้อกังวลแรก คือ แม้เศรษฐกิจโลกจะเริ่มขยายตัวเข้มแข็ง แต่ ตัวแปรเศรษฐกิจสำคัญบางตัวยังอยู่ในเกณฑ์อ่อนแอ ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว 

สถานการณ์นี้อยากจะเรียกว่าสถานการณ์ “ 3 ต่ำ

ต่ำแรก คือ ค่าจ้างแรงงานที่ยังไม่ขยายตัวหรือ low wages ที่การปรับขึ้นของค่าจ้างแรงงานยังมีน้อยมาก ในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัว ชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีผลน้อยต่อการจ้างงาน ซึ่งสำคัญต่อการสร้างอำนาจซื้อในระบบเศรษฐกิจและต่อยอดการขยายตัวของเศรษฐกิจ 

ต่ำที่ 2 คือ อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก สะท้อนถึงความต้องการใช้จ่ายในเศรษฐกิจโลก ที่โดยพื้นฐานแล้วยังอ่อนแอ เมื่อเทียบกับศักยภาพการผลิตที่เศรษฐกิจโลกมีอยู่ เมื่อความต้องการใช้จ่ายยังอ่อนแอ ก็จะเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 

ต่ำที่ 3 คือ อัตราดอกเบี้ย ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำแสดงว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจยังไม่นำไปสู่การฟื้นตัวของการลงทุนของภาคธุรกิจ ทำให้สภาพคล่องยังมีมาก เพราะนักธุรกิจยังไม่ลงทุน จึงไม่กดดันให้ต้นทุนการเงินปรับสูงขึ้น สภาพคล่องที่มีอยู่ได้ถูกนำไปลงทุนในตราสารทางการเงินแทน ตลาดการเงินจึงคึกคักมาก นี่คือ ภาวะสามต่ำที่ชี้ว่าปัจจัยพื้นฐานของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกขณะนี้ยังไม่เข้มแข็ง

ข้อกังวลที่ 2 คือ ความเปราะบางด้านการเงินที่มากับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ดูดีขึ้น อาจสร้างความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินให้กับเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป ความเปราะบางนี้ปรากฏเห็นชัดเจนจากปริมาณหนี้ที่ได้ขยายตัวสูงขึ้นมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งหนี้ของภาครัฐ บริษัทธุรกิจ และครัวเรือน ประมาณว่าเฉพาะหนี้ในกลุ่มประเทศ G20 ปริมาณหนี้ได้เพิ่มสูงมากกว่า 135 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 235% ของรายได้ประชาชาติของกลุ่ม 

ปริมาณหนี้ที่สูงมากนี้อาจสร้างปัญหาผิดนัดชำระหนี้ได้ง่าย ถ้าอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น 

นอกจากนี้สภาพคล่องที่มากและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ก็ทำให้นักลงทุนยิ่งกล้าเสี่ยงมากขึ้น ผลักดันให้ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกปรับสูงขึ้น แม้จะเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ขาดสภาพคล่อง ซึ่งปกติจะไม่น่าลงทุน ก็มีการลงทุนเพราะต้องการผลตอบแทนที่สูง 

ทั้งหมดจึงชี้ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะความเสี่ยงทางเสถียรภาพการเงินในระดับสูงขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะฟองสบู่แตก เมื่อตลาดพลิกกลับ หรืออัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นชนวนนำไปสู่การปรับตัวรุนแรงของตลาดการเงิน และกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจ นี่คือข้อกังวลที่ 2

ข้อกังวลที่ 3 คือ ความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมือง ที่นับวันจะสร้างความไม่แน่นอนต่อนโยบายเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้า ที่อาจทำให้การฟื้นตัวของการค้าโลกที่กำลังเกิดขึ้นอาจมีข้อจำกัด และกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก 

ความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้นจากการเมืองในประเทศและระหว่างประเทศ ก็จะทำให้การทำธุรกิจมีต้นทุนสูงขึ้น ผลักดันให้การลงทุนต่างๆ อาจชะลอหรือไม่ก็ถูกเลื่อน จึงไม่สร้างโมเมนตัมที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างที่ควรจะเป็น

ความน่าห่วงของข้อกังวลทั้ง 3 ข้อนี้คงจะชัดเจนมากขึ้นในปีหน้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ขณะนี้ทั้ง 3 ข้อเป็นจุดอ่อนของเศรษฐกิจโลกที่เห็น และควรต้องระวัง เพราะอาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอยู่นี้มีข้อจำกัดและอาจไม่ต่อเนื่อง เป็นประเด็นที่นักลงทุนควรตระหนักและรับรู้ไว้ท่ามกลางข่าวดีต่างๆ ที่กำลังออกมา