ช่องทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ในประเทศไทย

ช่องทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ในประเทศไทย

ตั้งแต่รัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ตัวเลขสถิติบางตัวอาจแสดงภาพพจน์ว่าสภาวะเศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวดีขึ้นพอควร

ตัวอย่างเช่น อัตราการขยายตัวของผลผลิตประชาชาติเพิ่มขึ้นจาก 0.9% ในปี 2557 มาอยู่ในระดับ 3.8% ในปี 2560 

อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ยังคงเป็นปัญหาที่น่าหนักใจอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ในปี 2558 ครัวเรือนคนไทยที่มีรายได้ไม่ถึง 20,000 บาท ต่อเดือน มีมากถึง 74.3% ของจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น

ในขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้มากกว่า 50,000 บาท ต่อเดือนมีเพียง 5.45% เท่านั้น ของจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 

ความไม่เท่าเทียมของการกระจายรายได้นี้ เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาหลายทศวรรษแล้ว (ตามที่แสดงให้เห็นในตารางที่ 1) 

อีกหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันถึงความไม่เสมอภาคของการกระจายรายได้คือ สถิติที่เกี่ยวกับวิสาหกิจรายกลางและรายย่อย หรือ เอสเอ็มอี (SMEs) 

SMEs มีจำนวนถึง 99.7% ของวิสาหกิจทั้งประเทศ แต่ก่อผลผลิตได้เพียง 39.6% ของผลผลิตประชาชาติ และ 26.2% ของรายได้จากการส่งออกทั้งสิ้นของประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่กลุ่มผู้ผลิตรายกลางและรายย่อยเหล่านี้มีสัดส่วนรายได้ที่ต่ำ สอดคล้องกับที่แสดงในตารางที่ 1

สาเหตุพื้นฐาน

ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ที่กล่าวข้างต้น เกิดขึ้นเพราะคนจนไม่สามารถแข่งขันกับคนรวยได้เพียงพอในการหารายได้และกำไร จุดอ่อนของคนจนในการแข่งขันนี้มีหลายแง่มุม ดังเช่น ตัวอย่างต่อไปนี้  (1) ขนาดของการลงทุนและการผลิต ไม่ใหญ่พอที่จะช่วยลดต้นทุนโดยเฉลี่ย (2) การกระจายประเภทของผลผลิต มีน้อยเกินไปที่จะช่วยกระจายความเสี่ยง (3) การใช้เทคโนโลยีรุ่นใหม่ ไม่ทันสมัยพอที่จะช่วยลดต้นทุน (4) การตลาดและการโฆษณา มีไม่เพียงพอที่จะดึงดูดใจลูกค้า  (5) บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ยังขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน (6) การวิจัยและวางแผน มีน้อยเกินไปทำให้ไม่สามารถปรับโครงสร้างการผลิตให้เหมาะสมกับสภาพตลาดและสิ่งแวดล้อม 

สาเหตุหลักของจุดอ่อนในหลายแง่มุมที่กล่าวข้างต้น คือ ความไม่เท่าเทียมของการถือสินทรัพย์และมรดก 

ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางด้านนี้สูงเป็นอันดับที่ 3 ของโลกต่อมาจากรัสเซียและอินเดีย โดยเฉลี่ย 58% ของทรัพย์สินทั้งประเทศเป็นของประชากรเพียง 1% และประชากรผู้ร่ำรวยที่สุด 10% แรกควบคุมถึง 80% ของทรัพย์สินทั้งสิ้นของประเทศ 

ความไม่เท่าเทียมนี้ส่งผลต่อเนื่องให้คนจนมีการศึกษาไม่เพียงพอ และประสบอุปสรรคใน 6 แง่ข้างต้น จึงไม่สามารถแข่งขันกับคนรวยได้ในตลาดสินค้าและบริการ แทบทุกฝ่ายคงสงสัยว่า แล้วหนทางใดจึงจะเหมาะสมที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาให้คนจน 

หากเราพิจารณาแนวคิดควบคู่ไปกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ร.9) ได้ทรงวางไว้เป็นแนวทางให้หน่วยเศรษฐกิจสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน 

ร.9 ได้ทรงสนับสนุนให้เอกชนจัดตั้งสหกรณ์เพื่อเป็นช่องทางในการประกอบอาชีพให้สำเร็จได้ในหลายแง่มุม

ก่อนอื่นเราควรเข้าใจถึงความหมายของคำว่า “สหกรณ์” ให้ถูกต้อง พรบ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดความหมายของคำว่า “สหกรณ์ หมายถึง คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้จดทะเบียนตาม พรบ.สหกรณ์” 

สหกรณ์ตามความหมายนี้ นับเป็นหน่วยงานที่เหมาะสมสำหรับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ เพราะผู้ที่เข้าร่วมมือดำเนินกิจการสหกรณ์ มักผ่าน และเข้าใจถึงประสบการณ์ รวมถึงปัญหาของคนจนเป็นอย่างดี 

ตัวอย่างของสหกรณ์ที่ ร.9 ได้ช่วยชี้แนะไว้ได้แก่ สหกรณ์พัฒนาเขาหินซ้อน และสหกรณ์ฟาร์มโคนม ในการวางโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเหล่านี้ ร.9 ท่านได้มีพระราชดำริให้ครอบคลุมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทุกแง่มุม เช่น การพัฒนาพันธุ์พืช ป่า และห้วย รวมถึงเขื่อนและฝนหลวง 

นอกจากนั้น ร.9 ยังทรงแนะนำให้เกษตรกรกระจายผลผลิตเพื่อลดความเสี่ยง ประเทศไทยจึงโชคดีที่ได้เห็นเกษตรกรบางรายปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของตนจากเกษตรเชิงเดี่ยวไปเป็นเกษตรเชิงผสมผสาน ครอบคลุมถึงการปลูกพืช ผัก ผลไม้ ประมง และเลี้ยงสัตว์ 

เกษตรเชิงผสมผสานนี้ช่วยให้เกษตรกรผู้มีรายได้ต่ำสามารถรับมือกับทั้งภัยพิบัติธรรมชาติและความผันผวนของผลผลิตและราคาในตลาดโลก 

กล่าวโดยสรุปคือ คำแนะนำจาก ร.9 ที่ให้คนจนจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นมาช่วยในการประกอบอาชีพนั้น เป็นทิศทางที่ถูกต้องซึ่งจะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถแข่งขันหรือต่อสู้กับแรงกดดันและความผันผวนได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัฒน์ ณ ปัจจุบันที่แทบทุกปัจจัยในตลาดได้ผันแปรอย่างรวดเร็วมาก

ประสบการณ์ในอดีต

ประสบการณ์ทางด้านสหกรณ์ในประเทศไทยได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2459 ที่จ.พิษณุโลก 

ตามสถิติในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยมีสหกรณ์คงเหลืออยู่ในระบบ 7,043 แห่งที่พยายามดำเนินการไปตามอุดมการณ์ของสหกรณ์ คือ เป็นความร่วมมือกันช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ไขปัญหาในการประกอบอาชีพ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เมื่อจำแนกตาม 7 ประเภทแล้ว ส่วนใหญ่ของสหกรณ์อยู่ในประเภทสหกรณ์การเกษตร (52%) และสหกรณ์ออมทรัพย์ (20%)

*** ตารางที่ 2 *** 

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงผลการดำเนินกิจการของสหกรณ์เหล่านี้ ปรากฏว่าอัตราการยกเลิกสหกรณ์ในประเทศไทยค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัยเช่น สมาชิกยังขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดการมีส่วนร่วมในกิจการสหกรณ์ ขาดวินัยในการเป็นเจ้าของสหกรณ์ ทางฝ่ายคณะกรรมการดำเนินงานก็มีปัญหาการทุจริต แสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ ขาดธรรมาภิบาลในการบริหารงาน ทำให้การบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ 

ข้อบกพร่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับทั้งเจ้าหน้าที่สหกรณ์และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการกำกับดูแลสหกรณ์ โดยเฉพาะที่อยู่ในเขตห่างไกลออกไป 

สหกรณ์ส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจมักมีขนาดเล็ก จึงขาดแหล่งเงินทุน มีปัญหาการตลาด ขาดประสิทธิภาพที่จะแข่งขันกับภาคธุรกิจอื่นรวมถึงพ่อค้าคนกลางหรือนายทุน

ช่องทางแก้ไข

หากวิเคราะห์ลึกลงไปถึงต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ส่วนใหญ่ของไทย จะเห็นได้ชัดว่าปัญหาเหล่านั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่สหกรณ์ไทยส่วนใหญ่มีขนาดเล็กเกินไป (อันสืบเนื่องมาจากการรวมตัวของชุมชนหมู่เล็ก ตามอาชีพ ตามที่อยู่อาศัย) จึงไม่สามารถสร้างฐานเงินทุนที่ใหญ่พอที่จะลงทุนในโรงงานการผลิตขนาดใหญ่ ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่สามารถกระจายประเภทของผลผลิตเพื่อลด ความเสี่ยง ไม่สามารถใช้เทคนิคการตลาดและการโฆษณาที่มีประสิทธิภาพ ขาดการวิจัยและวางแผนล่วงหน้า รวมทั้งขาดการประสานงานระหว่างสหกรณ์ 

ดังนั้น ช่องทางแก้ไขปัญหาพื้นฐานของสหกรณ์ไทยคือ การควบรวมสหกรณ์หลายพันแห่งนี้เข้าด้วยกันเป็นสหกรณ์กลางของผู้มีรายได้น้อย (สกน.) โดยที่ สกน. นี้จะประกอบด้วยหลายฝ่ายตามสาขาวิชาชีพ แต่ก็มีฝ่ายงานกลางวางกลยุทธ์แนวนโยบายบริหาร หรือแนวทางการใช้ทรัพยากรของแต่ละฝ่ายให้สอดคล้องและประสานงานกันในแต่ละปีให้เหมาะสมกับผลผลิตและความต้องการใช้ในตลาดโลก 

สกน. นี้นอกจากจะช่วยทำหน้าที่วางแผนและกระจายผลผลิตให้แก่สหกรณ์หลายประเภทแล้ว ยังจะช่วยทำหน้าที่เป็นกันชนสภาพคล่อง เพิ่มความยืดหยุ่นและกระจายความเสี่ยงให้แก่การผลิต และขยายช่องทางการตลาดให้แก่ผู้มีรายได้น้อยอีกด้วย 

นอกจากนั้น ส่วนลด และ / หรือ เงินปันผลแก่สมาชิกของ สกน. ก็จะช่วยเพิ่มแรงดึงดูดใจลูกค้าและความสามารถให้ สกน. แข่งขันในตลาดได้มากขึ้นอีกด้วย กล่าวโดยสรุปคือ หากสามารถควบรวมสหกรณ์รายย่อยจำนวนมากเข้าเป็น สกน. ก็จะช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานของสหกรณ์ไทยได้ตรงจุด และเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน

ข้อควรระวังที่สำคัญมากสำหรับ สกน. คือ บุคลากร โดยเฉพาะในฝ่ายงานกลางที่วางแนวนโยบายบริหารการใช้ทรัพยากร นอกจากจะต้องเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์แล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์สุจริต มีธรรมาภิบาล และความหวังดีแก่เศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศเสมอด้วย

หากพิจารณาเปรียบเทียบกับประสบการณ์ในต่างประเทศ จะเห็นได้ชัดว่าการเชื่อมโยงสหกรณ์หลายประเภทเข้าด้วยกัน (consolidation) ดังที่เสนอข้างต้นนั้น สามารถก่อให้เกิดผลดีแก่การดำเนินธุรกิจของสหกรณ์เหล่านั้นได้อย่างชัดเจน 

ตัวอย่างเช่น ประเทศอิตาลี เม็กซิโก และสหรัฐ เป็นเพราะโครงสร้างการผลิตสินค้าเพื่อการบริโภค และการส่งออก มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน (interrelationship) อย่างใกล้ชิด 

การบริหารงานสหกรณ์จึงควรกระทำโดยคำนึงถึงทุกแง่มุม (integrated fashion) เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกภาพของการบริหารงานรวม (unified administration) หากการบริหารงานสหกรณ์กระทำแบบแตกแยก (fragmented) อาจก่อให้เกิดข้อขัดแย้งของผลประโยชน์ (conflict of interest) ได้ง่าย ซึ่งอาจลงเอยในแง่ลบสู่ทั้งสองฝ่ายได้ 

องค์กรระหว่างประเทศ (เช่น IFPRI) ยืนยันว่าการรวมตัวทางแนวตั้ง (vertical integration) จะช่วยให้สหกรณ์สามารถแข่งขันได้ดีกว่าเดิม

ในขณะที่การรวมตัวทางแนวนอน (horizontal integration) จะช่วยลดต้นทุนเฉลี่ยผ่านการประหยัดจากขนาดและขอบเขต (economy of scale and scope)

 โดย... ปกรณ์ วิชยานนท์