หนังสือพิมพ์วันพรุ่งนี้ (2)

หนังสือพิมพ์วันพรุ่งนี้ (2)

ทิศทางใหม่ แล้วหนังสือพิมพ์กำลังไปทางไหน? หากสำรวจ ท่าทีของบริษัทหนังสือพิมพ์ค่ายยักษ์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 3 รายใหญ่ (บางกอกโพสต์ เนชั่น

มติชน ) จะพบคำทั้ง 3 ค่ายมีคำตอบแล้ว ดังสะท้อนจากการแจ้งผลการดำเนินงานประจำปี 2559 ต่อผู้ถือหุ้นดังนี้

บางกอกโพสต์ รายงานว่า “บริการสมัครสมาชิกหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ มีผู้เข้าใช้งาน 250,000 ครั้งต่อวัน และสามารถเข้าถึงฐานผู้อ่านรุ่นเยาว์ที่เกาะติดสื่อดิจิทัลมากขึ้น”

ฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ มติชน กล่าวระหว่างประชุมผู้ถือหุ้นว่า ภายใน 1-2 ปีรายได้จากโฆษณาออนไลน์ จะมาทดแทนสื่อสิ่งพิมพ์"

ส่วนค่ายเนชั่นแจงผู้ถือหุ้นว่า “แนวโน้มธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในปี 2560 มีแนวโน้มลดลง ค่าโฆษณาของสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะนิตยสารลดลงต่อเนื่อง ดังนั้นผู้ประกอบการต้องปรับให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการรับรู้ข่าวสารของผู้บริโภคที่เน้นรับรู้ผ่านโทรศัพท์มือถือ”

ท่าทีของ 3 ค่ายใหญ่ ข้างต้น ชัดเจนแล้วว่า หนังสือพิมพ์กำลังหันหัวเรือไปยังสื่อใหม่ เมื่อทิศทางกำลังเปลี่ยนเช่นนี้แล้ว หนังสือพิมพ์ของวันพรุ่งนี้จะมีหน้าตาอย่างไร?

 หนังสือพิมพ์ของวันพรุ่งนี้

หนังสือพิมพ์ของวันพรุ่งนี้จะมีหน้าตาอย่างไร? คำถามคนทำหนังสือพิมพ์พยายามหาคำตอบมาตั้งแต่ก่อนยุคโซเชียลมีเดียจะเฟื่องฟู ความจริงตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ทั้งขยับ และปรับตัว มาแล้วหลายระลอกเพื่อหาทิศทางที่เหมาะสมแต่ดูเหมือนว่ายังไม่มีค่ายใดได้รูปแบบที่ลงตัว หากมองภาพกว้างๆ ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา เราจะเห็นคลื่นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น 3 ระลอก โดยการเปลี่ยนแปลงแต่ละระลอกนั้นคาบเกี่ยวและทับซ้อนกัน

คลื่นระลอกแรก ได้กล่าวถึงบ้างแล้วข้างต้น คือการไหวตัวด้วยการ เปิดเว็บไซด์เสนอข่าวคู่หนังสือพิมพ์ หลังการมาถึงไทยของ “เวิลด์ ไวด์ เว็บ” ในปี 2530 ถัดจากนั้นไม่นานหนังสือพิมพ์หลักๆ ในตลาดเริ่มเปิดเว็บข่าวเช่น www.thannews.th.com ในปี 2538 หรือ www.dailynews.th.com ในปี2541 แต่เว็บไซต์ข่าวไม่ตอบโจทย์เชิงธุรกิจ และอินเทอร์เน็ตยุคนั้นยังไม่มีเค้าว่าจะคุกคามหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ จึงไม่ได้พัฒนาเว็บข่าวอย่างจริงจังอินเทอร์เน็ตถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเสริม หรือ ต่อยอดเป็นธุรกิจอื่น เท่านั้น ปัจจัยหนึ่งเชื่อว่าเพราะช่วงแรกนั้นอินเทอร์เน็ตยังไม่มีลักษณะเครือข่ายเช่นปัจจุบัน

คลื่นระลอกที่ 2 หนังสือพิมพ์บางค่าย เริ่มขยายข้ามสื่อนำเนื้อหา(ข่าว)เสนอผ่าน หน้าปัทม์วิทยุ และหน้าจอทีวี เช่นกรณี ค่ายเนชั่นตั้ง “เนชั่น แชนแนล” (สถานีข่าว 24 ชั่วโมง) แพร่ภาพผ่านยูบีซีในปี 2543 ช่วงเวลานั้นดูเหมือนหนังสือพิมพ์ (รวมทั้งนักปั่นจากตลาดหุ้น) เชื่อว่า “ทีวี” นี่แหละ !!!!คืออนาคต ผนวกกับวิกฤติการเมืองที่ปะทุขึ้นในปี 2549 ได้นำมาสู่ยุคทีวีดาวเทียมช่องข่าว ในช่วงปี 2552-2553 มีทีวีช่องข่าวเกิดขึ้นถึง 7 ช่อง โดย 2 ในนั้นสังกัดค่ายเนชั่น ในปี 2555 เดลินิวส์ทีวีเปิดตัว ไล่เลี่ยกันค่ายมติชนเปิดมิติชนทีวี รวมทั้งค่ายบางกอกโพสต์ เริ่มทำทีวีในช่วงเวลาถัดมา ความสำเร็จของ ”ช่องข่าว” ยิ่งตอกย้ำ ความเชื่อว่าที่ว่า ”ทีวี” นี่แหละคืออนาคตๆ และนำไปสู่การเฮโลเข้าชิงใบอนุญาตทีวีดิจิทัลในปี 2556 ของหนังสือพิมพ์ 4 ค่ายใหญ่ โดย 3 ค่าย (ไทยรัฐ-เดลินิวส์-เนชั่น) สามารถคว้าใบอนุญาตได้ แต่ชัยชนะวันนั้น(รวมทั้งกลุ่มทุนจากสื่ออื่น)กลับนำไปสู่โศกนาฎกรรมคาจอในช่วงถัดมา (มีโอกาสจะเขียนถึง)

ส่วนคลื่นระลอกที่ 3 นั้น ในช่วงที่ ทีวีดาวเทียมเริ่มเบ่งบาน และคลื่นการเปลี่ยนแปลงจาก “ข่าวออนไลน์” ซัดกระหน่ำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ยังมีปัจจัยจากภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยกล่าวคือ ในช่วงปี 2550-2552 กระแสข่าว หนังสือพิมพ์จาก สหรัฐ และยุโรปปิดตัวเองและมุ่งเข้าสู่สื่อออนไลน์สะพัดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับ แนวคิดการบริหารองค์การสื่อใหม่ๆ และศัพท์ใหม่วงการสื่อเริ่มสะพัดเข้ามา อาทิ content provider (ผู้ผลิตเนื้อหา) Newsroom convergence (ทำงานรวมกัน การหลอมรวมทุกสื่อ) Platfrom (รูปแบบการส่งผ่านเนื้อหาผ่านสื่อใหม่) 

ซึ่งหนังสือพิมพ์ค่ายหลักในไทย ล้วนรับแนวคิดนี้เข้ามาปรับใช้เพื่อรับมือกับคลื่นการเปลี่ยนแปลงที่ซัดเข้ามาเพราะขณะนั้นความเป็นเครือข่ายในโลกออนไลน์เริ่มปรากฏชัดแล้ว ตัวอย่างเช่น ปี 2555 ค่ายเนชั่นเปิดตัว คอนเวอร์เจนซ์นิวส์รูม ด้วยวิสัยทัศน์สุดโออ่าว่า “เราต้องขี่ยอดคลื่น” แม้ค่ายมติชนที่ขยายตัวอย่างระมัดระวัง ยังกระโจนลงกระแสนี้เต็มตัว โดยต้นปี 2559 ได้ประกาศยุทธศาสตร์ Matichon moving forward เพื่อรุกสู่ "สนามดิจิทัลอย่างจริงจัง

การปรับตัวระลอกที่ 3 ที่มีการหลอมรวมเป็นแนวคิดหลัก ด้วยการรวมการทำข่าวและช่องทางส่งข่าวสื่อเก่าสื่อใหม่ไว้ด้วยกันนั้น คือกระบวนการ ที่หนังสือพิมพ์ (รวมทั้งทีวี) ยึดเป็นแนวทางปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านด้วยมุมมองที่ว่า "ผู้บริโภคเน้นมารับรู้(ข่าว)ผ่านมือถือ” หากถามว่า เมื่อปรับตัวกันมาอย่างต่อเนื่อง แล้วทำไมหนังสือพิมพ์จึงเผชิญชะตากรรมอย่างที่เห็นในวันนี้ ?

ในความเห็นของผู้เขียนมองว่า สาเหตุหลักมาจาก 1.หนังสือพิมพ์ปรับตัวจริงแต่ยังไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเครือข่ายที่พลิกผันเร็วมาก 2.สื่อบางค่ายลงทุนในทีวีดิจิทัลซึ่งใช้ทุนมหาศาลแต่ผลตอบแทนห่างไกลจากเป้าหมายจึงส่งผลต่อฐานธุรกิจเดิม 

3.ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมามีผลต่อการเม็ดเงินโฆษณา และ 4.ในช่วงเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม สื่อสาละวนกับการเอาตัวรอด ให้ความสำคัญกับการพัฒนานักข่าวยุคดิจิทัล จนเผลอสำรวจ "คุณภาพคน คุณภาพข่าว” ซึ่งเป็นหัวใจความอยู่รอดในยุคข้อมูลข่าวสารที่ต้องการข่าวอ้างอิงอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี แม้ยุทธศาสตร์หลอมรวมสื่อ สามารถนำข่าวเข้าไปอยู่ในคลื่นการเปลี่ยนแปลง และเข้าถึงคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ แต่กระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังไม่ตอบโจทย์รายได้ ทว่าในสถานการณ์ที่การสื่อสารในสังคมไหลรวมไปอยู่ในเครือข่าย โซเชียลมีเดีย ทำให้หนังสือพิมพ์ สื่อเก่าแก่ ที่อยู่คู่สังคมไทยมานับแต่ บางกอกรีคอเดอวางจำหน่ายเมื่อปี 2387 ยากปฏิเสธหรือเลี่ยงกระแสนี้ 

และในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถทิ้งสื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์ เพราะถึงรายได้จากโฆษณาอินเทอร์เน็ตเติบโต อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ (ปี 2559 มีโฆษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต 1,731 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 64 %)แต่มีสัดส่วนเพียง 2 % ของอุตสาหกรรมเท่านั้น การเลิกหนังสือพิมพ์แบบฉับพลันไม่ต่างจากการฆ่าตัวตาย

นอกจากนี้ พลเมืองที่เกิดก่อนปี2522 หรือคนรุ่นเจนเอ็กซ์ขึ้นไป (ซึ่งจะเป็นหัวหอกนำสังคมไทยสู่สังคมผู้สูงวัยในปี 2567 ) ที่มีประสบการณ์อ่านหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟที่ถูกส่งเวียนไประหว่างโต๊ะจนกระดาษช้ำ ยังเป็นตลาดสำคัญของหนังสือพิมพ์ หากโดยปัจจัยและเงื่อนไขที่กล่าวมานั้นชี้ว่า ตลาดหนังสือพิมพ์จะอยู่ในสภาพทรงๆ ตรงข้ามกับการอ่านข่าวผ่านโซเชียล ที่แนวโน้มจะขยายตัวออกไปตามพฤติกรรมสังคมวันนี้ รวมถึงแรงขับเคลื่อนของความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเครือข่าย สภาพการณ์วงการหนังสือพิมพ์ เหมือนมีสองโลกควบคู่กัน คือ กระดาษ กับ เครือข่ายสังคม ไม่ต่างจากภาคการเงินที่สังคมเงินสดคงไม่หายไปชั่วข้ามคืนแม้จะมีคิวอาร์โค้ด หรือ การค้าปลีกถึงอีคอมเมิร์สจะรุ่งเรืองแต่ร้านโชห่วยก็ยังอยู่คู่ชุมชน เป็นต้น

วันพรุ่งนี้ …. หนังสือพิมพ์ยังคงอยู่ แม้แผงขายหนังสือย่อยริมถนนอาจจะหายากขึ้น รูปเล่มบางลง ข่าวพาดหัวไม่ใช่ข่าวใหม่เหมือนในอดีต แต่เงื่อนไขทั้งหมดไม่ใช่ปัญหาสำหรับกลุ่มคนอ่านที่ยังรื่นรมย์กับการพลิกอ่านข่าวไปมา เพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง และประเมินความสำคัญของเหตุการณ์ จากขนาดข่าวที่กองบรรณาธิการจัดวางตามคุณค่าข่าว แต่ในขณะเดียวกันคนอ่านข่าวอีกกลุ่มจะเลือกอ่านข่าวบนโซเชียลจากการแจ้งเตือนหรือแชร์วนมา ปรากฏการณ์ดังกล่าว คือสัญญาณว่า ยุคหลังหนังสือพิมพ์ นั้นมาถึงแล้ว

 

โดย....ชญานิน ศาลายา