อิทธิพลครอบงำญี่ปุ่น: เมจิถึงปัจจุบัน (2)

อิทธิพลครอบงำญี่ปุ่น: เมจิถึงปัจจุบัน (2)

ปี 1866 โชกุน โทกุงาวา อิเอโมจิ (徳川家茂) เสียชีวิตในเดือนมิ.ย.ตามติดกันมาด้วยการเสด็จสวรรคตของพระจักรพรรดิโคเมอิในเดือนธ.ค.

ทาคาโมริถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายลอบปลงพระชนม์ทันที ทั้งๆ ที่ปรากฏภายหลังว่าฝ่ายโจชูมีนางในของฝ่ายตนที่ลอบปลงพระชนม์เองด้วยยาพิษใส่ในพระโอสถ 

อิทธิพลครอบงำญี่ปุ่น: เมจิถึงปัจจุบัน (2)

ปี1867 พระจักรพรรดิเมจิขึ้นครองราชย์ ในขณะที่อำนาจของพันธมิตรโจชู-สัทสึมะแผ่ปกคลุมทั่วเกียวโต 

ฮิโตสึบาชิ โยชิโนบุ ซึ่งกลายมาเป็นโชกุนโทกุงาวา โยชิโนบุในปีเดียวกันไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการถวายคืนพระราชอำนาจให้พระจักรพรรดิเมจิ ทรงพระบรมราชวินิจฉัยถึงระบบการบริหารราชการบ้านเมืองแทนระบบโชกุน (大政奉還 หรือ ไทเซอิโฮคัง) ซึ่งเป็นการลดแรงกดดันของฝ่ายตรงข้ามแต่โชกุนยังคงมีตำแหน่งหรืออำนาจอยู่ในฝ่ายบริหารของพระจักรพรรดิได้ 

แต่ฝ่ายโจชู-สัทสึมะไม่ได้พอใจเพียงเท่านั้น พวกเขายื่นคำขาดใน 2 เดือนต่อมาให้ โยชิโนบุ ทาคาโมริ และ ซาดาอากิ ซึ่งมีตำแหน่งโชกุน ชุโงะโชขุ และ โชะชิได ตามลำดับลาออกจากตำแหน่งทั้งหมดโดยให้โชกุนหมดซึ่งศักดินาทั้งหมดด้วย ซึ่งเรียกว่า 王政復古 (โอเซอิฟุคโขะ) หรือ พระราชอำนาจกลับคืนสู่ดั้งเดิมแบบสมัยโบราณ 

บุคคลเจ้าของความคิดนี้ก็คือ 岩倉具視 (อิวาคุระโทโมมิ) บุคคลสำคัญของรัฐบาลเมจิในภายหลังอีกผู้หนึ่ง หลังจากนั้น ไซโก ทาคาโมริเป็นผู้อยู่เบื้องหลังให้นักรบฝ่ายโจชู-สัทสึมะก็ตามรังควานฝ่ายอะอิทสึหนักข้อขึ้นทุกวัน ทาคาโมริขอให้โยชิโนบุปราบปราม แต่โยชิโนบุปฏิเสธและกลับไปเอโดะในสิ้นปีนั้นเอง 

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายโจชู-สัทสึมะยังคงก่อกวนอย่างต่อเนื่องในเกียวโต อันเป็นแผนที่วางไว้เพื่อหลอกล่อให้มีการปราบปรามอยู่แล้ว ซึ่งกองกำลังใหม่หรือ新撰組 ที่ยังคงอยู่ในเกียวโตก็ต่อสู้เป็นสามารถ อีกทั้งสามารถสืบทราบที่อยู่ของซากาโมโต ริวมะที่โรงแรม近江屋บริเวณ河原町(โออุมิยะของคาวารามาจิ) ได้และลอบสังหารร่วมกับพวกอีก 2 คน ความวุ่นวายยังลุกลามไปถึงเอโดะ นักรบพเนจรปล้นสะดม แม้แต่ร้านค้าประชาชนผู้บริสุทธิ์ (คุ้น ๆ) 

เดือนธ.ค. 1867 โชกุนจึงส่งกำลังทหารบุกเข้าทาง伏見กับ鳥羽(ฟุชิมิกับโทบะ) ของเกียวโต แต่ว่าด้วยกำลังอาวุธสมัยใหม่ และยุทธวิธีแบบตะวันตกที่เรียนรู้มา ฝ่ายโจชู-สัทสึมะจึงสามารถเอาชนะกำลังฝ่ายโชกุนได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ในการนี้ตระกูลต่าง ๆ ที่เคยอยู่ฝ่ายโชกุนก็ทำการแปรพักตร์ด้วย กำลังฝ่ายโชกุนถอยร่นจากเกียวโตไปทางโอซาก้า ในขณะนั้น โชกุนโยชิโนบุ ทาคาโมริ ซาดาอากิ ต่างก็อยู่ในโอซากา และได้ขอให้กำลังทหารทำการต่อสู้ต่อไป แต่ในคืนนั้่นเอง ทั้งสามคนรวมทั้งผู้อาวุโสฝ่ายโชกุนต่างลงเรือหนีออกไปจากโอซากาทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาดในญี่ปุ่นที่แม่ทัพหนีเอาตัวรอดไป 

ในตอนนี้เอง ฝ่ายโจชู-สัทสึมะจึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทำการปราบฝ่ายโชกุน กล่าวคือ ฝ่ายกบฏกลายเป็นฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายรัฐบาลในอดีตกลายเป็นฝ่ายกบฏ 

ที่จริงแล้วฝ่ายสัทสึมะเคยขอพระราชทานพระบัญชาให้ปราบฝ่ายตรงข้ามจากพระจักรพรรดิเมจิตั้งแต่วันแรกของการขึ้นครองราชย์เลยทีเดียว แต่ก็ไม่ได้มา 

หลังจากนั้นหลาย ๆ เหตุการณ์อาจไม่ได้รับหรืออาจได้รับ หรืออาจอยู่ในรูปพระบรมราชโองการทั้งจริงทั้งปลอมบ้าง ทั้งหมดนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าพระจักรพรรดิไม่ได้ทรงมีพระราชอำนาจที่แท้จริง

ดังนั้น การเร่งรัดพัฒนาประเทศในสมัยเมจิเพื่อให้เศรษฐกิจและกำลังทหารเข้มแข็ง จึงไม่ได้มาจากพระปรีชาสามารถของพระจักรพรรดิเมจิตามที่เขียนกันไว้ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

อิทธิพลครอบงำญี่ปุ่น: เมจิถึงปัจจุบัน (2)

หลังจากโยชิโนบุกลับไปถึงเอโดะหลังปีใหม่ของ 1868 ก็แสดงตัวว่าไม่มีความปรารถนาที่จะต่อต้านฝ่ายรัฐบาลใหม่ โดยการขังตัวเองอยู่ในวัดคันเอจิของบริเวณอุเอโนะ (上野の寛永寺) ในปัจจุบัน ส่วนทาคาโมริก็เดินทางกลับอะอิทสึ 

ทาคาโมริเองก็มีความตั้งใจที่จะแสดงเจตนาไม่ต่อต้าน เมื่อได้มีการปรึกษากับเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงก็ได้ยื่นหนังสือต่อเซรา ชิวโซ (世良修蔵) เสนาธิการของกองบัญชาการกองกำลังโอโออุ แต่ได้รับการปฏิเสธ 

สาเหตุก็คือ ตระกูลอะอิทสึในฐานะของชุโงะโชขุแห่งเกียวโต ถือเป็นก้างขวางคอชิ้นใหญ่ของโจชูในเกียวโตตามแผนการล้มโขกุนโทกุงาวา อันมีที่มาจากความแค้นตามลำดับเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ถูกกระทำจากโทกุงาวา ตั้งแต่การลดศักดินาด้วยความเป็นฝ่ายตรงข้ามในสงครามแย่งชิงตำแหน่งโชกุน ระหว่างโตโยโดมิกับโทกุงาวา การกำหนดสร้างเมืองใหม่ในที่ลำบาก ผู้ปกครองของตระกูลถูกปลดหลังจากแพ้สงครามกับประเทศตะวันตก ตลอดจนการแย่งชิงอำนาจครั้งสุดท้ายในสมัยเมจิ ฝ่ายอะอิทสึเองถือว่ามีต้นตระกูลมาจากโทกุงาวาและความยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อเบื้่อง บน จึงปฏิบัติหน้าที่สนองพระเดชพระคุณอย่างถึงที่สุด 

ดังนั้น ฝ่ายโจชูจึงต้องการขยี้อะอิทสึให้แหลกลาญให้สมกับความแค้นที่มีมายาวนาน ฝ่ายพันธมิตรของโอโออุ ก็ชิงชังเซราที่ปฏิเสธการยอมแพ้จึงลอบสังหารในเวลาอันรวดเร็ว 

การลอบสังหารนี้เป็นกำลังใจให้ลุกขึ้นต่อต้านฝ่ายรัฐบาลใหม่ แต่ก็ไม่อาจต้านทานกับอาวุธ และการรบสมัยใหม่ได้ จนกระทั่งต้องหนีและรวมกำลังต่อต้านอยู่ภายในกำแพงเมืองอะอิทสึ ผู้หญิงและเด็กที่คิดว่าจะเป็นภาระแก่นักรบก็พากันฆ่าตัวตายเป็นเบือ ฝ่ายที่ปักหลักภายในกำแพงเมืองก็ต่อสู้เป็นสามารถ แม้ว่าจะต้องเผชิญปืนใหญ่ทันสมัยล่าสุดที่มีอานุภาพถล่มอย่างรุนแรง 

แต่ในท้ายสุดหลังจากต้านทานอยู่ได้กว่า 1 เดือน ทาคาโมริก็สั่งให้ยอมแพ้ ทาคาโมริกับบุตรชายถูกขังในเมืองห่างไกลคนละเมือง ส่วนพ่อบ้านไซโก ทาโนโมะ หนีไปทางเมืองด้านเหนือ กลายเป็นผู้ทำพิธีในศาลเจ้า และ มีชีวิตอยู่จนเลยยุคเมจิ แต่ครอบครัวของเขาฆ่าตัวตายทั้งหมด 21 ศพ ส่วนประชาชนถูกเนรเทศไปบริเวณที่เรียกว่า โทะนามิ หรือ斗南หรือจังหวัดอาโอโมริ ปัจจุบัน อันเป็นที่หนาวเย็นรกร้างและพืชพันธุ์ขึ้นได้ยาก 

สงครามนี้เรียกว่า สงครามอะอิทสึ หรือ会津戦争ซึ่งถือได้ว่า เป็นโศกนาฏกรรมโดยแท้ที่ชาวเมืองนี้ต้องประสบกับชะตากรรมด้วยความที่ผิดที่ผิดเวลา 

ในระหว่างสงครามอะอิทสึ หรือปี 1868 นั่นเอง พระจักรพรรดิได้ทรงประกาศโครงสร้างการบริหารประเทศ ซึ่งประกอบด้วย สมุหนายก หรือ 太政官 (ไทเซอิคัน) เป็นผู้สั่งการและมีสภาบนกับสภาล่าง สภาบนหรือ 議政官 (งิเซอิคัน) มีหน้าที่ตัดสิน และกำหนดแนวทางการบริหารราชการ ประกอบด้วย โคมัทสึโนะมิยะ, นากายามา ทาดากาสึ, มัทสึไดรา ชุนงาขุ,  ชิมัทสึ ทาดาโยชิ,  โทกุงาวา โยชิคัทสึ,  ยามาอุจิ โยโด,  ยามาชินะโนะมิยะ, ซันโจ ซาเนนารุ,  นากาโนะมิกาโดะ สึเนยุกิ, อาซาโนะ นางาโคโตะ, ซันโจ ซาเนโทมิ,  อิวาคุระ โทโมมิ,  ดาเตะมุเนนาริ,  นางาทานิ โนบุอาสึ 

ในจำนวน 14 ท่านนี้ ชื่อที่ขีดเส้นใต้คือผู้ที่มีตำแหน่งในฝ่ายบริหารตั้งแต่พระจักรพรรดิองค์ก่อน สภาล่างเป็นสภาที่ปรึกษาประกอบด้วยเจ้าเมืองตระกูลต่าง ๆ ดังนี้ โคมัทสึ คิโยคะโด (สัทสึมะ) โอโอคุโบ โตชิมิจิ (สัทสึมะ) ดิโด ทาคาโยชิ (โจชู) ฮิโรซาวา ซาเนโอมิ (โจชู) โงโต โชยิโร (โดสะ) ฟุกุโอกะ ทาคาจิคะ (โดสะ) โซเอยิมะ ทาเนโอมิ (ซางะ) โยโกอิ โชนัน (คุมาโมโต) ยุริ คิมิมาสะ (ฟูกุอิ) 

ปี 1869 คิโต ทาคาโยชิ กับ โอโอคุโบ โทชิมิจิ สั่งการให้ยกเลิกระบบเจ้าเมือง และเปลี่ยนเป็นระบบจังหวัด นัยสำคัญก็คือการเปลี่ยนเส้นทางของรายได้และความมั่งคั่งจากเมืองมาสู่รัฐบาลกลาง ซึ่งในขณะนั้นได้โอนหนี้ค่าใช้จ่ายการทำสงครามของเมืองสัทสึมะ-โจชู เข้าสู่รัฐบาลกลางนั่นเอง

 แต่ว่าแนวทางหลาย ๆ เรื่องไม่เป็นที่พอใจของเจ้าเมืองที่อยู่ในทั้งสองสภาและทั่วไป และเกิดมีการต่อสู้จลาจลย่อย ๆ อยู่ทั่วไป ส่วนสัทสึมะกลายเป็นตระกูลที่มีกองทัพที่เกรียงไกรที่สุด จนกระทั่งอิวาคุระโทโมมิ ต้องนำคณะโจชูเจรจากับสัทสึมะ ให้ทำการค้ำอำนาจของรัฐบาล ในปีเดียวกันการบริหารในรูปกระทรวงต่าง ๆ 6 กระทรวงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความรีบเร่งในการจัดตั้งระบบการปกครองประเทศ ฝ่ายบริหารไม่ให้ความสนใจต่อความยากลำบากของประชาชน จึงเกิดการลุกฮือต่อต้านในหลาย ๆ ท้องถิ่น ในจำนวนนั้นที่สำคัญได้แก่การนำของไซโก ทาคาโมริ วีรบุรุษผู้ประสาน สัทสึมะ-โจชู ในปี 1874 ที่ต่อสู้จนเสียชีวิต 

ระหว่างปี 1881–1884 การต่อสู้ทางความคิดของแนวทางรัฐธรรมนูญจบลงด้วยชัยชนะของกลุ่ม อิโนอุเอะ คาโอรุ (井上馨) อิโต ฮิโรบุมิ (伊藤博文) และ อิวาคุระ โทโมมิ (ฝ่ายโจชูทั้งหมด/อีกแล้ว) ที่ยึดแนวทางแบบเยอรมัน 

อิโต ฮิโรบุมิกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งมหาจักรวรรดิญี่ปุ่น และคณะรัฐมนตรีชุดแรกก็แน่นอน ประกอบด้วยบุคคลจากสัทสึมะ-โจชู อย่าง คุโรดะ คิโยทาคะ หรือ 黒田清隆 (สัทสึมะ) และ ยามางาตะ อาริโทโม หรือ 山県有朋 (โจชู) ซึ่งถือเป็นบิดาแห่งกองทัพญี่ปุ่น 

นายกรัฐมนตรีอาเบะ ชินโซ เป็นชาวยามางูจิ (โจชู) โดยกำเนิด ลูกเขยอดีตนายกรัฐมนตรี กิชิ โนบุสุเกะ (ชาวยามางูจิ) อาชกรสงครามที่ได้รับการปล่อยตัว อดีตนายกรัฐมนตรีชาโต เออิซากุ ก็เป็นน้องชายของกิชิโนบุสุเกะ 

ความสัมพันธ์ทางเชื้อสายคงจะบอกการสืบต่ออำนาจทางการเมืองและอิทธิพลที่ครอบงำญี่ปุ่นตั้งแต่เมจิมาจนถึงปัจจุบันได้เป็นนัย ๆ ตามสมควรว่ามาจากไหน