การประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย ยาขมที่ต้องกิน

การประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย ยาขมที่ต้องกิน

ารประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัยได้รับทั้งคำติและคำชมจากหลายฝ่ายในแวดวงการศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย ประเด็นที่ได้รับการติมากที่สุดคือการเพิ่มภาระงาน แต่อาจไม่ได้ทำให้คุณภาพของมหาวิทยาลัยและบัณฑิตที่จบออกไปดีพอ ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ก็เลยมีหลายคนคิดกันออกมาดังๆ ว่า ถ้าทำแล้วไม่ได้ผล แถมเป็นภาระกับคนอื่น งั้นก็อย่าทำจะดีกว่าไหม

เรื่องการประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องใหม่ สังคมไทยมีการประเมินเรื่องนี้มาตั้งนานแล้ว จะส่งลูกไปเรียนที่ไหน พ่อแม่ก็ต้องสอบถามคนที่พอจะเชื่อถือได้ว่า มหาวิทยาลัยไหนมีชื่อเสียงในเรื่องที่ลูกอยากจะเรียน มีการหาข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพการเรียนการสอนและการเอาใจใส่นักศึกษา มีการเช็คกับเพื่อนฝูงว่าจบไปแล้วมีงานทำหรือเปล่า ได้เงินเดือนระดับไหน

จะว่าไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับเกณฑ์ที่ใช้กันในตอนนี้สักเท่าไหร่ เพียงแต่ปัจจุบันนี้ มีการให้คะแนนเป็นตัวเลข มีการให้น้ำหนักกับปัจจัยต่างๆ ชัดเจนกว่าการประเมินปากเปล่าเท่านั้นเอง

การประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย มีส่วนที่คล้ายกับการประกวดนางงาม คนดู ผู้เข้าประกวด กับกรรมการอาจมีความเห็นไม่ตรงกันได้ เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพียงแต่ ผู้ตัดสินต้องชี้แจงให้ได้ว่าเหตุใดจึงให้คะแนน ในแต่ละเรื่องเท่านั้นเท่านี้ หากใครเห็นแตกต่างออกไป ก็ต้องอธิบายว่าเหตุใดจึงเห็นต่าง และต้องชัดเจนว่าไม่ได้เป็นการโต้แย้งเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก

ตัวอย่างเช่น หากการประเมินมหาวิทยาลัยใช้เกณฑ์ว่า จะต้องเอาคะแนนของทุกวิทยาเขตมารวมกันเพื่อหาค่าเฉลี่ย การที่มหาวิทยาลัยของรัฐที่มีวิทยาเขตมากกว่าหนึ่งแห่ง ทำให้คะแนนการประเมินโดยรวมของมหาวิทยาลัยไม่สูงเท่าที่ควร อธิการบดีเลยออกมาโต้แย้งว่า เป็นเรื่องไม่เป็นธรรม เพราะการขยายวิทยาเขตเป็นการทำตามนโยบายของรัฐบาล โดยไม่ได้รับงบประมาณเพิ่มเลย

ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ วิทยาเขตแห่งนี้อยู่ภายใต้การบริหารของผู้บริหารชุดเดียวกันหรือไม่ ยังใช้ชื่อของมหาวิทยาลัยเดิมเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักศึกษาหรือเปล่า 

ถ้ายังเป็นผู้บริหารชุดเดิม ใช้ชื่อมหาวิทยาลัยต้นสังกัดมาเป็นจุดขาย ยังต้องพึ่งพาเงินงบประมาณจากมหาวิทยาลัยต้นสังกัด ก็ไม่ควรจะประเมินคุณภาพเป็นรายวิทยาเขต เพราะหากเงื่อนไขเหล่านี้เป็นจริง แม้ว่าวิทยาเขตจะอยู่ในต่างจังหวัด แต่ในแง่การบริหารจัดการแล้ว การจัดตั้งวิทยาเขตในต่างจังหวัดแบบนี้ ไม่ได้มีความแตกต่างจากการไปตั้งวิทยาเขตอีกฟากหนึ่งของถนนหน้ามหาวิทยาลัยเดิม

สิ่งที่ต้องตระหนักคือ หัวใจของการประเมินคุณภาพ ไม่ได้ทำเพื่อจับผิด ทุกมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันจะถูกนำมาวัดด้วยมาตรฐานเดียวกันหมด เพื่อให้รู้ว่าจุดยืนของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งอยู่ตรงไหน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับมหาวิทยาลัยเสียด้วยซ้ำ เพราะการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ เป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในเชิงสร้างสรรค์

โดยหลักแล้ว มีประเด็นสำคัญ 3 เรื่องที่จะทำให้การประเมินได้รับการยอมรับ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง

ประเด็นแรก คือ เกณฑ์การประเมินที่ใช้ควรมีความยืดหยุ่นพอ เพื่อให้สอดคล้องกับภาระกิจหลักของมหาวิทยาลัยซึ่งมีเป้าหมาย และแนวทางแตกต่างกันในการผลิตบัณฑิต การให้บริการวิชาการ การวิจัย และการทำนุบำรุงวัฒนธรรมศิลปวัฒนธรรม แต่ต้องไม่ยืดหยุ่นมากเกินไปจนทำให้ไม่มีมาตรฐานกลางที่เชื่อถือได้ 

นอกจากนี้ กรรมการผู้ประเมินควรมีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกันเพื่อไม่ให้ผู้ถูกประเมินรู้สึกว่ามีการได้เปรียบเสียเปรียบเกิดขึ้น ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ แนวทางที่ใช้มีการปรับให้ดีขึ้นมากแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ประเด็นที่สอง คือ การทำความเข้าใจกับมหาวิทยาลัยและสังคมว่า การประเมินคุณภาพไม่ใช่การจัดอันดับมหาวิทยาลัย ทุกมหาวิทยาลัยมีสิทธิได้คะแนนเต็มเท่ากันหมด การประเมินแต่ละครั้ง เป็นการวัดว่าตอนนี้มหาวิทยาลัยมีพัฒนาการมากน้อยแค่ไหน เป็นการกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยแข่งขันกับตัวเองและมหาวิทยาลัยอื่นไปพร้อมกัน

ประเด็นที่สาม คือ ควรมีการเผยแพร่ผลการประเมิน ในแต่ละด้านให้สังคมได้รับรู้ เช่นเดียวกับการประกาศคะแนนสอบระดับชาติอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลในการตัดสินใจในการเรียนต่อ นายจ้างมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจจ้างบัณฑิต

การประเมินคุณภาพเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะถึงแม้จะเป็นยาขมที่กลืนยาก แต่ขนาดมีการประเมิน ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมาก็ยังมีข่าวมหาวิทยาลัยทำ “ชื่อเสีย” ให้กับวงการอุดมศึกษาเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ แถมยังมีการหาช่องโหว่เพื่อเอาตัวรอด จนเกิดความเหลื่อมล้ำในเชิงคุณภาพอย่างเห็นได้ชัด 

การประเมินที่ถูกต้องและสังคมได้รับรู้จะเป็นกลไกหนึ่งในการยกระดับการพัฒนาคนระดับอุดมศึกษาเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้

จริงๆ แล้ว คนไม่สะดวกให้ประเมินที่สุดคงมีแค่หยิบมือเดียว ซึ่งเดาเอาว่าน่าจะเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ทำงานแบบขอไปที หวังหลอกขายกระดาษแผนหนึ่งซึ่งเรียกว่า ปริญญา