Distributed Generation ระบบไฟฟ้ายุค 4.0

Distributed Generation ระบบไฟฟ้ายุค 4.0

Distributed Generation ระบบไฟฟ้ายุค 4.0

ผมเคยเข้าสัมมนาของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยครั้งหนึ่ง ซึ่งวิทยากรท่านได้เล่าถึงการพัฒนาของระบบต่างๆ ในโลกยุค 4.0 ว่า เรื่องราวปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กับการทำน้ำแข็ง เมื่ออดีตสมัยรัชกาลที่ 5 ในยุคนั้นเราจะต้องนำเข้าน้ำแข็งมาจากสิงคโปร์ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ จนกระทั่งเมืองไทยเริ่มมีโรงน้ำแข็งตั้งอยู่ตามหัวเมือง การจะได้น้ำแข็งเป็นก้อนๆ จะต้องผลิตจากโรงน้ำแข็ง แล้วส่งไปขายตามร้านขายของชำ แต่ในปัจจุบันนี้เราสามารถทำน้ำแข็งได้จากตู้เย็นในบ้าน เพียงแค่นำน้ำใส่เข้าไปในช่องแช่แข็งก็ได้น้ำแข็งออกมาเป็นก้อนแล้ว แม้จะทำน้ำแข็งได้เองโดยง่าย แต่คนก็ยังนิยมซื้อน้ำแข็งแพ็คจากร้านสะดวกซื้อ

ผมอุปมาอุปมัยเรื่องน้ำแข็งเฉกเช่นกับระบบไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งจะมีแนวทางการพัฒนาคล้ายๆ กับการผลิตน้ำแข็ง กล่าวคือ จากเดิมที่เคยผลิตในปริมาณมากๆ ตามโรงน้ำแข็งใหญ่ๆ แล้วมีการขนส่งไปยังยี่ปั๊วๆขายต่อให้ร้านขายของชำตามลำดับ การผลิตไฟฟ้าก็จะคล้ายๆ กัน เริ่มจากต้องมีโรงผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ผลิตไฟฟ้าขึ้นมาก่อน แล้วส่งผ่านสายส่งไฟฟ้าไปตามสถานีไฟฟ้าย่อย แล้วจึงกระจายไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วน แนวโน้มต่อไปอาจเปลี่ยนเป็นว่า แต่ละบ้านจะสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ โดยหลักการคือผลิตจากโซลาร์รูฟท้อปบนหลังคา หรือบางที่อาจจะผลิตจากความร้อนใต้ดินในโรงรถ ซึ่งในเบื้องต้นเริ่มจากผลิตเพื่อใช้เองเมื่อมีเหลือจะจ่ายเข้าสู่ระบบเพื่อขายไฟฟ้าให้กับคนอื่น 

ในโลกยุค 4.0 เราเรียกระบบไฟฟ้าแบบนี้ว่าระบบ “Distributed Generation” ซึ่งลักษณะการจ่ายไฟฟ้าที่ว่านี้จะทำให้เกิดการจ่ายไฟฟ้าที่ไม่เป็นระบบและไร้ทิศทางที่แน่นอนมากยิ่งขึ้น หรือเรียกว่าเกิดการจ่ายไฟฟ้าแบบ Random Walk โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไปถึงจุดที่เกิดการขายไฟฟ้าได้อย่างอิสระ หรือที่เรียกว่า Peer-to-Peer ผ่านระบบจัดการแบบ Blockchain ก็จะทำให้ระบบจ่ายไฟฟ้าในบ้านเราเกิดขึ้นอย่างง่ายดายและรวดเร็ว เหมือนกับการเล่น Line หรือ Whatsapp ที่สามารถสื่อสารได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องมีศูนย์กลางการกระจายข้อมูล ต่างกับสมัยก่อนที่ต้องเอาข่าวไปส่งโรงพิมพ์หรือสถานีวิทยุกระจายเสียง เพื่อกระจายให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังทราบ แต่การสื่อสารสมัยนี้จะมีลักษณะคล้ายกับ “ใยแมงมุม” ที่ข้อมูลสามารถส่งผ่านไปได้ในทุกที่ทุกทิศทางแบบไร้ขีดจำกัด

อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่จะเกิดขึ้น คือ การบริหารจัดการทางด้านอุปสงค์หรือ Demand Response หรือ Demand Side Management ที่จะมีวิธีการจัดการเพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าลดการบริโภคในช่วงที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟเป็นจำนวนมาก หรือที่เรียกว่าช่วง Peak Load แล้วนำไฟฟ้าในส่วนที่ตัวเองเคยใช้ในช่วงเวลานั้นๆ ไปเป็นโควต้าให้กับคนอื่นที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเสมือนหนึ่งว่ามีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเข้ามาในระบบ เราเรียกวิธีการจัดการแนวนี้ว่า Virtural Power Plant หรือ VPP แม้กระทั่งแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งในอนาคตอาจจะเอามาเป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าชั่วคราวชนิดใหม่หรือเป็น VPP ได้ด้วยเช่นกัน

ระบบการจ่ายไฟฟ้ายุค4.0ที่ว่านี้ ภาครัฐจำเป็นต้องปรับทิศทางการให้บริการด้านธุรกิจไฟฟ้า โดยพิจารณาทบทวนปรับลดแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และโครงสร้างระบบส่งที่ไม่จำเป็นในระยะยาว แล้วหันมาปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความ Smart เพื่อรองรับเทคโนโลยีการผลิตและบริหารจัดการระบบไฟฟ้าใหม่ๆ ได้ดียิ่งขึ้น และอาจจำเป็นจะต้องปรับรูปแบบธุรกิจจากเดิมที่เน้นรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเป็นหลัก เป็นการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและบริการการเพิ่มเสถียรภาพของกระแสไฟฟ้าในระบบ

ผมมองว่าในอนาคตระบบไฟฟ้าของประเทศไทยจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่จากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างแน่นอนเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆในยุคเศรษฐกิจ 4.0 ครับ