การเลือกตั้ง: ความคิด“นักการเมืองอีสาน"84ปีที่แล้ว *

การเลือกตั้ง: ความคิด“นักการเมืองอีสาน"84ปีที่แล้ว *

ครูอ่ำ บุญไทย ผู้สมัครเป็นผู้แทนราษฎร อุบลราชธานี ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้เขียนหนังสือ “กฤดาการบนที่ราบสูง”เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงของท่า

หนังสือเล่มนี้อุดมไปด้วยความรู้ในทางการเมืองที่ดูเหมือนว่า มีนักการเมืองแห่งดินแดนอีสานในปัจจุบันน้อยคนที่จะมีภูมิปัญญาอย่างท่าน ทั้งๆที่สมัยก่อน โอกาสในการศึกษาหาความรู้ก็ดูจะยากลำบากกว่าสมัยนี้ สมัยนี้มีสื่ออิเลกทรอนิคและเทคโนโลยีการศึกษาที่ช่วยในการค้นหาข้อมูลความรู้อย่างสะดวกดาย แต่ก็ไม่ทราบว่า บรรดานักการเมืองลูกหลานครูอ่ำ บุญไทย เอาเวลาไปทำอะไรเสียหมด เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นเวลา ๘๔ ปี ลุ่มๆดอนๆ ผู้แทนราษฎรมีหน้าที่อะไร ?

ถ้าไม่รู้แน่ว่า ผู้แทนราษฎรมีหน้าที่อะไร ? และควรมีลักษณะอย่างไร ? ผู้เขียนแนะนำว่า น่าจะลองหันกลับไปดู ผู้สมัครเป็นผู้แทนราษฎรของไทยยุคแรกเริ่มในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ อย่างครูอ่ำ บุญไทยดูบ้าง หนังสือของครูอ่ำเป็นกระจกเงาสะท้อนนักการเมืองบ้านเราในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี !

ในหน้าที่ ๑๑ ของหนังสือ “กฤดาการบนที่ราบสูง” ครูอ่ำได้กำหนด “ลักษณะผู้แทนราษฎร” ที่ควรจะเป็นไว้ ๔ ประการดังนี้คือ ๑) เป็นผู้เข้าใจแก่นแห่งความดี ๒) เป็นผู้ทราบว่าความต้องการในที่สุดคืออะไร ? ๓) เป็นผู้อ่านโลกออก ๔) ลักษณะอื่นๆของผู้แทน

ครูอ่ำอธิบายความหมายของการ “เป็นผู้เข้าใจแก่นแห่งความดี” ไว้ดังนี้: “นักปราชญ์ในทางปรัชญามักจะสร้างประเทศขึ้นในแดนแห่งความนึก ว่าถ้าตนนิรมิตประเทศขึ้นได้ควรจะให้อะไรเป็นอย่างไรจึงจะดีที่สุด ท่านมหาปราชญ์เพลโตได้สร้างประเทศขึ้นอันหนึ่งเหมือนกัน ประเทศที่ท่านสร้างขึ้นนั้นมีนักปราชญ์ทั้งโลกชมว่า ประเสริฐที่สุด ในหนังสือ ‘เรปูลิค’ (Republic) ของเพลโต ซึ่งอธิบายถึงประเทศที่ท่านสร้างขึ้นนั้น ท่านอธิบายว่า พลเมืองดีของประเทศนั้นคือ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ให้สมบูรณ์  นี้เป็นความจริงที่สุด ถ้าชาวนาเห็นว่าอาชีพอันเป็นหน้าที่ของตนไม่ดี อยากเป็นกษัตริย์เสียหมด ประเทศก็จะวุ่นขึ้นทันที หรือถ้าทหารเห็นว่าหน้าที่ทหารอันเป็นอาชีพของตนนั้นไม่ดี มาเป็นพ่อค้าเสียหมด ประเทศก็จะวุ่นขึ้นทันที เพลโตเห็นว่า อาชีพของใครๆนั้นดีทั้งนั้น จงทำให้สมบูรณ์เถิด ผู้พิพากษาต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ดีอย่าเห็นแก่สินบน เมื่อต่างยอมตายเพื่อหน้าที่อย่างเคร่งขลังแล้วไซร้ นั่นคือ ประเทศอันเลิศในโลก และนั่นคือ ความดี” 

ดูเอาเถิด ท่านผู้อ่านใน พ.ศ. ๒๕๖๐ ! คำอธิบายเรื่อง “ความเข้าใจในแก่นแห่งความดี” ของผู้สมัครเป็นผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชอย่างครูอ่ำ บุญไทย ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ นี้ทำให้นักการเมืองของไทยไม่น้อยหน้าสากลโลกเลย กล่าวได้ว่า ถ้าในสมัยนั้น มีใครแปลหนังสือเล่มนี้ของครูอ่ำเป็นภาษาอังกฤษ และส่งถึงมือสื่อมวลชนตะวันตกในสมัยนั้น เชื่อว่า บรรดาสื่อต่างชาติเหล่านั้นย่อมต้องยกนิ้วให้นักการเมืองไทยถิ่นอีสานผู้นี้ว่าทรงภูมิยิ่งนัก ขนาดมีความรู้ความเข้าใจในปรัชญาการเมืองชิ้นสำคัญอย่าง “Republic” ของเพลโต ผู้เป็นมหาปราชญ์ของชาวตะวันตก (เนื้อหาของเพลโตจะถูกผิดนั้นอีกเรื่องหนึ่ง)

ครูอ่ำเข้าใจปรัชญาการเมืองของเพลโตได้เป็นอย่างดี จากการที่ท่านเน้นให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของแต่ละสาขาอาชีพ และถ้าแต่ละคนในประเทศ “ยอมตายเพื่อหน้าที่อย่างขลังแล้ว” ประเทศนั้นก็จะเป็นเลิศในโลกเลยทีเดียว

แม้ว่าเพลโตจะพูดถึงชาวนา ทหารและพ่อค้า ไม่ได้พูดถึงผู้พิพากษา แต่ครูอ่ำก็นำหลักการเรื่องสำนึกในหน้าที่ของเพลโตมาประยุกต์เรียกร้องให้ “ผู้พิพากษาต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ดีอย่าเห็นแก่สินบน” เพราะครูอ่ำเห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของสถาบันตุลาการในสังคมการเมือง เพราะผู้คนในสังคมจะได้มีชีวิตอยู่อย่างได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับผู้พิพากษาในสังคมนั้นว่าจะ “ยอมตายเพื่อหน้าที่อย่างเคร่งขลัง” เป็นสำคัญหรือไม่ ? 

ซึ่งข้อเรียกร้องของครูอ่ำในเรื่องนี้ยังปรับใช้กับสถานการณ์ปัญหาการเมืองของไทยในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสมยิ่ง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาของเรานี้เน้นให้สถาบันตุลาการมีบทบาททางการเมืองอย่างเข้มข้น แม้ว่า หลายคนอาจจะแย้งว่า รัฐธรรมนูญให้อำนาจหน้าที่แก่สถาบันตุลาการเกินหรือนอกเหนือไปจากบทบาทหน้าที่ที่สถาบันตุลาการพึงมี ดูจะเข้าข่ายไปก้าวก่ายหรือไปยุ่งกับบทบาทหน้าที่ที่ไม่ใช่ของสถาบันตุลาการ ความบิดเบี้ยวในอำนาจหน้าที่ที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญมีสาเหตุมาจากความบิดเบี้ยวของอำนาจหน้าที่ของสถาบันผู้แทนราษฎรในช่วงเวลาที่ผ่านมานั่นเอง เมื่ออย่างหนึ่งผิดเพี้ยนบิดเบี้ยว มันก็นำไปสู่การบิดเบี้ยวอื่นๆตามมา สถาบันตุลาการต้องเข้ามาทำหน้าที่ของสถาบันผู้แทนราษฎรในบางเรื่อง เช่น การคัดสรรวุฒิสมาชิก เป็นต้น เชื่อว่า ความบิดเบี้ยวดังกล่าวนี้จำเป็นต้องดำรงอยู่ไปจนกว่าสถาบันผู้แทนราษฎรจะเข้าที่เข้าทาง

สถาบันผู้แทนราษฎรจะเข้าที่เข้าทางได้อย่างไร ? ครูอ่ำมีคำตอบภายใต้หลักการ “ความเข้าใจในแก่นของความดี” นี้ โดยท่านได้ประยุกต์เรื่องหลักการการปฏิบัติหน้าที่กับการเป็นผู้แทนราษฎรด้วย ซึ่งแน่นอนว่า การประยุกต์ดังกล่าวนี้เป็นการตีความและการประดิษฐ์ทางความคิดของท่านเอง เพราะเพลโตไม่มีความคิดในเรื่อง “ผู้แทนราษฎร”

ครูอ่ำกล่าวว่า “ผู้แทนราษฎรถ้าไม่รู้จักแก่นแห่งความดี ก็จะทำเอารัฐสภาเหลวหมด ต้องยอมเสียสละเพื่อหน้าที่ของตน จะมัวกลัวฝ่ายปรปักษ์อื่นๆไม่ได้ หรือจะเห็นแก่สินบนขายชาติไม่ได้ เมื่อเห็นอย่างไรว่าจะพาชาติให้ก้าวหน้า ต้องพากเพียรทำ นี่ควรจะเป็นลักษณะอันแรกของผู้แทนราษฎร” 

การรู้จักแก่นแห่งความดีของผู้แทนราษฎรคือ การเข้าใจถึงหน้าที่ของความเป็นผู้แทนราษฎรอย่างถ่องแท้ ยึดมั่นกล้าหาญและเสียสละในการทำหน้าที่ของตนอย่างถึงที่สุด

อย่างไรก็ตาม ครูอ่ำได้กล่าวด้วยความเข้าใจในการเมืองไทยอย่างดีว่า “ในสมัยที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยความ ‘ป.จ.’ มนุษย์ที่มีลักษณะเช่นนี้ (มีคุณสมบัติตามลักษณะข้อแรกของผู้แทนราษฎร---ผู้เขียน) มักจะมีผู้เกลียดชัง และมักจะไม่ได้ดิบได้ดี แต่จะเห็นว่างานในหน้าที่ของเขาประเสริฐมาก มนุษย์เช่นนี้ต้องเป็นผู้ที่ ๑) มีความคิดของตนเอง ๒) สามารถบังคับตัวเองได้ ๓) รู้จักตัวเองดี” 

ถ้าพูดอย่างนี้แล้ว น่าคิดว่านักการเมืองในปัจจุบันเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับครูอ่ำเมื่อแปดสิบกว่าปีที่แล้ว และที่สำคัญคือ ประชาชนเข้าใจบทบาทหน้าที่ของผู้แทนราษฎรหรือไม่ ?

(บทความนี้เคยลงมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ล้าสมัย และผู้อ่านท่านใดทราบความหมายหรือจะช่วยกรุณาตีความอักษรย่อ “ป.จ.” ที่ครูอ่ำเขียนไว้ในข้อความข้างต้น ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ส่งมาได้ที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจครับ )