เรากำลังจะพึ่งภาษีบาปมากเกินไปหรือเปล่า

เรากำลังจะพึ่งภาษีบาปมากเกินไปหรือเปล่า

ประเทศไทยในปัจจุบันมีการเรียกเก็บภาษีที่หลากหลายรูปแบบทั้งโดยตรง โดยอ้อม โดยกรมจัดเก็บรายได้สามกรมหลักคือ

กรมสรรพากร กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร เป็นหน่วยงานหลัก แต่ก็มีอีกหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้ด้วยเช่นกรมที่ดิน และภาษีท้องถิ่นที่จัดเก็บโดยองค์การปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศ

มีอยู่ภาษีหนึ่งที่กรมจัดเก็บรายได้ไม่ได้จัดเก็บ แต่มีกฎหมายให้หน่วยงานรัฐ องค์การมหาชน หรือองค์กรรัฐที่ไม่ใช่ราชการ มีรายได้จากส่วนแบ่งจากรายได้ของธุรกิจบางประเภทเช่นสุรา ยาสูบ เบียร์ เป็นส่วนเกินที่นอกเหนือจากที่ธุรกิจนั้นได้ชำระภาษีให้กับรัฐ ซึ่งอาจเป็นจำนวนร้อยละ 1.5 บ้าง ร้อยละ 2 บ้าง และบางองค์กรก็ได้รับโดยจำกัดเพดานเช่นไม่เกิน 2,000 ล้านบาท หรือ 4,000 ล้านบาทต่อปี แต่บางองค์การก็ไม่มีกำหนดเพดาน และที่มากไปกว่านั้นก็คือ เงินที่ได้รับจากธุรกิจเฉพาะเหล่านี้ หากใช้ไม่หมดก็ไม่ต้องส่งคลัง

จริงๆแล้วในต่างประเทศก็ทำกันแพร่หลาย บางประเทศมีการเก็บภาษีผู้ดูทีวี แล้วเอาเงินนั้นมาสนับสนุนรายการทีวี หรือเก็บภาษีพิเศษจากธุรกิจที่ใช้น้ำตาลเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตก็ต้องจ่ายภาษีพิเศษเพื่อสุขภาพประชาชน ภาษีพิเศษสำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ก็ต้องจ่ายภาษีเฉพาะเพิ่มขึ้น

แม้ว่าโดยหลักการเรื่องภาษีเฉพาะ (Dedicated Tax) นี้เป็นการเชื่อมโยงระหว่างองค์กรธุรกิจที่สร้างผลกระทบกับประชาชนผู้บริโภคโดยตรง แต่หลายๆเรื่องได้ถูกนำมาขยายเพื่อสนับสนุนองค์กรหรือหน่วยงานรัฐหรือองค์กรอิสระในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง

ปัญหาก็คือ ยิ่งรัฐต้องพึ่งพาภาษีเฉพาะเหล่านี้มากขึ้นเท่าใด โอกาสของรัฐที่จะกดดันให้ธุรกิจที่สร้างปัญหาให้กับสังคมลดลงก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันเรามีการเก็บภาษีเฉพาะที่เรียกว่า ภาษีบาป (Sin Tax) สำหรับนำมาใช้ในงานเรื่องสุขภาพประชาชนมานานแล้ว อาทิภาษีเหล้าบุหรี่ เบียร์จำนวน 2% ให้กับองค์กรสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ และกองทุนผู้สูงอายุ เรียกเก็บ 1.5% สำหรับองค์กรช่องทีวีสาธารณะไทยพีบีเอส และมีโครงการจะเรียกเก็บเพิ่มขึ้นสำหรับองค์กรใหม่ๆอีกเช่น องค์กรการส่งเสริมสร้างการเรียนรู้ และองค์กรกองทุนชราภาพ กองทุนเพื่อการศึกษา กองทุนเพื่อสาธารณสุข

การที่รัฐเรียกเก็บเงินเพิ่มจากส่วนที่ธุรกิจได้จ่ายภาษีให้รัฐเต็มจำนวนแล้ว ถือเป็นส่วนเกินที่ฝ่ายธุรกิจต้องรับภาระเพิ่ม ซึ่งในปัจจุบัน เฉพาะธุรกิจเหล้าบุหรี่เบียร์ก็จ่ายเพิ่มประมาณ 7.5% และถ้าเพิ่มองค์กรใหม่ๆเข้าไปอีกก็ต้องเก็บเพิ่มมากขึ้น

มองดูเผินๆก็เหมือนว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะรัฐไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐจ่าย แต่ในทางปฏิบัตินั้น ฝ่ายธุรกิจก็คงไม่รับภาระทั้งหมด แต่ก็ต้องพยายามผ่องถ่ายให้ผู้บริโภคสุรายาสูบรับภาระแทน เพื่อให้ธุรกิจของเขาเติบโตต่อไปได้ การสร้างยอดขายให้สูงขึ้นก็ดี การส่งเสริมการขายเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคใหม่ๆ กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็ดี เป็นสิ่งที่นักธุรกิจต้องทำเพื่อให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้นและสร้างผลกำไรมากขึ้น

จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า การที่รัฐเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากธุรกิจบาปพวกนี้ เป็นการกดดันให้พวกเขาลดกำลังการผลิต และลดการเข้าถึงผู้บริโภครุ่นใหม่หน้าใหม่ หรือเป็นการช่วยให้เขาเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นเพื่อเข้าสู่เป้าหมายมากขึ้นกันแน่

การบริโภคสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอลหรือยาสูบชนิดต่างๆในประเทศไทยไม่ได้ลดลงอย่างแน่นอน เพราะมิฉะนั้นธุรกิจประเภทนี้คงจะต้องประสบปัญหาขาดทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ตรงกันข้ามผลการประกอบการของธุรกิจประเภทนี้กลับเพิ่มขึ้น สร้างผลกำไรมากขึ้น โรงงานยาสูบ ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สามารถจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานได้ถึง 7 เดือน ในขณะที่ธุรกิจอื่นๆต่างก็ซวนเซเป็นทิวแถว ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนผู้เสพและบริโภคสินค้าบาปเหล่านี้ก็ไม่ได้ลดจำนวนลงอย่างมีนัยสำคัญ การกระจายเงินทุนสนับสนุนขององค์กรสร้างเสริมสุขภาพออกไปให้แก่เครือข่ายต่างๆก็ไม่มีผลลัพธ์ในทางบวกกับสังคม งานส่วนใหญ่เป็นการขับเคลื่อนโดยการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยมิได้สร้างผลงานที่ชัดเจนเป็นที่ปรากฏชัด

จึงอยากให้รัฐบาลหันมามองเรื่องวัตถุประสงค์ของการใช้งบประมาณภาษีส่วนเกินที่กำลังทุ่มลงไปในกิจการต่างๆว่ามีความคุ้มค่าอย่างไรหรือไม่ เพราะถ้าประโยชน์ไม่เป็นที่ปรากฏชัด ก็เท่ากับเป็นการละลายเงินที่ควรจะเข้ารัฐเพื่อการพัฒนาประเทศไปกับสิ่งที่ไม่คุ้มค่าอย่างสิ้นเชิง

ยิ่งไปกว่านั้น วิธีการเก็บภาษีส่วนเกินเช่นว่านี้ยังส่งผลสะท้อนให้ธุรกิจกลับเฟื่องฟูมากขึ้น แทนที่จะลดลง เป็นบูมมาแรงที่รัฐอาจคิดไม่ถึง

ที่สำคัญคือรัฐบาลจะติดกับดักที่จะต้องพึ่งเงินภาษีส่วนเกินจากภาษีเฉพาะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็คงไม่สามารถกดดันหรือสร้างพลังต่อรองอะไรได้

ผลสุดท้าย ก็คงเป็นประชาชนที่จะได้รับผลกรรมนั้น