ปี 61 ขับเคลื่อนศก.3 ด้าน สร้างการเติบโตต่อเนื่อง

ปี 61 ขับเคลื่อนศก.3 ด้าน สร้างการเติบโตต่อเนื่อง

ปี 2561 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 ด้าน สร้างการเติบโตต่อเนื่อง

ประธาน จิวจินดา

หัวหน้าส่วนวิจัยนโยบายรัฐและปัจจัยทางธุรกิจ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2560 ขยายตัวดีและคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.8-4.0 ประกอบกับมีสัญญาณต่างๆชี้ว่าการลงทุนจะกลับมา ไม่ว่าจะเป็น ผลสำรวจการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ดีขึ้น โดยองค์กรสากลอย่าง WEF และ IMD การแก้ไขปัญหามาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน ไปจนถึงการประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2561 ตลอดจนการได้รับการจัดอันดับความสะดวกในการทำธุรกิจที่สูงขึ้นโดยธนาคารโลก

สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.0 โดยได้รับแรงส่งหรือโมเมนตัมทางเศรษฐกิจในปี 2560 ที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าภาครัฐจะเน้นดำเนินการ 3 ด้านเพื่อสร้างความเจริญเติบโตต่อเนื่อง ภายหลังจากเห็นความเคลื่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนจากชาติมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ที่ต่างโฟกัสมายังอาเซียนทั้งสิ้น จึงมองว่าไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และจะมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้นโดยเฉพาะซีแอลเอ็มวีที

มองว่าปี 2561 จะเป็นปีแห่งโอกาสของเศรษฐกิจไทย เพียงแต่ต้องสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็งขึ้น ผนึกกำลังและเคลื่อนตัวให้เร็วกว่าประเทศอื่นและเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้องใน 3 ด้านดังนี้

ลดช่องว่าง ฐานรากต้องเข้มแข็ง

คาดว่าภาครัฐจะเร่งเสริมสภาพคล่องให้กับประชาชนในระดับฐานรากหรือผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และมีเม็ดเงินหมุนเวียนสู่ระดับท้องถิ่น โดย

1) นำเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีงบประมาณ 2 แสนล้านบาท มาจ้างงาน/ฝึกอาชีพ และส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจชุมชน และการท่องเที่ยวระดับชุมชน โดยให้อปท.นำเสนอโครงการที่ดีๆเข้ามา

2) จัดโครงการที่ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น ส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่นนอกเหนือจากข้าวและยางพารา และนำไปขายในร้านค้าโมเดิร์นเทรดและร้านธงฟ้าประชารัฐ

3)   ผลักดันให้ชุมชนที่เข้มแข็งสามารถทำการค้าผ่านออนไลน์ได้ (อี-คอมเมิร์ช)

4)   เข้าไปดูแลเรื่องสินเชื่อหมุนเวียนและการให้ดอกเบี้ยต่ำ

เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ในช่วงที่ผ่านมา ได้เห็นการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน และสายสีแดง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ขณะที่ในปี 2561 คาดว่าจะเห็นการเร่งตัวของโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ชัดเจนและต่อเนื่องมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีที่คาดว่าจะมีการจัมพ์สตาร์ทเพื่อให้เกิดการประมูลได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2561 ทั้งรถไฟความเร็วสูง สนามบินและท่าเรือ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ที่จะเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ซึ่งจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศมหาศาล

คาดว่าจะเห็นการลงทุนจากต่างชาติในปี 2561 มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีนไทเป (ไต้หวัน) ทั้งนี้ นอกจากโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมแล้ว เรื่องเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ กฎระเบียบด้านกฎหมายก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งก็จะส่งเสริมการลงทุนด้าน  R&D และปรับระบบงานเพื่อให้เอื้อต่อการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น (Ease of Doing Business)

เปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล

 ในปีหน้าคาดว่าโครงการอินเตอร์เน็ตจะครบทุกหมู่บ้าน เพื่อรองรับการสื่อสารผ่านออนไลน์ การค้าและฟินเทค รวมไปถึงระดับโรงเรียน วัดและสาธารณสุข เพื่อให้เข้าถึงการศึกษาด้วย ขณะเดียวกันก็คากว่าภาครัฐจะส่งเสริมให้มีการใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์ (E-Payment) มากขึ้น รวมถึงการสื่อสาร การค้าขายและระบบโลจิสติกส์ ให้มีการใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น

 หน่วยธุรกิจคงต้องเร่งปรับตัวรับมือให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากธุรกิจและอุตสาหกรรมโลกกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ธุรกิจคงเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัลที่มีการเร่งสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลของตนเอง และสร้างเครือข่ายให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการสะดวกมากขึ้น ขณะเดียวกันเชื่อว่าภาครัฐก็คงเร่งปลดล็อกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน พร้อมไปกับการสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการลงทุน ตลอดจนการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง ที่ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อเนื่อง