เมื่อบริษัทบลูชิพไม่ใช่ของชัวร์อีกต่อไป (ตอนที่1)

เมื่อบริษัทบลูชิพไม่ใช่ของชัวร์อีกต่อไป (ตอนที่1)

เมื่อบริษัทบลูชิพไม่ใช่ของชัวร์อีกต่อไป (ตอนที่1)

"เกี่ยวอะไรกับเรา" ฉบับนี้ผมขอแบ่งปันมุมมองทิศทางบริษัทบลูชิพ (Blue chip) หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง และมีผลิตภัณฑ์ / บริการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นเวลานาน จนเสมือนเป็นสัญลักษณ์ยืนยันคุณภาพ ผ่านการวิเคราะห์กรณีศึกษาของ บริษัท เจเนอรัลอิเล็กทริค  (General Electric Company) หรือ จีอี (GE) ที่ล่าสุดมีความเสี่ยงการคงความเป็นบริษัทชั้นนำของโลก เพื่อตอบคำถามว่า กลยุทธ์องค์กร (Corporate strategy) ของ บริษัทบูลชิพในอดีตจะสามารถ นำพาให้องค์กรประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจ ยุค Startup ได้หรือไม่  ซึ่งจะเป็นบทความ 2 ตอน โดยฉบับนี้เป็นตอนที่ 1

  1. เจเนอรัลอิเล็กทริค ไอคอนธรุกิจสหรัฐฯ

บริษัทเจเนอรัลอิเล็กทริค เป็นกลุ่มบริษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกันก่อตั้งโดย ทอมัส เอดิสัน และ ชาร์ลส์ คอฟฟินในปี 1892 ผ่านการควบรวมธุรกิจของทั้งสองที่อยู่ทั้งในและนอกสหรัฐซึ่งทำให้ จีอี ได้กลายเป็นต้นแบบของบริษัทข้ามชาติตั้งแต่นั้นมา จีอีเป็นกลุ่มบริษัทแรกและเป็นบริษัทเดียวที่จดทะเบียนในดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average) ตั้งแต่เริ่มต้นในปี 1896 ที่ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน

ค่านิยมองค์กรที่มองการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่สิ้นสุด ถ้าไม่เปลี่ยนก็เตรียมตัวตาย หรือ Adapt or Die นั้น ทำให้จีอี มุ่งมั่นการสร้างนวัตกรรมต่อเนื่องเรื่อยมา ตั้งแต่หลอดไฟฟ้า (1879) เครื่อง X-ray (1896) พัดลมไฟฟ้า (1902) วิทยุออกอากาศ (1906) ตู้เย็น (1917) เครื่องยนต์ไอพ่น (1941) เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่ออุตสาหกรรม (1957) แสงเลเซอร์ (1962)

จุดเปลี่ยนสำคัญของจีอีมาในช่วงปี 1980 ยุคของ CEO คนที่ 9 นาย แจ็ค เวลซ์ ที่ปรับโครงสร้างจีอี จากการเป็นกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมกลายเป็น Conglomerate ข้ามชาติระดับโลก ผ่านกลยุทธ์การขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจเดิม โดยการเข้าซื้อกิจการของ RCA เพื่อเก็บสถานีโทรทัศน์ NBC และที่สำคัญได้เข้าสู่ธุรกิจบริการด้านการเงิน (Financial Services) ที่รวมบริการด้านสินเชื่อรายย่อย สินเชื่ออุตสาหกรรม และธุรกิจประกัน ภายใต้ส่วนงาน GE Capital

ด้านการบริหารจัดการ  แจ็ค เวลซ์ สร้างให้เกิดการแข่งขันระหว่างธุรกิจและกำหนดให้บริษัทในเครือต้องมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในอันดับ 1 หรือ 2 โดยเน้นคุณภาพของระบบงานด้วย Six Sigma และมีการหมุนเวียนโยกย้ายผู้บริหารไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งจัดลำดับและจัดการกับบุคลากรที่มีผลงานอยู่ในระดับ 10% ล่างของบริษัท จนทำให้รายได้จีอีเพิ่มจาก 26,000 ล้าน เหรียญในปี 1980 เป็น130,000 ล้านเหรียญ ในปี 2000 และที่สำคัญได้สร้างความมั่นใจให้วอลล์สตรีทอย่างสม่ำเสมอด้วยราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดิมที่ราคา 1.25 เหรียญในปี 1981 ไปถึงจุดสูงสุดที่ 60 เหรียญในปี 2000

ผลงานข้างต้น ทำให้แจ็ค เวลซ์ เกษียณจากตำแหน่งในปี 2001 ในฐานะหนึ่งใน CEO ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์

จุดเปลี่ยนสำคัญลำดับต่อมา คือการส่งต่อธุรกิจให้ CEO คนที่ 10 ผ่านการวางแผนหาผู้สืบทอดตำแหน่งล่วงหน้าอย่างมีระบบ โดยเป็นการชิงตำแหน่งระหว่าง 3 CEO ของบริษัทในกลุ่ม ซึ่งผลสุดท้าย นาย เจฟ อิมเมลต์ CEO จาก GE Medical Systems ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการบริษัทในปี 2000

อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นของ เจฟ  อิมเมลต์ ไม่ราบรื่นนักกับหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เหตุการณ์ฟองสบู่ดอตคอม  ในปี 2000 และ 9/11 ในปี 2001 ตามมาด้วยวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ซึ่งหากมองอย่างเป็นกลาง อาจพออธิบายได้ว่าช่วง 7 ปีแรกของการบริหาร เจฟ อิมเมลต์ สามารถประครองธุรกิจของจีอีให้ผ่านมรสุมมาได้ แต่ 16 ปีผ่านไปกับการปฎิบัติหน้าที่แบบไม่ครบเทอมของเจฟ อิมเมลต์ รวมทั้งการประกาศแต่งตั้ง CEO คนที่ 11 นายจอห์น แฟลนเนอรี่ในเดือนมิถุนายนที่เสมือนขาดการวางแผนล่วงหน้า ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์และอนาคตของจีอี

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทจีอี ประกาศลดเงินปันผล 50% คิดเป็นมูลค่าถึง 4,200 ล้านเหรียญ ซึ่งถือเป็นการประกาศลดเงินปันผลที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐหากไม่นับช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และส่งผล ทำให้หุ้นจีอีสูญเสียมูลค่าไปกว่า 40% ภายในปีเดียว เหลือประมาณ 18 เหรียญ จนมีความเสี่ยงอาจถูกปรับออกจากดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์

ฉบับหน้าเราจะมาวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับจีอีภายใต้การนำของ เจฟ อิมเมลต์ พร้อมตอบคำถามว่ากลยุทธ์องค์กรแบบ Conglomerate จะมีที่ยืนในโลกธุรกิจยุค Startup หรือไม่