พิชิตเป้าหมายด้วยการคิดบวก

พิชิตเป้าหมายด้วยการคิดบวก

การเปลี่ยนแปลงที่สำเร็จมักจะมีจุดเริ่มต้นจากการ“คิดบวก”เสมอ การคิดบวกในที่นี้ไม่จำกัดว่าต้องใช้สำหรับการปรับเปลี่ยนองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น

แต่เรื่องเล็กๆ นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลก็ต้องเปลี่ยนมุมคิดอย่าใช้ความคิดลบเป็นตัวนำเช่นกัน

ลองคิดถึงคนที่ติดบุหรี่และต้องการเลิกบุหรี่เพราะรู้ถึงข้อเสียของมันว่าทำลายสุขภาพมากเพียงใด นับตั้งแต่ซองบุหรี่ที่มีรูปภาพน่ากลัวของผู้ป่วยโรคต่างๆ ที่เกิดจากบุหรี่ และยังมีโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ ที่เต็มไปด้วยข้อมูลด้านโรคภัยไข้เจ็บจำนวนมาก แต่คนติดบุหรี่ก็ยังเลิกไม่ได้อยู่ดีแม้จะเห็นภาพเหล่านี้มากเพียงใดก็ตาม

ในขณะที่บางคนมีพี่น้องเพื่อนฝูงจูงใจให้เลิกบุหรี่โดยชี้ให้เห็นว่าเป็นการสร้างบุคลิกภาพที่ดี เพราะการติดบุหรี่อาจมีกลิ่นที่ผู้หญิงไม่ชอบ ดังนั้นหากต้องการคบกับใครสักคนการไม่สูบบุหรี่อาจมีโอกาสมากกว่า คำแนะนำที่เป็นบวกแบบนี้มักได้ผลดีและจูงใจให้คนเลิกบุหรี่ได้ดีกว่าวิธีแรก

การพยายามกระตุ้นให้คนในองค์กรเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้ความคิดลบ เช่นถ้าไม่เปลี่ยนแล้วจะไปไม่รอด ไม่ปรับตัวแล้วจะเจ๊ง จึงมักจะลงเอยแบบเดียวกัน ตรงกันข้ามกับการชี้ให้เขาเห็นมิติใหม่ที่จะเกิดขึ้นหากการเปลี่ยนแปลงเป็นผลสำเร็จและเขามีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงนั้น

การเปลี่ยนแปลงจะสำเร็จได้จึงต้องใช้การคิดบวกเป็นจุดเริ่มต้น ต้องให้ทุกคนเห็นว่าแต่ละคนจะได้ประโยชน์อะไร องค์กรจะได้อะไร และอุตสาหกรรมในภาพรวมจะเติบโตได้เพียงใด ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหากทุกคนมีส่วนร่วมกัน

แต่ทั้งนี้ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรการวิเคราะห์เชิงลึกก็ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ เพราะเมื่อการเปลี่ยนแปลงรออยู่ข้างเรา เราจำเป็นต้องคิดให้รอบด้านว่าการปรับตัวของเรานั้นจะทำให้เราได้อะไร และต้องเสียอะไรไปบ้าง

ในทางกลับกันหากเราไม่เปลี่ยนแปลงจะมีอะไรเกิดขึ้น เราจะได้อะไรจากการไม่เปลี่ยนแปลง และต้องเสียอะไรไปบ้างเพื่อจะไม่ต้องเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ซึ่งในแต่ละครั้งจะมีปัจจัยปลีกย่อยที่แตกต่างกันมากมายจึงไม่สามารถฟันธงลงไปได้ว่าทางใดจะดีกว่ากัน

การคิดวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนจะทำให้เรามองเห็นทางเลือกที่ชัดเจนและตอบคำถามคนอื่นๆ ได้ว่าทำไมเราควรเปลี่ยนหรือไม่ควรเปลี่ยน จึงทำให้เรามีเหตุผลมากเพียงพอที่จะจูงใจคนอื่นๆ ให้คล้อยตามได้ง่ายขึ้น

การวิเคราะห์ที่ดีจึงทำให้ได้รู้ว่าเราจะต้องเสียอะไรไปบ้างเพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นการทำให้คนในทีมได้เข้าใจสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นและเตรียมพร้อมรับมือได้ถูกต้อง แล้วยังจูงใจได้ว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงไปแล้วจะมีอะไรที่เขาได้กลับคืนมา ทำให้เขามองเห็นเป้าหมายที่รออยู่เบื้องหน้า

ดังนั้น “เป้าหมาย” จึงเป็นส่วนสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพราะบ่อยครั้งที่เราทำงานอย่างไม่มีเป้าหมายชัดเจน การประชุม 2-3 ชั่วโมงจึงจบลงแบบไม่มีข้อสรุปเพราะไม่มีเป้าหมาย แต่ละคนจึงออกจากห้องประชุมมาโดยไม่รู้ว่าต้องทำอะไรต่อไป

ตรงกันข้ามกับการประชุมที่มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ต้องการ ทุกคนจึงรู้ว่าต้องเปลี่ยนแปลงไปทางไหน ใครทำอะไร และต้องรับผิดชอบอะไรกันบ้าง โดยมีลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำก่อนหลังครบถ้วน

ถ้าเป้าหมายไม่ชัดก็ต้องทำให้ชัดเจนเสียก่อน เพราะการทำงานโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนอาจทำให้เราจัดลำดับความสำคัญของงานได้ผิดพลาด เราอาจทำงานบางอย่างก่อนโดยที่ไม่ส่งผลกับเป้าหมายปลายทางเลย ท้ายสุดเราอาจเดินหน้าไปผิดทางและห่างไกลจากเป้าหมายที่ต้องการจริงๆ โดยไม่รู้ตัว