ปฎิรูปโครงสร้างภาษีแบบสุดซอยสไตล์ ปธน.ทรัมป์

ปฎิรูปโครงสร้างภาษีแบบสุดซอยสไตล์ ปธน.ทรัมป์

ปฎิรูปโครงสร้างภาษีแบบสุดซอยสไตล์ ปธน.ทรัมป์

เมื่อวันพฤหัสฯที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯมีมติด้วยคะแนนเสียง 227 ต่อ 205 ให้ผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษี (Tax Cuts and Jobs Act) ซึ่งถูกร่างและนำเสนอโดยพรรครีพับลิกัน การผ่านร่างครั้งนี้ ผ่านได้ด้วยคะแนนเสียง 227 ต่อ 205 และรอส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาในลำดับต่อไป

นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์ใน Wallstreet ต่างมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า หากร่างกม.ฉบับนี้ผ่านตลอดทาง จะถือเป็นการยกเครื่องกม.ภาษีครั้งที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯนับตั้งแต่ปี 2529 ทีเดียว

โดยในสาระสำคัญของร่างกม.นี้ ได้แก่ การปรับลดภาษีนิติบุคคลลงเหลือ 20% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 35% และการลดจำนวนขั้นบันไดของการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลจาก 7 ขั้น เหลือเพียง 4 ขั้น ตามนี้ 12%, 25%, 35% และ 39.6%

คำถามคือ มีความเป็นไปได้ไหม ที่ร่างกม.ฉบับใหม่นี้ จะดันไปได้ตลอดรอดฝั่ง?

สิ่งที่พอจะเป็นคำตอบได้ก็คือ ผลการยกมือโหวตรอบที่ผ่านมานี้ ไม่มีสมาชิกคนใดจากพรรคเดโมแครตลงมติเห็นชอบให้ร่างกม.ดังกล่าวเลย โดยมีสมาชิกจากพรรครีพับลิกัน 13 คน ที่ไม่สนับสนุนร่างดังกล่าว โดยความเห็นประมาณว่า ร่างกม.นี้ จะส่งผลกระทบด้านลบมากกว่าด้านบวก โดยคาดว่าจะส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯขาดรายได้สูงถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีข้างหน้า

อีกสิ่งหนึ่งที่พอจะบอกได้ว่า ทางข้างหน้า อาจไม่โปร่งใสนัก ก็คือ สมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาได้มีการเปิดเผยร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีอีกฉบับเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา และเนื้อหาหลักก็มีความแตกต่างจากฉบับของสภาผู้แทนราษฎรด้วย

ถ้ามองมุมนี้ ก็เป็นไปได้สูงว่า วุฒิสภา อาจต้องการแก้ไขเนื้อหาในร่างกม. ไม่มากก็น้อย การโยนลูกบอลกันไปมาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนี้ น่าจะทำให้มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นสูง และส่งผลต่อตลาดทุนระดับหนึ่งเลย นักลงทุนเตรียมทำใจกันไว้นะครับ

เพราะจริงๆแล้ว ปธน. ทรัมป์ ปักหมุดไว้ว่า อยากให้ร่างกม.ฉบับนี้ ผ่านให้ได้ก่อนช่วงคริสมาสต์ เพื่อเป็นของขวัญให้แก่ชาวอเมริกัน แต่จนถึงตอนนี้ ดูเหมือนนักลงทุนในตลาดก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายเหมือนกัน

อะไรในเนื้อหา ที่ดูเหมือนว่าจะตกลงกันไม่ได้?

ความแตกต่างระหว่างร่างกม.ฉบับของสภาผู้แทนราษฎรกับฉบับจากวุฒิสมาชิก ยกตัวอย่างก็เช่น การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลในฉบับจากวุฒิสมาชิก ยังคงไว้ 7 ขั้นเช่นเดิม แต่ลดระดับขั้นบันไดภาษีเป็น 10%, 12%, 22%, 24%, 32%, 35% และ 38.5% ตามลำดับ

ในขั้นของการผ่านร่างกม.ในวุฒิสมาชิกนั้น จะต้องไม่มีสมาชิกจากพรรครีพับลิกันคัดค้านเกินกว่า 2 เสียง ถึงจะมีโอกาสผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ได้สำเร็จ (เชื่อว่า สมาชิกจากพรรคเดโมเครตไม่น่าจะผ่านร่างกม.ให้ซักคน)

ในด้านของผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้น ทาง The Tax Foundation ซึ่งเป็นองค์กรไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใด มีการประเมิณไว้ว่า ร่างกฎหมายฉบับวุฒิสมาชิกจะทำให้ GDP Growth ของสหรัฐฯขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.7% ในระยะยาว เปรียบเทียบกับร่างกฎหมายฉบับสภาผู้แทนราษฎร คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้น 3.5% น้อยกว่า ฉบับวุฒิสมาชิกเล็กน้อย

อีกแห่ง มหาวิทยาลัยวาร์ตัน ได้วิเคราะห์โดยใช้ The Penn Wharton Budget Model ได้ทำการวิเคราะห์ผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ กรณีร่างกฎหมายฉบับสภาผู้แทนราษฎรสามารถผ่านและบังคับใช้ได้ จะทำให้ GDP Growth สูงขึ้นอีก 0.83% ภายในปี 2570 ซึ่งหากมองจากตัวเลข จะเห็นว่า ต่ำกว่าที่ The Tax Foundation ประเมิณไว้พอสมควรเลยครับ

ซึ่งถ้ามองจริงๆ ผลต่อเศรษฐกิจ น้ำหนักน่าจะมาจากการปฎิรูปกฎหมายภาษีนิติบุคคลนี่เอง และในแง่ของตลาดทุน อัตราภาษีนิติบุคคลนี้ ถือว่ามีความสำคัญในแง่ของการประเมินกำไรสุทธิของบริษัทมากที่สุด

ส่วนภาษีบุคคลธรรมดา ถึงลดขั้นบันได และลดอัตราภาษีลง หลายฝ่ายก็มองว่า อาจทำให้ชาวอเมริกันเพิ่มเงินออม และนำมาชำระหนี้แทนที่จะนำไปบริโภคเพิ่มขึ้น ก็เป็นไปได้

ยังไงเสีย ในเดือน ธ.ค. นี้ เหมือนจะเป็นเดือนแห่งความสุขสิ้นปีสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น เรากลับพบหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ที่มีผลต่อการกำหนดทิศทาง Fund Flow ตลอดทั้งปีหน้าด้วยเช่นเดียวกัน

เพราะ นี่อาจเป็นผลงานแรกของ ปธน.ทรัมป์ หลังจากรับตำแหน่ง หรือสุดท้าย จะไม่สามารถดันให้ผ่านสุดซอย ไม่สามารถผ่านกฎหมายใดๆได้เลยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา