เฟิร์มแวร์ ของคนส่งผลต่อความสำเร็จ

เฟิร์มแวร์ ของคนส่งผลต่อความสำเร็จ

ถ้าเราต้องการแค่เพิ่มแอปใหม่ ๆ ในสมาร์ทโฟน แต่แอนดรอยด์ หรือไอโอเอส รุ่นที่เรามีอยู่ไม่รองรับแอปนั้น ก็ต้องอัฟเดทให้เป็นเวอร์ชันล่าสุด

แต่ถ้าถึงขนาดที่ต้องปรับเปลี่ยนจากสี่จีธรรมดาไปเป็นสี่จีรุ่นที่ก้าวหน้ามากขึ้น คราวนี้แค่อัฟเดทแอนดรอยด์หรือไอโอเอสให้ทันสมัยไม่เพียงพอแล้ว ต้องเปลี่ยน เฟิร์มแวร์ใหม่ เพราะ เฟิร์มแวร์เป็นซอฟท์แวร์ที่ควบคุมการทำงานของฮารด์แวร์โดยตรง ก่อนที่จะส่งต่อผลการทำงานไปยังแอนดรอยด์หรือไอโอเอส แล้วจึงส่งต่อไปที่แอปอีกต่อหนึ่ง ดังนั้นแอปจะดี หรือไม่ดี สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับเฟิร์มแวร์ ถ้าเปรียบเทียบการงานเป็นเสมือนแอป วัฒนธรรมจะเป็นเสมือนเฟิร์มแวร์ การงานจะก้าวหน้า จะพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด หรือจะก้าวไปอย่างเชื่องช้า จึงขึ้นกับวัฒนธรรม

ศาสตราจารย์กิตติคุณ Gerard Hendrik Hofstede ในสมัยที่ยังทำงานอยู่กับไอบีเอ็ม สงสัยว่าทำไมผลงานของคนไอบีเอ็ม ในสำนักงานในแต่ละประเทศแตกต่างกันมาก ทั้งๆที่ระเบียบและข้อบังคับต่างๆกำหนดไว้เหมือนกันทุกอย่าง ในทุกพื้นที่ ทุกประเทศ คนที่ว่าจ้างเข้ามาก็เก่งมากน้อยไม่ต่างกันเท่าใด จึงลงแรงวิจัยหาคำอธิบายในเรื่องนี้กับคนทำงานกับไอบีเอ็มในทุกประเทศ และพบว่ามีวัฒนธรรมที่เปรียบเสมือนเฟิร์มแวร์รองรับการทำงานต่างๆ อยู่หกมิติด้วยกัน และมิติวัฒนธรรมนี้แหละที่ส่งผลให้การงานมีความสำเร็จมากน้อยเพียงใด แม้ว่าจะอยู่ภายใต้ระเบียบ ข้อบังคับ รวมทั้งสภาพแวดล้อมในการทำงานเหมือนกัน คล้าย ๆกับที่บอกว่าแอปจะดีได้แค่ไหนก็ขึ้นกับเฟิร์มแวร์ของสมาร์ทโฟนเครื่องนั้น ถ้าเฟิร์มแวร์ทำได้แค่นี้ แอปก็ดีกว่านั้นไม่ได้

มิติวัฒนธรรมที่เป็นเสมือนเฟิร์มแวร์ของการทำงานของคน ได้แก่ มิติแรกคือการยอมรับในการใช้กฏกติกาและวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกันในระหว่างกลุ่มคนมีมากน้อยแค่ไหน หรือการยอมรับว่าความไม่เท่าเทียมกันในหมู่ผู้คนเป็นเรื่องปกติมีมากน้อยแค่ไหน มิติวัฒนธรรมนี้ทำให้คนยอมรับ หรือปฏิเสธการมีสองมาตรฐาน ในองค์กรเดียวกัน ผู้ใหญ่ใช้มาตรฐานหนึ่ง ผู้น้อยใช้อีกมาตรฐานหนึ่ง ผิดถ้าผู้น้อยทำ แต่กลายเป็นถูกถ้าผู้ใหญ่ทำในเรื่องเดียวกัน ในกลุ่มที่มีมิตินี้สูง จะมีสองมาตรฐาน สำหรับการงานเดียวกัน โดยขึ้นอยู่กับว่าผู้ใหญ่กระทำ หรือผู้น้อยเป็นคนกระทำ มิติวัฒนธรรมนี้ถ้ามีมากในกลุ่มใด กลุ่มนั้นจะกำกับให้คนปฏิบัติตามกฎกติกาได้ยาก เพราะความเชื่อในเรื่องระดับอำนาจที่แตกต่างกัน ทำให้การได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกติกา ถือเป็นสิทธิพิเศษ และเป็นการให้เกียรติ ในขณะที่กลุ่มที่เชื่อว่าคนแต่ละคนมีอำนาจไม่แตกต่างกัน ถือว่าการละเว้นกติกาเป็นการกระทำที่น่าอับอาย

มิติวัฒนธรรมที่สองคือ ระดับของวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นตัวตน หรือมุ่งเน้นกลุ่ม วัฒนธรรมการทำงานแบบตัวฉันเท่านั้น หรือพวกเรา มิติที่สูงในเรื่องนี้ทำให้แต่ละคนมีกรอบของตนเองในการทำงาน มิติที่ต่ำจะเฮไหนเฮนั่น จะทำอะไรก็ต้องเอาพวกไว้ก่อน ไม่มีพวกทำงานค่อนข้างยาก สำหรับกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมมุ่งเน้นกลุ่ม มีฝีมือ แต่ไม่มีพวกก็ล้มเหลวได้เท่า ๆกับคนด้อยฝีมือ ถ้าพวกดีก็ก้าวกระโดดไปไกล ถ้าพวกยำ่แย่ ก็ไปไม่ไกล มิติที่สามคือระดับของวัฒนธรรมในส่งเสริมให้ทุกคนมุ่งมั่นแข่งขันให้ได้ชัยชนะ ถ้ามิตินี้สูง นักเรียนจะแข่งกันเรียน เพื่อให้ชนะคนอื่น ถ้ามิตินี้ตำ่ นักเรียนจะเรียนกันแบบขอให้รอดไปวัน ๆ ถ้ามิตินี้สูง ธุรกิจจะทะเยอทะยานเพื่อไปสู่การแข่งขันในตลาดโลก ถ้ามิตินี้ตำ่ ก็ค้าขายไปวัน ๆ ไม่แข่งอะไรกับใคร ซึ่งถ้าเป็นสมัยในนำ้มีปลา ในนามีข้าว ความมุ่งมั่นที่จะแข่งขันเพื่อเป็นที่หนึ่งนั้นไม่มีความจำเป็น เพราะที่ไหนก็มีนำ้ มีข้าว แต่ในยุคโลกาภิวัฒน์ดิจิทัล ใครไม่แข่งทำให้ดีกว่า ใครยึดติดอยู่กับความคุ้นเคย โอกาสก้าวหน้ามีน้อยมาก

มิติที่สี่ ห้า และหก ซึ่งสำคัญมากกับการปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นในทุกวันนี้ เป็นมิติวัฒนธรรมที่ทำให้ผู้คนในหลายประเทศประสบความสำเร็จอย่างก้าวกระโดด ในขณะที่ทำให้หลายประเทศพัฒนาไปไหนไม่ได้ ติดอยู่กับความสำเร็จแต่ปางก่อน ทำให้พัฒนาไม่ถึงไหน คล้าย ๆกับอยู่กับที่ไปตลอด จะขอกล่าวถึงโดยละเอียดในโอกาสต่อไป