Legacy…How Will We Be Remembered?

Legacy…How Will We Be Remembered?

'ผู้สร้างและผู้ให้' โดยมีประโยชน์สุขของชาวบ้านเป็นรางวัลตอบแทนนั้น จะได้รับการจดจำไปอีกนานแสนนาน

Stephen R. Covey ผู้เขียนหนังสือ The 7 Habits of Highly Effective People ได้เขียนไว้ในหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ออกตามมาของเขาคือ The 8th Habit: From Effectiveness to Greatness ว่า ความเชื่อเกี่ยวกับขั้นตอนการใช้ชีวิตของคนเราตามปรัชญาทั้งซีกโลกตะวันตกและตะวันออกนั้นจะเหมือนกัน คือ ประกอบด้วย To Live (Body) คือการดำรงชีวิต To Love (Heart) คือ การมีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ To Learn (Mind) คือการพัฒนาตนเอง และ To Leave a Legacy (Spirit) คือการทิ้งสิ่งที่ตนเคยทำไว้ให้คนอื่นระลึกถึง

ในการก่อตั้ง The Grameen Bank ในปี ค.ศ. 1983 โดย Muhammad Yunus ในประเทศบังกลาเทศ ซึ่งต่อมาเป็นผลงานที่ทำให้เขาได้รับรางวัล Nobel Peace Prize นั้น Muhammad Yunus กล่าวว่าเขาไม่ได้คิดจะทำหรือมีวิสัยทัศน์ใดๆ เกี่ยวกับการก่อตั้งธนาคารคนจนมาก่อนเลย เขาเพียงแต่เห็นอกเห็นใจคนจนที่ไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้ได้และเขาต้องการที่จะช่วยเหลือ โดยในชั้นแรกเขาได้ช่วยเจรจาให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้ให้คนจนบางคนโดยเขายอมรับเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้ ซึ่งคนจนที่เขาช่วยเหลือเหล่านี้ก็นำเงินมาคืนธนาคารได้ตามกำหนด จนเขามีความเชื่อว่าการก่อตั้งธนาคารสำหรับคนจนโดยเฉพาะนั้นสามารถทำได้ และเมื่อเริ่มคิดที่จะทำอย่างจริงจัง จึงเริ่มมีวิสัยทัศน์และแนวคิดที่ชัดเจนจนสามารถทำข้อเสนอถึงรัฐบาลเพื่อขอก่อตั้งธนาคารคนจนขึ้น แต่ก็ต้องใช้เวลาผลักดันถึง 2 ปีเศษจึงได้รับอนุญาตให้ก่อตั้งได้

Muhammad Yunus ได้ทิ้ง Legacy อันยิ่งใหญ่ไว้ไม่ใช่เฉพาะแต่กับคนจนในประเทศบังกลาเทศ แต่รวมถึงคนจนในประเทศอื่นๆ ที่มีการนำแนวคิด Micro-Lending แบบ The Grameen Bank ไปจัดตั้งองค์กรเพื่อให้เงินกู้แก่คนที่มีฐานะทางการเงินไม่ดีด้วย (หนังสือ Banker to the Poor: Micro-Lending and the Battle Against World Poverty โดย Muhammad Yunus) ซึ่งผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนก็เหมือนกันกับ Muhammad Yunus คือ ทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตไปโดยไม่ได้คำนึงถึง Legacy แต่ทำไปตามสถานการณ์หรือโอกาสที่เป็นอยู่ในแต่ละขณะ แต่หากมีความรักหรือเชื่อในสิ่งที่เราทำอยู่ เราก็จะทำเรื่องนั้นๆ ได้ดีเป็นพิเศษจนเกิด Legacy ที่ดีงามขึ้นมาได้

(My mother always told me that as you go through life, no matter what you do, or how you do it, you have a footprint, and that’s your legacy. Jan Brewer–อดีตผู้ว่าการรัฐ Arizona ในประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี ค.ศ. 2009–2015)

ผมเป็นเพื่อนกับแพทย์ไทยคนหนึ่งที่เกิดและโตในกรุงเทพฯ แต่ได้เข้ารับราชการเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลเล็กๆ ในอำเภอเสลภูมิ (ออกเสียงว่า เส-ละ-พูม) จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่เรียนจบแพทย์จากศิริราชเมื่อ 30 กว่าปีก่อนมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้ทุ่มเทดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านสุขภาพให้แก่ผู้คนในพื้นที่อย่างไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก จนเกิดมีแนวร่วมที่เข้ามาเอื้อเฟื้อให้ความช่วยเหลือหลายกลุ่ม และได้มุ่งมั่นพัฒนาโรงพยาบาลเสลภูมิจากเดิมที่มีแพทย์ประจำเพียง 2 คนให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อการดูแลประชาชน (ปัจจุบันมีแพทย์ประจำ 10 คน) และได้รับการยกย่องให้เป็นโรงพยาบาลต้นแบบของการให้บริการ Long Term Care สำหรับผู้ป่วย และการดูแลให้ผู้ป่วยขั้นสุดท้ายไม่ต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแต่กลับไปใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอยู่ที่บ้านได้อย่างสงบ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วแพทย์คนนี้ คือ นายแพทย์อุปทิน รุ่งอุทัยศิริ (หมอถิ่น) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับคัดเลือกให้เป็นแพทย์ดีเด่นของแพทยสภาประจำปี ซึ่งเป็นรางวัลประกาศเกียรติคุณด้านคุณงามความดีและการทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม

หมอถิ่นเป็นเพื่อนนักเรียนสวนกุหลาบฯ รุ่นเดียวกับผม ซึ่งแม้ว่าผมจะไม่เคยได้สังเกตหรือรับรู้การทำงานของหมอถิ่นโดยตรง เพราะโดยสาขาวิชาชีพเราไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย แต่ผมเชื่อว่าในช่วงแรกที่หมอถิ่นเข้าประจำการที่โรงพยาบาลเล็กๆ ในจังหวัดร้อยเอ็ดนั้น หมอถิ่นคงไม่ได้ไปพร้อมกับแนวคิดที่จะสร้าง Legacy อันยิ่งใหญ่ใดๆ แต่ความเห็นอกเห็นใจทั้งชาวบ้านที่อยู่ในความดูแลและชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถดูแลให้ทั่วถึงได้ ได้ก่อให้เกิดเป็นความผูกพันที่จะต้องทำสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นเพื่อความสุขของคนเหล่านั้น เมื่อหมอถิ่นมีความมุ่งมั่นและศรัทธาในสิ่งที่จะต้องทำนั้น หมอถิ่นจึงสามารถทุ่มเทสร้างสิ่งต่างๆ ที่ถือว่าเป็น Legacy อันควรแก่การยกย่องสรรเสริญขึ้นมาได้

หมอถิ่นได้ต่อสู้กับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เป็นมาระยะหนึ่งแล้วอย่างมีสติและเข้มแข็ง โดยยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานที่ตนรักมาโดยตลอดจนกระทั่งหมดเรี่ยวแรงทำไม่ไหว

หมอถิ่นอาจจะไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งอย่างเป็นเลิศ แต่ Legacy ของหมอถิ่นในฐานะแพทย์ผู้เลือกที่จะใช้ชีวิตของตนแบบ 'ผู้สร้างและผู้ให้' โดยมีประโยชน์สุขของชาวบ้านเป็นรางวัลตอบแทนนั้น จะได้รับการจดจำไปอีกนานแสนนาน

Few of us can do great things, but all of us can do small things with great love. Mother Teresa