ทำไมต่างชาติยุคนี้ซื้อเร็วขายเร็ว

ทำไมต่างชาติยุคนี้ซื้อเร็วขายเร็ว

ทำไมต่างชาติยุคนี้ซื้อเร็วขายเร็ว

นับจากต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยไปแล้วถึง 17,880 ล้านบาท ทั้งที่เพิ่งเริ่มซื้อไปเมื่อเดือนกว่าๆ ก่อนหน้านี้เอง และมูลค่าที่ซื้อในช่วงนั้นก็เพียง 14,322 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้ตลอดทั้งปีนี้ ต่างชาติมียอดขายสะสมรวมทั้งสิ้น 8,219 ล้านบาท คำถามที่หลายคนอยากรู้คือ เกิดอะไรขึ้น?

เพราะถ้าดูจากปัจจัยพื้นฐานของประเทศก็ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ในทางกลับกัน บรรยากาศโดยรวมน่าจะดูดีขึ้นด้วยซ้ำ ตัวเลขการคาดการณ์ GDP ของไทยก็มีการปรับขึ้นเกือบจะทุกสำนักวิจัย นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เริ่มมอง GDP growth ปี 2018 ที่ 4% ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนก็ออกมาใช้ได้ ค่อนข้างใกล้เคียงกับประมาณการ บรรยากาศการเมืองถึงแม้จะเริ่มเข้มข้นขึ้นบ้าง แต่ในภาพรวมก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การเลือกตั้งก็ยังน่าที่จะเกิดขึ้นได้ภายในปลายปีหน้า

หรือถ้าดูจากปัจจัยภายนอก ก็ยังไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปในทางลบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสรรหาผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ คนใหม่ ซึ่งก็ได้คนจากสาย “พิราบ” เหมือนผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของยุโรปและญี่ปุ่น ก็ยังมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายต่อไป ประธานาธิบดีจีนก็เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ต่ออีกหนึ่งวาระ ตัวเลขเศรษฐกิจของแทบทุกประเทศก็ออกมาค่อนข้างดี ที่อาจจะสร้างความกังวลให้กับตลาดการเงินบ้างก็น่าจะเป็นเรื่องการเมืองในซาอุดิอาระเบีย ซึ่งหลายคนกลัวว่าจะทำให้ความไม่สงบในตะวันออกกลางปะทุขึ้นมาอีกครั้ง

แล้วอะไรคือปัจจัยหลักที่ทำให้ต่างชาติขายหุ้นออกมามากมาย? ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกับวิธีการซื้อขายหุ้นของต่างชาติ เพื่อจะได้ค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของการขายในรอบนี้

ในอดีต การวิเคราะห์การซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติทำได้ไม่ยากเท่าปัจจุบัน เพราะต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในบ้านเราหลักๆ มีแค่สองประเภท คือ Passive และ Active ประเภทแรกเป็นแบบไม่ต้องใช้คนดูแล เป็นกองทุนที่ล้อไปกับ Index ต่างๆ เช่น SET50 Index หรือ MSCI Index กองทุนประเภทนี้มีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับประเภท Active ที่มีผู้จัดการกองทุนเป็นคนบริหาร และมักลงทุนระยะยาว 3-5 ปีขึ้นไป พวกที่เข้าออกเร็วๆ อย่าง Hedge Funds ก็มีเข้ามาบ้าง แต่ไม่มากเพราะข้อจำกัดหลายด้านของตลาดทุนไทยในช่วงนั้น เช่น ยืมหุ้นยาก ต้นทุนในการยืมหุ้นแพง ตลาดอนุพันธ์มีสภาพคล่องน้อย (Hedge Funds ส่วนใหญ่ต้องยืมหุ้นและใช้ตราสารอนุพันธ์ในการป้องกันความเสี่ยง) การลงทุนของต่างชาติในอดีตจึงไม่หวือหวามากนัก

แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่มีการเพิ่มปริมาณสภาพคล่องเข้ามามากมายในระบบการเงินโลกผ่านนโยบาย QE วิธีการลงทุนของต่างชาติได้เปลี่ยนแปลงไปมาก กองทุนประเภท Passive ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตราสาร ETF (ซึ่งคือการลงทุน Passive อีกรูปแบบหนึ่ง) เริ่มเกิดขึ้นและได้รับความนิยมมาก และด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวนผู้จัดการกองทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ทันปริมาณเงินในระบบ ทำให้กองทุนต่างชาติที่ลงทุนในตลาดหุ้นเล็กๆ อย่างไทย กลายเป็น Passive เกือบทั้งหมด นอกจากนั้น ยังมีการออกกองทุนประเภท Quant Funds ซึ่งบริหารโดยใช้ Algorithms หรือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ แทนที่จะใช้ผู้จัดการกองทุน (มีการประเมินตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ ว่าสัดส่วนของการลงทุนโดยใช้ Algorithms ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ สูงถึง 70-80% ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมดในแต่ละวัน)

ย้อนกลับมาที่การลงทุนของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ ผมไม่แปลกใจที่ต่างชาติขายหุ้นออกมามาก เพราะตลาดไทยเริ่มปรับตัวลงหลัง Outperform เกือบทุกตลาดในช่วงปลายสิงหาคม จนถึง กลางตุลาคม ทำให้กองทุน Passive ต้องขายหุ้นตาม ในฝั่งของ Active และ Quant Funds เท่าที่ผมติดตามดูจะเห็นว่าเริ่มหยุดซื้อตอน SET Index ขึ้นไปสูงกว่า 1,700 จุด ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมตามปัจจัยพื้นฐานในเวลานี้

กล่าวโดยสรุป การขายรอบนี้ของต่างชาติยังไม่น่ากังวลอะไร ต่างชาติน่าจะกลับมาซื้ออีกในปีหน้าเมื่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเข้มแข็งกว่านี้ หรืออาจจะกลับมาเร็วกว่าถ้า SET Index ลดลงมากจนเกินไป แต่ที่แน่ๆ เราน่าจะได้เห็นพฤติกรรมเข้าเร็วออกเร็วของต่างชาติต่อไปอีกระยะหนึ่ง