แนวโน้มสินทรัพย์หลัง Fed ลดงบดุล

แนวโน้มสินทรัพย์หลัง Fed ลดงบดุล

แนวโน้มสินทรัพย์หลัง Fed ลดงบดุล

ในช่วงระยะปลายนี้ 2560 นี้ จะมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก คือ เรื่อง "การลดขนาดงบดุล" ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่อัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งทำให้ปริมาณเงินกระจายไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ณ ตอนนี้มาถึงเวลาที่ Fed จะหยุดอัดฉีดเงินแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกจับตามอง ..

จากงานศึกษาในทางปฏิบัติลดขนาดงบดุล (Normalization Plan) ของธนาคารกลางต่างๆ มีอยู่ 2 แบบ คือ "แบบ Passive Unwind" และ "แบบ Active Unwind" ซึ่ง Passive Unwind คือการปล่อยให้หลักทรัพย์ต่างๆ ที่ธนาคารกลางเข้าซื้อหมดอายุลงและไม่ทำการ Roll over ออกมาใหม่กับอีกวิธีคือ Active Unwind คือการขายหลักทรัพย์ที่ธนาคารกลางถือครอง โดย FED ส่งสัญญาณระบุว่า ในเบื้องต้น FED จะใช้นโยบายแบบ Active Unwind ซึ่งหลักทรัพย์ที่จะมีการขายออกมานั้นจะเป็น U.S. Treasury Securities และ MBS (Mortgage Backed Security) ที่ได้ซื้อไว้ตั้งแต่ปี 2009 โดยจะขาย Treasury ออกมาเดือนละ 6 พันล้านเหรียญฯ และจะขยับวงเงินเพิ่มขึ้นทุกๆ 3 เดือน ครั้งละ 6 พันล้านเหรียญฯ กำหนดเพดานวงเงินในการขายสูงสุดไว้ที่ 30 พันล้านเหรียญฯ ขณะที่การขาย MBS จะขายออกมาเดือนละ 4 พันล้านเหรียญฯ และจะขยับวงเงินในการขายเพิ่มขึ้นทุกๆ 3 เดือนเช่นกัน เพิ่มครั้งละ 4 พันล้านเหรียญฯ และกำหนดเพดานวงเงินการขายไว้ที่ 20 พันล้านเหรียญฯ โด Fed ได้เริ่มต้นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเป็นเดือนแรก ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงสิ้นปี

นั่นคือแนวทางของ Fed ที่ได้เริ่มการดำเนินการ ดังนั้นเมื่อเกิดการลดงบดุลเช่นนี้แล้วจะมีผลอย่างไรต่อตลาดเงินตลาดทุน .. KTBST ได้ทำการวิเคราะห์และประเมิน จึงพบว่าในเรื่องของ ความสัมพันธ์ (Correlation)ในการลดขนาดงบดุลของ FED กับผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ได้สูงมากจนน่ากังวล จากศึกษาพบว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมาความสัมพันธ์ในตลาดหุ้นของแต่ละประเทศเริ่มมีการกระจายตัวมากขึ้น ต่างจากช่วงปี 2005 – 2012 ที่ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน สาเหตุหลักที่การเคลื่อนไหวนั้นแตกต่างกันเป็นเพราะทั้ง ECB และ BOJ ยังคงมีการอัดฉีดเม็ดเงินอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ FED หยุดการอัดฉีดเงินตั้งแต่ปี 2015 ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศที่แตกต่างกันออกไป


แนวโน้มสินทรัพย์หลัง Fed ลดงบดุล

Correlation ระหว่างการเปลี่ยนแปลงขนาดงบดุลของ FED ต่อผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ : ที่มา KTBST

ดังนั้น KTBST จึงมีมุมมองว่าการลดขนาดงบดุลของ Fed นั้นจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาพรวมของตลาดหุ้นมากนัก ยกเว้นตลาดหุ้นยุโรปที่มี Correlation ต่อการเปลี่ยนแปลงขนาดงบดุลของ FED สูงที่สุดในกลุ่ม

แต่เมื่อมาดูทางด้าน Correlation ของพันธบัตรไทยแล้วพบว่าความเสี่ยงจากการถูกเทขายของพันธบัตรนั้นสูงกว่าตราสารทุน หากเกิดการลดขนาดงบดุลของ FED เนื่องจาก Correlation มีค่าเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปีซึ่งในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ยังสูงกว่าตราสารทุนของไทยโดยเปรียบเทียบดังนั้นสำหรับตราสารหนี้ค่อนข้างจะมีความเสี่ยง

โดยสรุปแล้วผมประเมินว่า ด้วยสภาพคล่องจากธนาคารกลางขนาดใหญ่อย่าง ECB และ BOJ ยังคงมีอยู่ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนและการลดขนาดงบดุลของ FED นั้นมีความสัมพันธ์กันที่น้อยลงมากกว่าช่วงที่มีการอัดฉีด QE ดังนั้นการลดขนาดงบดุลของ FED จะทำให้ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างจำกัดและไม่รุนแรง แต่อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่ต้องติดตามคือนโยบายของ 'ทรัมป์' เรื่องมาตรการปฏิรูปภาษี และการทำหน้าที่ของประธาน Fed คนใหม่ที่จะเริ่มในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งอาจจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการลดขนาดงบดุล ก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่สินทรัพย์เสี่ยงมีความผันผวนได้ในระยะสั้น

KTBST Private Wealth Management มองว่า ปัจจัยต่างประเทศยังส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยอยู่ต่อเนื่อง แต่จะเป็นในทิศทางบวกมากกว่า ขณะที่ตลาดหุ้นไทยที่เดินเข้าสู่ช่วงปลายปีด้วยแรงหนุนของเศรษฐกิจในประเทศรวมทั้งปัจจัยบวกจากการเมืองที่กำหนดวันเลือกตั้ง ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวมายืนที่ระดับ 1,700 จุด และยังไม่มีปัจจัยกระทบอะไรอย่างมีนัยยะ ซึ่งนักลงทุนอาจพิจารณาเลือกลงทุนในหุ้นที่ได้ปัจจัยบวกการเติบโตของเศรษฐกิจ ทั้งกลุ่มธนาคาร กลุ่มอุปโภคบริโภค รวมถึงกลุ่มท่องเที่ยว รวมถึงหลายท่านอาจเริ่มวางแผนลงทุนลดหย่อนกันแล้วตั้งแต่ช่วงนี้ แต่อย่าลืมกระจายความเสี่ยงกันด้วยนะครับ สนใจติดต่อที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล KTBST Private Wealth Management ได้ที่ 02-648 1731