มอง Disruptive Technology ผ่าน Tesla

มอง Disruptive Technology ผ่าน Tesla

มอง Disruptive Technology ผ่านผลประกอบการบริษัทอย่าง Tesla

บริษัทเทสล่าร์ หรือ Tesla ของนายอีลอน มัสก์ CEO ของบริษัทฯ ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3Q2017 ออกมา ยอดขายอยู่ที่ $3.0 billion ซึ่งถือว่า เยอะกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ $2.3 billion ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นถึง 30% ทีเดียว

ยอดขายไตรมาสนี้ ถือว่าเติบโตเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกันแล้ว หลักๆ การเติบโตของรายได้ก็มาจากรถยนต์ Tesla Model S และ Model X ที่ส่งมอบรถให้ลูกค้าได้รวมทั้งสิ้น 25,915 คันใน 3Q2017

ถ้านับเฉพาะยอดขายรถยนต์ของบริษัท คิดเป็นรายได้รวม มากกว่า $2.4 billion หรือเกินกว่า 80% ของบริษัททีเดียว โดยรายได้อีกบางส่วน มาจาก energy generation and storage อย่าง Powerwall และ Powerpack รวมกัน ประมาณ $317 million ซึ่งถามว่าขายดีไหม ก็ต้องบอกว่า ดีเช่นเดียวกัน เพราะมากกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วที่อยู่ที่ $286 million

ยอดขายโต ก็ควรมาโชว์ที่กำไร?

ไม่ใช่ครับ และหลายๆบริษัท Tech Company ยักษ์ใหญ่ก็เป็นเช่นเดียวกัน Tesla คือ พอเหลือบมองลงมาที่ Bottom line จะพบว่า Tesla ขาดทุนในไตรมาส 3Q2017 ไป $619 Million ถือว่า ขาดทุนหนักทีเดียว

มองไปที่ปัญหา ก็พบว่า เกิดจากยอดขาย Tesla Model 3 ซึ่งส่งมอบได้เพียง 222 คัน จากที่ CEO เคยสัญญาไว้ว่า น่าจะส่งมอบได้ 1,500 คัน จากการชยายและเพิ่มสายการผลิต Model 3 ซึ่งถือว่าเป็น Model ที่มีราคาถูกลง และผู้บริโภคเอื้อมถึง โดย อีลอน มัสก์ เคยพูดไว้ว่า เตรียมจะผลิต Model 3 ให้ได้ 20,000 คันต่อเดือน เพราะจากการสำรวจตลาด คาดว่า มีผู้สนใจไม่ต่ำกว่า 500,000 รายในสหรัฐฯ

เร่งการผลิต ขยายโรงงาน เพิ่มคนงาน ต้นทุนเพิ่ม คุมประสิทธิภาพไม่ได้ ส่งมอบรถได้ช้า ก็ตามมาด้วยการขาดทุน

หลายๆบริษัท ที่เป็น Disruptive Technology จะประสบปัญหาคล้ายๆกับที่เทสล่าร์เจอในวันนี้ ก็คือ การทำให้คุณภาพยังคงเป็นดังเช่นวันแรก ในขณะที่ลูกค้าเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ บริษัทที่สามารถผ่านจุดนี้ไปได้เท่านั้น ถึงจะเป็นผู้เปลี่ยนโลกไปได้อย่างแท้จริง

ถามว่า เพราะอะไร? ก็เพราะ จะทำให้บริษัทโตขึ้น ก็ต้องพึ่งพาเงินลงทุนที่สูงขึ้น และโดยส่วนใหญ่ มันไม่ใช่เงินผู้ก่อตั้งเพียงกลุ่มเดียว แต่เป็นเงินของเหล่า Venture Capital และนักลงทุน ที่รักที่จะเสี่ยงกับบริษัท และยอมให้ขาดทุนได้ในช่วงพัฒนา และทดลองตลาด

แต่ผ่านไปซักพัก เงินลงทุนเหล่านี้ ไม่มีใครอยากเห็นตัวเลขขาดทุนไปอีก 10 ปี 20 ปีหรอกครับ โลกทุนนิยม ยังไงเขาก็อยากมีกำไร ดังนั้น วันที่ขยายตลาด ใครที่คุมต้นทุนการผลิต และคุณภาพให้ลูกค้าหลักล้านได้ เช่นเดียวกับวันที่มีลูกค้าหลักร้อย คนนั้นจึงถือว่าเป็นผู้ชนะ

ก็กลายเป็น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทแบบดั้งเดิม หรือจะทำธุรกิจเทคโนโลยี จะเรียกตัวเองว่า SME หรือ เรียกตัวเองว่า Startup สุดท้าย ก็ต้องบอกกับผู้ถือหุ้นให้ได้ว่า กำไรอยู่ตรงไหน มันอาจไม่ใช่วันนี้ แต่ก็ต้องเป็นวันข้างหน้าในอนาคตอยู่ดี

ข่าวการขาดทุนของเทสล่าร์ออกมาเมื่อวันที่ 2 พ.ย. สัปดาห์ที่แล้ว ทำให้ราคาหุ้นของเทสล่าร์ร่วงจาก $321 ตอนนี้ลงมาอยู่ที่ $304 ลดลงมา -5% นิดๆ ดูเหมือนไม่เยอะ แต่เอาจริงๆ ราคาหุ้นเทสล่าร์ตอนนี้ ทำจุดต่ำสุดในรอบ 6 เดือนเลยทีเดียว

เจอแบบนี้นายอีลอน มัสก์ ทำอย่างไร?

สิ่งที่อีลอน มัสก์ ทำหลังจากประสบปัญหาขาดทุนไตรมาสนี้ ก็คือ กลับไปควบคุมประสิทธิภาพ และคุณภาพการผลิต โดยตัดสินใจปลดพนักงานออกประมาณ 700 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 2% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 33,000 คน โดย 700 คนนี้ คือเหล่าพนักงานที่ถูกประเมินผลงานประจำปีแล้วไม่ผ่านหรือผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจ

ถามว่าอีลอน มัสก์ โหดไหม มองมุมนี้ ก็ต้องบอกว่าโหดครับ

แต่อีกมุมหนึ่ง ก็มีพนักงานหลายพันคน (มากกว่าที่ตัดสินใจปลด) ที่ได้รับการเลื่อนขั้น ซึ่งหลายคนอยู่ในสายงานด้านการผลิตรถยนต์ต่อไป

ยังไงเราก็คงต้องจับตาดูพัฒนาการของ Tesla และวิสัยทัศน์อันเกินจินตนาการของอีลอน มัสก์ กันเรื่อยๆนะครับ สิ่งที่เกิดจากหัวของคนคนนี้ เชื่อว่า มีโอกาสเปลี่ยนโลกได้แน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ ประกาศออกมาแล้วว่า มีแผนจะพาคนไปดาวอังคารให้ได้ในปี 2024 และเริ่มลงมือสร้างระบบขนส่งเพื่อทำภารกิจนี้ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป แถมยังบอกอีกว่า คนจะสามารถเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งในโลกภายในไม่กี่นาที โดยเรียกเสียงฮือฮาด้วยการยกตัวอย่างว่า การเดินทางจากนิวยอร์กไปเซี่ยงไฮ้ จะใช้เวลาประมาณ 40 นาทีเท่านั้น โดยตัวจรวดรุ่นใหม่ในชื่อ BFR

อย่าขาดทุนหนักจนเจ๊งไปก่อนแล้วกันนะมัสก์ ชาวโลกอยากเห็นอะไรใหม่จากชายคนนี้ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราในอนาคตจริง