ตั้งคำถาม เพื่อนำสู่การเปลี่ยนแปลง

ตั้งคำถาม เพื่อนำสู่การเปลี่ยนแปลง

เพียงเราโยนคำถามลงไปในกลุ่มคน ให้ช่วยกันคิดหาวิธี ถ้ามีคน100 คน เราอาจจะได้ไอเดียใหม่มาไม่น้อยทีเดียว

ถ้า Creativity เป็นเหมือนการจุดระเบิดที่หัวเทียน เพื่อติดเครื่องยนต์ (จุดประกายความคิด) Change เป็นกระบวนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง เพื่อเปลี่ยนความร้อนให้เป็นพลังงานกล (เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่) Innovation ก็คือกลไกขับเคลื่อนของเครื่องยนต์และชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อให้รถยนต์เกิดการเคลื่อนที่ (เป็นจริง ใช้งานได้ และได้รับความนิยม)

 ดังนั้นอาจบอกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนำมาสู่นวัตกรรม และนวัตกรรมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็คงจะไม่ผิดนัก แม้ว่าทั้งสองคำจะไม่ได้มีความหมายที่เทียบเท่ากัน นั่นคือการเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากับหรือคือนวัตกรรม แต่ทั้งสองคำมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เพราะถ้าเราไม่คิดจะเปลี่ยนก็คงไม่ทำให้เกิดนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ ในขณะเดียวกันนวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับจะค่อยๆเข้ามาและกลายเป็นกระแสหลักของการใช้ชีวิตหรือการทำงานจนถึงกับล้มล้างสิ่งเดิม/วิธีการเดิมๆไปในที่สุด

 คนที่ไม่คิดจะเปลี่ยนก็คงอยู่ได้ยาก โดยเฉพาะในยุคสมัยปัจจุบันที่เราสามารถเห็นสิ่งต่างๆรอบตัวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีสิ่งใหม่เข้ามาทดแทนในระยะเวลาที่สั้นมาก คำว่า Disruption ก็อาจจะกลายเป็นคำน่ากลัวสำหรับคนที่ไม่มีความตระหนักถึงการพัฒนา ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง แต่ก็เป็นคำที่ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นตัว มีความหวัง เกิดความปรารถนา และท้าทาย สำหรับนักคิด นักประดิษฐ์ และนักพัฒนา

 สำหรับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมการทำงานในองค์กรต่างๆของไทย เราอาจจะไม่ค่อยรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงมากนัก เมื่อ 20 ปีที่แล้ว คอมพิวเตอร์เข้ามาปฎิวัติก่อให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานใหม่ แต่ก็ยังไม่สามารถกวาดล้างเอกสารกองโตออกจากพื้นที่ทำงานได้มากนัก และคนทำงานในอดีตมักจะไม่ค่อยถนัดที่จะตั้งคำถาม และไม่ค่อยได้รับโอกาสในการที่จะนำเสนอความคิดใหม่ ใครที่มักตั้งคำถามหรือมีความคิดแตกต่าง กลับไม่ค่อยได้รับคำชมว่ามีความคิดสร้างสรรค์ แต่กลับถูกมองว่าเป็นแกะดำและคนที่ขัดขวางทำให้งานล่าช้า โชคดีที่หลายโรงงานอุตสาหกรรมของไทยได้รับเอาวัฒนธรรมการปรับปรุงงานจากญี่ปุ่น ที่เรียกว่าไคเซ็น (kaizen) และเกิดการรวมกลุ่มปรับปรุงคุณภาพ (Quality circle) แต่นั่นเป็นวัฒนธรรมการตั้งรับ ที่เน้นมุ่งแก้ปัญหา แต่ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่

 โชคดีที่ปัจจุบันเราเริ่มตระหนักแล้วว่าวัฒนธรรมแบบเชิงรุก โดยการตั้งคำถามที่ท้าทายกับความสามารถของตัวเอง น่าจะเป็นสิ่งใหม่ที่ต้องทำให้เกิดขึ้นในองค์กร และควรให้เกิดขึ้นมากๆเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่ใช่ทุกความคิดใหม่จะใช้ได้เสมอไป ยังต้องผ่านกระบวนการคัดกรองหลายขั้นกว่าจะกลายเป็น ความคิดใหม่ที่น่าจะเป็นไปได้และสร้างประโยชน์ต่อการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร

 หลายองค์กรเริ่มกระตุ้นและสร้างกิจกรรมต่างๆเพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้พนักงานภายในองค์กรได้คิดและนำเสนอแนวคิดที่จะมาพัฒนาให้องค์กรมีความก้าวหน้าและทันสมัยอย่างก้าวกระโดดมากขึ้น แม้ว่าผู้บริหารหลายองค์กรเองก็ยังกล้าๆกลัวๆ ไม่แน่ใจ และไม่กล้าเสี่ยงมากพอที่จะยอมเสียเงินบางส่วนไป หากแนวคิดใหม่นั้นไม่ประสบความสำเร็จในการทดลอง

 การตั้งคำถามเพื่อท้าทายสิ่งเดิม เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด และมีต้นทุนน้อยที่สุดในการช่วยจุดประกายให้คนที่เกี่ยวข้องได้คิดออกไปจากกรอบความคิดเดิมและวิธีการทำงานที่เป็นมาตรฐาน ผมจะลองชี้ให้เห็นถึงตัวอย่างคำถามที่ช่วยจุดประกายความคิด เพียงเราโยนคำถามเหล่านี้ลงไปในกลุ่มคน แล้วให้คนเหล่านั้นช่วยกันคิดหาวิธี ถ้ามีคน100 คน เราอาจจะได้ไอเดียใหม่มาไม่น้อยทีเดียว

 คำถามซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง อาทิ ทำให้ถูกลงอีกได้หรือไม่ (Cost) ทำไมไม่เอามารวมกัน (Combine) ทำไมไม่แยกส่วนต่างๆออกจากกัน (Separation) เอาบางส่วนออกไปได้หรือไม่ (Eliminate) ทำให้ทั้งหมดหรือบางส่วนเล็กลงได้หรือไม่ (Smaller) ใช้วัสดุอย่างอื่นทดแทนได้ไหม (Compensation) เปลี่ยนรูปทรงเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ (Shape) ทำให้เหมือนกันได้ไหม (Same) ทำให้น้ำหนักเบาลงอีกได้หรือไม่ (Weighting) ทำให้ใช้เวลาน้อยลงได้หรือไม่ (Time) ไม่ต้องบริการให้ลูกค้าได้หรือไม่ (Self-service) ทำให้ใช้คนน้อยลงได้หรือไม่ (Man Power) ทำให้เสียงเงียบลงได้หรือไม่ (Silent) ทำให้เหม็นน้อยลงได้หรือไม่ (Smell) ทำให้ใช้ได้หลายๆครั้งได้หรือไม่ (Repeating) ทำให้สะดวกขึ้นได้หรือไม่ (Friendly User) ทำให้เจ็บน้อยลงได้หรือไม่ (Suffering) และทำให้หยั่งรู้ล่วงหน้าได้หรือไม่ (Forecasting)

 คำถามเหล่านี้ จะทำให้เกิดความคิดใหม่ๆมากมาย และบางความคิดเหล่านั้น หรือหลายความคิดมาเสริมเติมกัน ทำให้เกิดความคิดที่นำไปสู่การคิดค้นทดลองและสร้างสิ่งใหม่ แน่นอนถ้าผลผลิตของความคิดนั้นก่อให้เกิดประโยชน์และส่งผลต่อสังคมวงกว้าง ย่อมได้รับการยอมรับว่าเป็นนวัตกรรมในที่สุด