ระบบเศรษฐกิจของการหลบหนีไปจาก “ชีวิตประจำวัน”

ระบบเศรษฐกิจของการหลบหนีไปจาก “ชีวิตประจำวัน”

การดำเนินชีวิตของผู้คนในโลกวางอยู่บนฐานของการใช้ชีวิต 2 ระนาบควบคู่กันไป ระนาบแรกเป็นการดำเนินชีวิตประจำวัน อีกระนาบหนึ่ง

เป็นความพยายามใช้ชีวิตแบบหลบหนีออกจากชีวิตประจำวัน ซึ่งการใช้ชีวิต 2 ระนาบเช่นนี้ก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจ 2 ระบบซ้อนทับกันขึ้น 

การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นเงื่อนไขแรกของการที่จะมีชีวิตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันทั่วไป โดยเฉพาะในระบบเศรษฐกิจที่ทำให้ทุกอย่างเป็น ทุน ที่นำไปสู่การผลิต ขาย และหมุนวนกลับมาสู่การสะสมทุนที่ได้เพิ่มขึ้นมา ระบบเศรษฐกิจนี้ได้ทำให้เกิดการแบ่งงานกันทำเข้มข้นมากขึ้นและทำให้ส่วนของชีวิตการทำงานของแต่ละคนในแต่ละหน่วยงานต้องผูกพันกันแน่นมากขึ้นจนทำให้ทุกหน่วยย่อยไม่สามารถที่จะแยกตัวหรือยุติการปฏิบัติการณ์ของตนได้ 

เพราะการทำงานในชีวิตประจำวันของแต่ละคนเป็นความจำเป็นในการจรรโลงสังคมเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงทำให้เกิดการประกอบสร้างความรู้สึกหลายชุดฝังเข้าไว้ในระบบความคิดเพื่อที่จะทำให้คนทั้งหมดสามารถทำงานต่อเนื่องได้ ที่สำคัญ ได้แก่ การทำให้รู้สึกถึงคุณค่าและความหมายของชีวิตอยู่ที่ผลของการทำงาน และการทำให้เกิดขั้นตอนในการบรรลุความสำเร็จของชีวิตการทำงานไม่ว่าจะเป็นความร่ำรวย ยศตำแหน่ง ขั้นเงินเดือน ฯลฯ 

แม้ว่าจะมีการประกอบสร้างชุดความรู้สึกให้ยอมรับการทำงานในชีวิตประจำวันอย่างไรก็ตาม แต่งานประจำก็เป็นกิจวัตรประจำ (routine) ที่จำเจและน่าเบื่อหน่ายตลอดมา เพราะการทำงานซ้ำๆ (repetition )ย่อมทำให้จังหวะของชีวิตหมดความหมาย ความรู้สึกถึงความสุขที่ได้ทำงานสำเร็จไปได้หรือความรู้สึกชื่นชมต่อผลงานของตนเองลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ตามความเข้มข้นของการแบ่งงงานกันทำที่แยกเป็นส่วนเสี้ยวมากขึ้น เพื่อที่จะแก้ไขและลดทอนปัญหาของความรู้สึกของผู้คนเช่นนี้. กระบวนการทางสังคมเศรษฐกิจจึงได้สร้างระบบเศรษฐกิจอีกระนาบหนึ่งซ้อนเอาไว้เพื่อรองรับความเบื่อหน่ายของผู้คน 

ระบบเศรษฐกิจของการหลบหนีออกจากชีวิตประจำวันที่น่าเบื่อหน่ายจึงขยายตัวขึ้นและปรับเปลี่ยนรูปแบบสร้างความหลากหลายมาตลอดเวลา เพื่อที่จะทำให้ผู้คนสามารถหลบหนีเข้าไปใช้ชีวิตชั่วคราวที่หลุดพ้นจากสภาวะประจำที่จำเจน่าเบื่อหน่าย 

หลักการพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจของการหลบหนีจากชีวิตประจำวันจะประกอบด้วยการทำให้เกิด “พื้นที่แห่งความเสรี" (Free Area) ที่ทุกคนสามารถเข้าไปใช้ชีวิตอย่างชนิดที่หลุดพ้นออกจากระเบียบของชีวิตประจำวัน คนทุกคนจะดำเนินชีวิตในพื้นที่เสรีตามที่ใจปรารถนา “พื้นที่แห่งความเสรี” จะถูกตบแต่ง/สร้างสรรค์ทำให้เป็นเสมือนดินแดนแฟนตาซีหลากหลายรูปแบบอย่างชนิดที่ชีวิตธรรมดาไม่มีทางได้พบและได้เห็น 

พร้อมไปกับการสร้าง “พื้นที่แห่งความเสรี” การทำให้ผู้คนรู้สึกว่าได้เดินทางเส้นใหม่ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับชีวิตประจำวันจะถูกเน้นมากขึ้น เพราะเป็นเสมือนเส้นทางแห่งการหลีกหนี (Escape Routine ) ในแต่ละวันของการใช้ชีวิตเพื่อหลบหนีนี้ก็จะเน้นให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกสุดเหวี่ยง ไม่ว่าความรู้สึกกลัว ความรู้สึกรัก ฯลฯ อย่างที่เราไม่มีทางจะรู้สึกได้ในชีวิตธรรมดา 

ขณะเดียวกัน พื้นที่แห่งความเสรีนี้จะทำให้คนรู้สึกถึง ความหมายของตัวตนที่สูง/มีค่า/ถูกยอมรับมากกว่าชีวิตปรกติ. กล่าวได้ว่าเป็น พื้นที่แห่งอัตลักษณ์" (Identity Sites) การได้รับการยอมรับในลักษณะใหม่ของอัตลักษณ์ที่ถูกสวมให้แก่ผู้คนทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจในตนเองมากขึ้น 

การสร้างระบบเศรษฐกิจของการหลบหนีจากชีวิตประจำวันอีกระนาบหนึ่งซ้อนเอาไว้เช่นนี้ ได้เปิดช่องให้ผู้คนได้ผ่อนคลายความตึงเครียดและหยุดความเบื่อหน่ายไปได้ช่วงเวลาหนึ่งเพื่อที่จะกลับมาสู่ชีวิตประจำวันเพื่อจรรโลงระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมให้ดำเนินต่อไปได้ 

“พื้นที่แห่งความเสรี” ที่ประกอบสร้างด้วยความรู้สึกหลายชุดดังกล่าวได้กลายมาเป็นระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่ก่อให้เกิดรายได้มหาศาลให้แก่สังคม และได้กลายเป็นฐานของระบบเศรษฐกิจของสังคมไทยด้วยเช่นกัน เราเรียกระบบเศรษฐกิจการหลบหนีนี้ในคำที่มีความหมายกลางๆ และเป็นคำรวมๆว่า “การท่องเที่ยว” แต่ในความเป็นจริงแล้วส่วนลึกของการเกิด “การท่องเที่ยว” ก็คือการทำให้ผู้คนหลบหนีจากชีวิตประจำวันมาสู่ชีวิตแบบใหม่ชั่วคราวเพื่อให้กลับไปเป็นฟันเฟืองของระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่กำกับชีวิตของตนนั่นเอง 

หากทำความเข้าใจส่วนลึกของระนาบเศรษฐกิจของการหลบหนีออกจากชีวิตประจำวันเช่นนี้ เราก็จะเข้าใจมากขึ้นถึงความรู้สึกของเราที่ถูกกระตุ้นจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว เช่นว่า “ดินแดนแห่งความฝัน” “เส้นทางแห่งความตื่นเต้น” ฯลฯ รวมไปถึงการทำให้เรารู้สึก “โหยหาอดีต” ที่จริงๆแล้วเราไม่ได้คุ้นเคยอะไรเลยแม้แต่น้อย (อดีตก็เป็นพื้นที่แห่งแฟนตาซีและ “อัตลักษณ์” ของเราในการเที่ยว "อดีต” ปลอมๆ ก็คล้ายๆ กลับการนั่งยานย้อนเวลาไปดูอดีต) ซึ่งความเข้าใจมากขึ้นนี้ก็อาจจะทำให้เราคิดถึงหนทางในการหลบหนีชีวิตประจำวันในชีวิตประจำวันได้มากและหลากหลายขึ้น

หากทำความเข้าใจความหมายของระบบเศรษฐกิจนี้ ก็อาจจะทำให้ผู้ประกอบการที่สัมพันธ์อยู่กับระบบได้คิดและแสวงหาแนวทางในการทำให้ ชีวิตที่หลบหนี ของผู้คนนั้นมีความหมายและเกื้อกูลสังคมมากขึ้น เช่น การท่องเที่ยวเพื่ออุทิศตนเองให้แก่งานสาธารณะ เป็นต้น 

ในระบบเศรษฐกิจทั้งหมดนี้ เราทั้งหมดเป็นเหมือน หนูถีบจักรที่ไม่รู้ว่าจะถีบจักรไปทำไม เราอาจจะต้องทำตัวเองให้เป็น หนูผู้รอบรู้” (Enlightened Rat) เพื่อที่จะทำให้ชีวิตเล็กๆ ของเราในโลกนี้มีความหมายมากขึ้น