ความเพียร มีอยู่ในใจของทุกคน

ความเพียร มีอยู่ในใจของทุกคน

มื่อคืนวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ได้นั่งรอดูการถวายพระเพลิงจริงของรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่สี่ทุ่ม และท่ามกลางกระแสข่าวว่า

มีการเลื่อนไปเรื่อยๆเป็นห้าทุ่มครึ่ง และอาจเป็นตีหนึ่งของวันใหม่ จากหลายเหตุผล แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจกับเหตุผลมากนัก เมื่อต้องเลื่อนก็ต้องเลื่อน เพราะเป็นพระราชประสงค์ และเป็นเรื่องภายในที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องรับทราบทั้งหมด จนกระทั่งห้าทุ่มครึ่งจึงเห็นรูปควันพวยพุ่งจากพระเมรุมาศ

ได้ตั้งสติมั่น นึกถึงพระองค์ และคำสอนของพระองค์...

ในจำนวนคำสอนของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ที่มีมากมายหลากหลายนั้น คำสอนหนึ่งของพระองค์ที่ใช้มาตลอดคือเรื่องของ ความเพียร

หลายครั้งหลายหนที่เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์มากว่า 15 ปี เคยอยากเขียนเรื่องความเพียรของคนธรรมดาอย่างเราๆว่า ถ้าเราไม่ท้อถอย เราอาจประสบความสำเร็จได้เช่นกัน เพียงแต่ระดับของความสำเร็จอาจไม่เหมือนกันหรือเท่ากัน แต่ย่อมดีกว่าปล่อยให้ทุกอย่างล่องลอยไปตามยถากรรม หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต เพราะนั่นนอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังสร้างปัญหาให้กับครอบครัวและสังคมรอบข้างอีกด้วย

บรรพบุรุษของครอบครัวของเราเป็นคนต่างจังหวัด พื้นฐานมาจากชาวนาและค้าขายทางเรือ จนขึ้นมาตั้งบ้านเรือนบนบก แต่ก็ยังอยู่ริมน้ำ แม้ในสมัยคุณพ่อและคุณแม่เติบโตจะมาทำงานรับราชการ แต่ก็เป็นข้าราชการผู้น้อยระดับเสมียนและครูโรงเรียน ตัวเองและน้องอีกสามคนเติบโตจากต่างจังหวัด เรียนหนังสือโรงเรียนวัดใกล้บ้านในระดับประถม ซึ่งบางครั้งห้องเรียนก็คือใต้ถุนกุฏิพระนั่นเอง

ในระยะเริ่มต้นเรามีชีวิตที่ไม่ลำบากนัก แต่ไม่สบายมากนัก พออยู่ได้เหมือนชาวบ้านทั่วๆไป

เหตุการณ์มาพลิกผันเมื่อครอบครัวเกิดความแตกร้าวในช่วงที่ตัวเองอยู่ระดับมัธยมต้น และน้องๆอีกสามคนยังอยู่ระดับประถม เรากลายเป็นครอบครัวบ้านแตกสาแหรกขาด ลูกสี่คนกระจัดกระจายอยู่กับฝั่งโน้นบ้าง ฝั่งนี้บ้าง

โชคดีอยู่บ้างที่คุณตาคุณยายของเราเข้าใจและรักหลาน เราจึงได้กลับมารวมกันอีกครั้งที่บ้านคุณแม่ที่อยู่รวมกับคุณตาคุณยาย แต่ชีวิตก็ไม่ได้ราบรื่นนัก ตัวเองก็ถูกส่งไปเรียนมัธยมอีกจังหวัดหนึ่ง ปิดเทอมถึงจะได้กลับบ้าน รวมพี่รวมน้อง และที่สำคัญคือเสียงครหาจากหลายคนที่พูดให้เราได้ยินหลายๆครั้งว่าพวกเราไม่น่ารอดปากเหยี่ยวปากกาไปได้เพราะครอบครัวบ้านแตกสาแหรกขาดแบบนี้

เมื่อตัวเองได้เติบโตจากการเป็นเด็กหอ มีเพื่อนหลายคน และโชคดีที่หลายคนเป็นคนเรียนเก่ง ก็เลยพยายามเรียนให้เก่งเหมือนเขา แม้ว่าโดยศักยภาพจะไม่เท่าพวกเขา แต่ก็จบมัธยมต้นจากโรงเรียนต่างจังหวัดในระดับกลางๆ สมุดพกทุกฉบับ ครูประจำชั้นจะเขียนเหมือนกันหมดว่าเป็นคนสติปัญญาปานกลาง

ชีวิตพลิกผันเมื่ออยากเรียนต่อมัธยมปลาย เพื่อนๆที่เก่งๆพูดกันว่าจะมาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่กรุงเทพ ซึ่งพวกเขามีโอกาสมากเพราะเป็นเด็กเก่ง แต่สำหรับเราคงไม่ใช่เรื่องง่าย จึงคิดว่าน่าจะไปสายอาชีวะหรือสายครูที่มีโอกาสสอบติดมากกว่า นอกจากนั้นในระหว่างอยู่ ม.ศ. 3 เคยสมัครสอบแข่งขันคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทยที่กรุงเทพกับเพื่อน เพื่อทดสอบความสามารถ การสอบครั้งนั้นใช้จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเป็นสนามสอบ และห้องสอบคือคณะวิทยาศาสตร์ ผลก็คือคะแนนไม่สูงพอที่จะได้รับประกาศนียบัตรอะไรเหมือนเพื่อนๆ ก็ยิ่งตอกย้ำว่า เราคงเรียนสายนี้ไม่ได้

แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนใจกลับมาตัดสินใจตามเพื่อนสมัครสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมฯเหมือนคนอื่นอีกกว่าสิบคน เป็นการลองอีกครั้งที่จะสอบเข้าแผนกวิทย์ ผลก็คือไม่ติดแผนกวิทย์ แต่ติดแผนกศิลปะคำนวณแทน และในที่สุดก็ตัดสินใจเรียนแผนกศิลปะ แต่เลือกภาษาฝรั่งเศส แทนคณิตศาสตร์ ทั้งๆที่ไม่เคยเรียนภาษาฝรั่งเศสมาก่อนในชีวิต การเรียนในระยะแรกจึงลุ่มๆดอนๆ เพราะพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสน้อยมากเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมชั้นที่จำนวนมากมาจากโรงเรียนในกรุงเทพที่เรียนภาษามาตั้งแต่เด็ก ในบางครั้งบางวิชาเช่นภาษาอังกฤษ ยังเคยสอบตกคนเดียวในห้อง

แต่เมื่อตั้งหลักได้ โดยเฉพาะได้ครูดีที่สอนเพิ่มด้านภาษาอังกฤษให้เป็นพิเศษ ก็กลับมาทำได้ดี เมื่อจบมัธยมปลายเป็นที่หนึ่งในห้องและติดบอร์ดแห่งประเทศไทยคนเดียวในห้อง ถือเป็นการพลิกชีวิตอีกครั้ง

เมื่อเรียนจบมัธยมปลาย ได้เข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ชีวิตส่วนตัวก็ยังลุ่มๆดอนๆเหมือนเดิม ต้องโยกย้ายที่อยู่หลายครั้ง ในขณะที่น้องๆเริ่มเรียนจบตามมา

ชีวิตเปลี่ยนไปอีกครั้งเมื่อเรียนจบ ทำงานด้านกฎหมาย และในปี 2519 มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตการทำงาน เมื่อเข้าไปช่วยงานรัฐบาล และเกิดรัฐประหาร ผลก็คือต้องตกงาน ไม่มีที่ไหนให้ทำงานด้วย ชีวิตมีความยากลำบากพอสมควร แต่เนื่องจากไม่มีภาระอะไรจึงพออยู่ได้กับการค้าขายเล็กๆน้อยๆ และในที่สุดได้ตัดสินใจไปต่างประเทศตอนต้นปี 2520 ทำงานและเรียนไปพร้อมๆกันทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก

ในช่วงนั้น ทางบ้านเมืองไทยก็เริ่มมีปัญหาในครอบครัว คุณแม่จึงขอให้ช่วยน้องๆ จากที่เพียงช่วยตัวเองจึงต้องหันมาดูแลน้องๆ และพยายามรับไปอยู่ต่างประเทศด้วยกันทีละคน จนในที่สุดทั้งสี่คนก็ไปเรียนต่างประเทศ โดยเรียนด้วยทำงานด้วยเหมือนกันหมดทั้งน้องสาวน้องชาย

หลังจากใช้ชีวิตเกือบ 14 ปีที่ต่างประเทศ ได้กลับเมืองไทยถาวร พร้อมๆกับน้องๆที่กลับมาก่อนหน้านั้น บ้านเรากลายเป็นบ้านที่มีคนจบปริญญาเอกถึงสามคน เมื่อรวมภรรยาก็เป็นสี่คนด้วยกัน เป็นเรื่องที่พลิกผันจากที่เกือบเอาตัวไม่รอดเพื่อให้พ้นปากเหยี่ยวปากกา กลายเป็นว่าเราได้มายืนจุดที่สูงมากอย่างไม่เคยคิดมาก่อน

เป็นประสบการณ์หนึ่งที่คิดว่าหลายคนอาจคิดว่าชีวิตนี้ไม่มีหวัง แต่ถ้าได้พยายามอย่างต่อเนื่อง ชีวิตก็อาจพลิกฟื้นจากสิ่งที่ไม่คาดคิดได้ตลอดเวลา

ได้เห็นเรื่องพระมหาชนกของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 แล้วก็คิดว่า ความเพียรพยายามนั้นมีอยู่ในใจของทุกคน ตราบใดที่เราไม่ย่อท้อ วันหนึ่งเราก็อาจมายืนในจุดที่ไม่น่าจะมาถึงได้ แม้ว่าอาจจะไม่ใช่จุดที่สูงสุดเหมือนคนอื่น

อย่างน้อยก็ไม่เสียชาติเกิด