กฎแห่งการแสดงความเสียใจ...I'm Sorry Law

กฎแห่งการแสดงความเสียใจ...I'm Sorry Law

อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลท่านหนึ่งกล่าวว่า สิ่งที่เราสามารถสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่านรัชกาลที่ 9 คงเป็นครั้งที่

ช่วงหนึ่งแพทย์ถูกฟ้องร้องจากคนไข้เยอะ แล้วพระองค์ตรัสกับคณะแพทย์ว่า

อ่อนน้อมถ่อมตน ทุกคนมีดี อย่าดูถูกใคร

ท่านอดีตคณบดีท่านนี้รับว่าได้นำมาปฏิบัติตามเสมอ และไม่ว่าจะไปพูดที่ไหนจะนำคำสอนนี้เผยแพร่ให้ทุกคนทราบ อีกทั้งนำคำสอนนี้ไปมอบแพทยสภา ซึ่งแพทยสภานำไปต่อยอดในหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ใครเข้าเรียนหลักสูตรนี้จะได้รับคำสอนนี้ไปด้วย ถือเป็นแนวทางการทำงานของแพทย์และพยาบาลทุกคน

เมื่อไม่กี่วันก่อนได้อ่านหลายบทความเกี่ยวกับการถือว่าไม่เป็นความผิด หรือที่เรียกว่า No-Fault บังเอิญได้พบเรื่องที่เคยพูดถึงหลายครั้ง แต่ไม่เคยเห็นปรากฎในบทความวิชาการที่ไหนมาก่อน

ในบทความเรื่อง ...Is “No-Fault” the Cure for Medical Liability Crisis? ซึ่งเขียนโดยนักกฎหมายที่เป็นแพทย์ชื่อ David E. Seufert, MD / JD ในวารสาร AMA Journal of Ethics, Vol.9, No.4, April 2007 สรุปว่าบางทีอาจเป็นเรื่องที่ผู้บริหารโรงพยาบาลหรือแพทย์จะต้องเรียนรู้ถึงการแสดง “ความเสียใจ” ต่อผู้เสียหายทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ ซึ่งเรียกว่า “กฎแห่งการแสดงความเสียใจ” หรือ “I'm Sorry Law”

นายแพทย์นักกฎหมาย Seufert ได้อธิบายว่า แพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ เวลาที่มีเรื่องมักจะเก็บตัวเงียบ ไม่สื่อสารกับประชาชน

ปล่อยให้เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมายหรือทนายความออกมาพูดแทน แต่ท่ามกลางความเศร้าโศรกเสียใจของผู้เสียหายทางการแพทย์นั้น ถ้าเราคิดแต่เพียงเอาชนะกัน แบบ...คุณผิด ฉันไม่ผิด...แล้วก็ชี้นิ้วเข้าหากันอย่างที่ทนายความปฏิบัติ เรื่องของความขัดแย้งก็คงยิ่งรุนแรงมากขึ้น หรือถ้าจบก็จบแบบขุ่นเคืองขุ่นข้องหมองใจและคาใจกันอีกนาน

สิ่งที่น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นคือการแสดงความเสียใจอย่างเป็นทางการของฝ่ายแพทย์และโรงพยาบาลกับผู้เสียหาย แสดงถึงความจริงใจ ความพยายามอย่างที่สุด พร้อมทั้งอธิบายข้อจำกัดให้เป็นที่ปรากฎชัด อย่างที่ประเทศสวีเดนกำหนดไว้ในการพิจารณาว่าจะเข้าลักษณะ No-Fault ได้ ก็ต่อเมื่อเป็นเรื่องที่ทำอย่างเหมาะสม และผลที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ถ้าฝ่ายแพทย์และโรงพยาบาลได้แสดงความเสียใจเช่นว่านี้ ความโศกเศร้าเสียใจของฝ่ายผู้ป่วยและผู้เสียหายทางการแพทย์จะถูกบรรเทาได้อย่างมาก

กฎแห่งการแสดงความเสียใจ (I’m Sorry Law) นี้ ไม่ตายตัว แต่แน่นอนว่าไม่ใช่เป็นการขอโทษ (Apology)

เพราะถ้าขอโทษก็เท่ากับยอมรับว่าได้ทำผิดไปแล้ว ซึ่งก็จะมีปัญหาถึงขวัญกำลังใจแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ที่ทำดีที่สุดภายใต้ศักยภาพและข้อจำกัด และเท่ากับเป็นการตีตราว่าความสูญเสียเป็นผลจากการรักษาพยาบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง จะมีผลกระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ที่จะรู้สึกไม่มั่นใจ ขาดความเชื่อมั่น และในที่สุดก็ไม่ต้องการทุ่มเทให้กับงานที่ทำอีกต่อไป

ผลกระทบก็คงไม่ใช่แค่บุคคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่จะเป็นเหมือนบูมมาแรง ที่ย้อนกลับมามีผลต่อผู้ป่วยอื่นๆที่ไม่รู้เห็นกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น

พูดง่ายๆก็คือ ไม่มีใครได้อะไร มีแต่เสียกับเสีย

กฎแห่งการแสดงความเสียใจ ไม่ใช่กฎหมาย แต่อาจเป็น Work Practice หรือ Work Ethics ที่อยู่ใน Code of Practice ที่เป็นหลักการของธรรมาภิบาลในองค์กร (Good Governance)

น่าจะเป็นเรื่องดี ถ้าผู้บริหารสถานพยาบาลและแพทย์หันมาใส่ใจกับความรู้สึกของผู้ป่วย ก่อนที่จะบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นเอาแพ้เอาชนะกัน

นึกถึง อกเขา อกเรา อย่างที่พระองค์ท่านรัชกาลที่ 9 ตรัสต่อคณะแพทย์... เพราะทุกคนมีดี อย่าดูถูกใคร