เคทีบี อ่วมสำรองหนี้ฯพุ่ง กดดันกำไรลดลงปี60

เคทีบี อ่วมสำรองหนี้ฯพุ่ง  กดดันกำไรลดลงปี60

พิธีกร Stock Gossip by Money Wise ติดตาม live จ-ศ 14.15-14.30 น.

  หลังจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้รายงานผลประกอบการงวด 9 เดือน ปี 60 เรียบร้อยแล้ว ทำให้เห็นความน่ากังวลใจในสองเรื่อง คือตัวเลขการเติบโตของสินเชื่อยังคงชะลอตัว และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ยังปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้หุ้นกลุ่มธนาคารไม่ค่อยสดใสในช่วงที่เหลือของปีนี้เท่าไรหนัก

  โดยหุ้นที่ถูกจับตามองและมีแนวโน้ม NPL ยังสูงต่อไปจนถึงปีหน้า หนีไม่พ้น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ธนาคารพาณิชย์ที่มีสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ที่ 2.6 ล้านล้านบาท ยังคงมีปัญหาหนักอกที่ค่อยถ่วงการเติบโตของกำไร ซึ่งสัญญาณดังกล่าวมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญตั้งแต่ต้นปี ที่มีนัยสำคัญและกระทบกำไรรวมของธนาคาร

  โดยกำไรของธนาคารกรุงไทย งวดไตรมาส 3 ปี 60 อยู่ที่ 5,870 ล้านบาท ลดลง 32 % จากปีก่อน ส่วนกำไรรอบ 9 เดือนแรกอยู่ที่ 17,631 ล้านบาท ลดลง 29 % จากปีก่อน ซึ่งหลักๆมาจากการตั้งสำรองหนี้ฯ เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน และส่งต่ออัตราส่วนค่าเพื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้วยคุณภาพ อยู่ที่ 115.87% ต่ำกว่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 137 %

  กลุ่มลูกค้าที่มีปัญหาต้องตั้งสำรองหนี้ ฯ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้า ขนาดใหญ่ และเอสเอ็มอี จากพอร์ตการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด ลูกค้ารายย่อยมีสัดส่วนปล่อยสินเชื่อมากที่สุด 39.25 % ธุรกิจขนาดใหญ่ 34.94 % เอสเอ็มอี 19.78 % รัฐและรัฐวิสาหกิจ 6.01 % และอื่นๆ 0.02 %

  จากไตรมาส 1 ปี 60 ธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้ฯ ที่ 8,532 ล้านบาท NPL ปรับตัวอยู่ที่ 4.63 % ไตรมาส 2 ปี 60 ตั้งสำรองหนี้ ฯสูงถึง 13,900 ล้านบาท NPL ปรับตัวอยู่ที่ 4.33 % และงวดไตรมาส 3 ปี 60 ล่าสุด ตั้งสำรองหนี้ ฯ 9,918 ล้านบาท NPL อยู่ที่ 4.5 %

  กล่าวได้ว่าตัวเลข NPL เป็นจุดอ่อนให้กับธนาคารแทบทุกไตรมาส ในช่วงไตรมาส 2 ปี 60 มีการตั้งสำรองมากที่สุดมาจากการปล่อยกู้ให้กับ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ซึ่งได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ตามเห็นชอบของศาลล้มละลายกลางไปแล้ว

  ส่วนไตรมาส 3 ปี 60 มีเรื่องการปล่อยกู้ให้กับ บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ ตั้งแต่สมัยเป็น บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ได้ขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดิน 4,300 ไร่ ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ มูลค่า 9,900 ล้านบาท

โดย เอคิวฯ เป็นผู้บริหารจัดการขายที่ดินให้ แต่ยังไม่สามารถขายได้ ทำให้ปัจจุบันกำลังถูกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ซึ่งหนี้ก้อนนี้ทางธนาคารจัดในกลุ่มสงสัยหนี้จะสูญ แต่ยังไม่มีการตั้งสำรอง ฯ  แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา AQ  แจ้งว่ามีการชำระหนี้มาบ้างแล้วในเดือนส.ค. แต่ด้วยกระบวนการทางกฎหมายทำให้ยังไม่สามารถรับรู้รายได้ในส่วนนี้เข้ามา​

รวมทั้งยังมีหนี้ที่ต้องจับตามองอีกคือ บริษัทลูก ของ อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ซึ่งขอสินเชื่อไปทำโปรเจคไฟแนนซ์ลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งปัจจุบันบริษัทดังกล่าวไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปก ติ เพราะขาดกรรมการและผู้บริหาร ถูกสำนักงานคณะกรรมการกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุขาดคุณสมบัติ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากลูกค้าในกลุ่มโรงสีข้าวที่มีการขาดทุนสต็อกซึ่งอาจจะกลายเป็นหนี้เสียได้อีกในช่วง ไตรมาสสุดท้ายของปี

  จากการประเมินของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี คาดว่าแนวโน้มการตั้งสำรองหนี้ ฯ ยังคงมีต่อเนื่องถึงปี 61 เพราะยังมีหนี้ที่รอตัดขายหนี้เสียอยู่อีก 5,000 ล้านบาท บวกกับการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ในปี 62 ซึ่งบังคับให้ธนาคารจะต้องตั้งสำรองหนี้ฯตั้งแต่มีความเสี่ยงว่าลูกหนี้อาจจะเป็น NPL แม้ว่าลูกหนี้จะยังผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยก็ตาม คาดว่าจะทำให้ธนาคารมีอัตรา NPL ในไตรมาส 4 ปี 60 ที่ 4.40 %

โดยได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2560-2561 ลง 13-18% เนื่องจากกำไรสุทธิ 9 เดือนแรกของปีนี้คิดเป็นเพียง 61% ของประมาณการเดิมที่ทำไว้ ซึ่งคาดว่ากำไรปีนี้จะอยู่ที่ 25,000 ล้านบาท ลดลง 23% จากปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิในปีหน้า อยู่ที่ 28,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากปีก่อน จึงปรับราคาเป้าหมายลงเหลือ 20.30 บาท 

 บล.ทิสโก้ ระบุว่าผลประกอบการที่ออกมาแย่กว่ากลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ แม้ว่าคุณภาพสินเชื่อจะดีกว่า ยังมี NPL กดดัน ต่อเนื่องจากลูกค้าโรงสีข้าวทำให้หนี้เสียและการตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น และอัตราส่วนค่าเพื่อหนี้สงสัย ฯ ขึ้นมาอยู่ที่ 117 %

ดังนั้นผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 60 ถึงปี 61 จะไม่โตไปจากตอนนี้มาก จึงแนะนำเพียง “ถือ” โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 19.00 บาท