ภาษาคอมพิวเตอร์ สำคัญกว่าภาษาอังกฤษ

ภาษาคอมพิวเตอร์ สำคัญกว่าภาษาอังกฤษ

“จงเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ ก่อนที่จะเรียนรู้ภาษาอังกฤษ”

เป็นคำคมใหม่ล่าสุด ของ ทิม คุก ซีอีโอของแอ๊ปเปิ้ล ผู้สืบทอดบังเหียนมาจาก ศาสดา สตีฟ จอบส์ ผู้ซึ่งล่วงลับ

คำพูดนี้ ทิม คุก ได้กล่าวไว้ ระหว่างการเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าพบประธานาธิบดี เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้

ทิม คุก ยังพูดด้วยว่า ภาษาคอมพิวเตอร์ นี่แหละ เป็นภาษาที่ใช้สำหรับสื่อสารกับประชากรโลก 7 พันล้านคนอย่างแท้จริง หากเขาเป็นเด็กชายฝรั่งเศส อายุ 10 ขวบ ก็จะเลือกเรียนภาษาคอมพิวเตอร์เป็นภาษาที่สองก่อนภาษาอังกฤษอย่างแน่นอน (ภาษาที่หนึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส) และยังแนะนำด้วยว่า การเขียนโปรแกรม ควรเป็นวิชาบังคับ ของโรงเรียนทุกโรงเรียน และไม่ควรถูกมองเป็น ความสามารถเฉพาะทาง

คำพูดของ ทิม คุก ดังกล่าว ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งมีมุมมองทั้งในด้านที่บวกและที่ลบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ ทิม คุก มักจะมองด้วยว่า ภาษาคอมพิวเตอร์ เป็นวิชาเฉพาะทาง ที่มีเฉพาะผู้ที่เกิดมามีพันธุกรรมที่ถูกต้อง ซึ่งมีอยู่เพียงส่วนหนึ่งของประชากรที่เกิดมาในโลกมนุษย์ จึงจะมีความเหมาะสมที่จะเรียนรู้ ภาษาคอมพิวเตอร์ และสามารถเขียนโปรแกรม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

โดยที่พวกเขามองด้วยว่า ภาษาคอมพิวเตอร์ มีคุณลักษณะที่คล้ายคณิตศาสตร์ คือ ไม่ใช่ใคร ก็สามารถเรียนรู้ให้เกิดความชำนาญได้ และแม้แต่การศึกษาภาคบังคับของบางประเทศ ก็ยังมีการแบ่งแยกระหว่างแผนวิทย์และแผนศิลป์

แต่สำหรับ ทิม คุก นั้น นั่นคือความคิดที่เขาพยายามจะเปลี่ยนแปลง โดยเขามองด้วยว่า ภาษาคอมพิวเตอร์ เป็นความรู้ขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทุกคน แม้กระทั่งสำหรับผู้ที่จะไม่ได้มาประกอบอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์ก็ตาม เพราะการมีความคิดสร้างสรรค์อย่างเดียว ไม่เพียงพอ ต้องมีความสามารถทางเทคโนโลยีด้วย และการที่มีทั้งสองสิ่ง จึงจะทำให้ขับเคลื่อนได้อย่างมีพลัง

จากข้อมูลสถิติทำให้ทราบด้วยว่า เศษหนึ่งส่วนสามของอาชีพที่มีรายได้สูงสุดในของสหรัฐ ล้วนเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยภาษาคอมพิวเตอร์

เมื่อย้อนกลับมาดูประเทศไทย แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะมีทั้งกระแสสังคมและนโยบายที่ภาครัฐสนับสนุน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ สตาร์ทอัพ ดิจิทัลไทยแลนด์ หรือกระทั่ง ดิจิทัลอีโคโนมี แต่ก็ยังคงมีเสียงสะท้อน ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือ โปรแกรมเมอร์ เป็นทรัพยากรที่มีความขาดแคลนอย่างยิ่งยวด สำหรับประเทศไทย ซึ่งอาจจะยากยิ่งกว่าการสรรหาผู้ที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้

ในขณะที่ ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์นั้น กลับหาได้ไม่ยากในประเทศไทย และยังคงอาจเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของประเทศ ที่สังเกตได้จากความสนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่มีกระแสตอบรับอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่หากวิเคราะห์ในเชิงลึก จะเห็นได้ว่า สตาร์ทอัพ ส่วนใหญ่ ในประเทศ​จะเน้นความคิดสร้างสรร มากกว่าเทคโนโลยีในเชิงลึก จนเป็นลักษณะจำเพาะของธุรกิจในประเทศไทย

ขณะที่ผู้ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก มีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี แม้จะไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์โดยตรงก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การที่จะนำคำพูดของ ทิม คุก มาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลได้จริงน้ัน (หากเราเชื่อไว้ก่อนว่า เป็นสิ่งที่จะเกิดผลดีจริง) ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์นั้น สำหรับหลายคน เป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่าการที่จะเรียนรู้กว่าคณิตศาสตร์และเป็นการเรียนรู้ที่อาศัยการท่องจำแต่เพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้

แต่เมื่อตระหนักแล้วว่า สมองกล กำลังจะมามีอิทธิพลอย่างยิ่งยวดในอนาคตอันใกล้ ภาษาคอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะทำให้ควบคุมสมองกลและใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ แทนที่จะถูกทดแทนโดยคอมพิวเตอร์หรือระบบอัตโนมัติ อย่างเช่นหลากหลายอาชีพ ที่ได้ถูกประเมินล่วงหน้าไว้

จึงเป็นสิ่งที่น่าคิด ถึงทิศทางต่อไปของประเทศไทย