อันเนื่องมาจากเรื่องรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ 2560 (1)

อันเนื่องมาจากเรื่องรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ 2560 (1)

ปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ได้แก่ศาสตราจารย์ริชาร์ด ธาเลอร์ ผู้บุกเบิกด้านซึ่งรู้จักกันในนาม

เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) เศรษฐศาสตร์ด้านนี้เกิดจากการปรับเปลี่ยนสมมติฐานเบื้องต้นของวิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก นักเศรษฐศาสตร์บางคนต่อต้านการปรับเปลี่ยน แต่จำนวนมากมองว่าถึงเวลาที่หลักวิชาอันเกิดจากการปรับเปลี่ยนสมมติฐานเสียใหม่นี้ควรได้รับการยอมรับโดยทั่วไปเนื่องจากเนื้อหาที่ได้เพิ่มความกระจ่างอย่างมีนัยสำคัญให้แก่วิชาที่มักถูกตราว่าเป็นศาสตร์แห่งความหดหู่ มืดมัว หรือไม่สดชื่น (Dismal Science)

ต้นตอและความหมายของการมองว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาแห่งความหดหู่ มืดมัว หรือไม่สดชื่นถกเถียงกันมาเป็นเวลานับร้อยปี บางคนเห็นว่าวิชานี้มองไปที่ภาวะของมนุษย์เราซึ่งมักมีแต่ความหดหู่ หรือทุกข์ยากเนื่องจากปัจจัยต่างๆ มักสร้างปัญหาไม่ว่าจะเป็นความเกียจคร้าน การเอารัดเอาเปรียบ หรือการเพิ่มจำนวนประชากรแบบไม่มีที่สิ้นสุดจนโลกผลิตอาหารได้ไม่พอเลี้ยง บางคนมองว่าวิชานี้ไม่มีทางแก้ปัญหาของมนุษยชาติได้ ทางด้านคนไทย ส่วนใหญ่ดูจะมองว่าวิชานี้ไม่สดชื่นเพราะทั้งยากและน่าเบื่อ เวลาอ่านก็มักไม่เข้าใจ เวลาไปฟังบรรยายก็มักจะหลับ ทั้งที่วิชานี้ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นเพราะมันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องชีวิตประจำวันของมนุษย์เราจากก่อนวันลืมตาขึ้นมาดูโลกจนหลังจากวันสิ้นใจไปแล้ว

เศรษฐกิจเกี่ยวเนื่องกับเรื่องชีวิตประจำวันก่อนเราลืมตาขึ้นมาดูโลกเพราะเราต่างบริโภค หรือใช้ทรัพยากรตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ แม้กระทั่งหลังเราสิ้นใจไปแล้วเราก็ยังใช้ทรัพยากรเนื่องจากมีการจัดงานศพของเรา เศรษฐศาสตร์ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเนื่องจากเนื้อหามีอยู่เพียง 3 ด้านเท่านั้น นั่นคือ การผลิต การจำหน่ายจ่ายแจกและการบริโภค ผู้ที่ทำให้มันยากคือนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหลังจากพวกเขาแยกวิชาเศรษฐศาสตร์ออกมาเป็นวิชาเอกเทศจากด้านสังคมและการเมืองโดยพยายามอธิบายเนื้อหาส่วนใหญ่ในรูปของคณิตศาสตร์ชั้นสูงทำให้คนส่วนใหญ่ตามไม่ทัน นอกจากนั้น การอธิบายยังมักไม่ใช้เรื่องใกล้ตัวเป็นตัวอย่างและมักวางอยู่บนสมมติฐานที่ขัดกับสามัญสำนึกและความเป็นจริงอีกด้วย

ผู้อยู่นอกวงการเศรษฐศาสตร์อาจไม่ทราบว่า วิชาเศรษฐศาสตร์ที่เรียนกันในมหาวิทยาลัยโดยทั่วไปในปัจจุบันวางอยู่บนสมมติฐาน 3 ประการด้วยกัน นั่นคือ (1) มนุษย์เราตัดสินใจทำอะไรในชีวิตด้วยเหตุผลเสมอ (2) มนุษย์เราแสวงหาค่าตอบแทนสูงสุดเสมอ และ (3) มนุษย์เราเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทัดเทียมกัน สมมติฐานทั้งสามนี้ใช้กันมานับร้อยปีและเนื้อหาที่พัฒนาต่อเนื่องกันมาเรียกว่า “เศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิค” (Neoclassical Economics) ซึ่งเป็นระบบตลาดเสรีที่ประเทศส่วนใหญ่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน นอกจากสมมติฐานทั้งสามที่อ้างถึงนั้นแล้ว ยังมีสมมิฐานอื่นที่มักไม่พูดถึงกัน หรือแฝงอยู่อีกด้วย

เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมีรากฐานมาจากการโต้แย้งของนักจิตวิทยาที่ว่า คนเรามิได้ตัดสินใจทำอะไรด้วยเหตุผลเสมอไป หากมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยสามัญสำนึก เรื่องนี้ไม่น่าจะมีอะไรลึกลับ แต่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักไม่ยอมรับ จึงมิได้ทำอะไรอย่างมีนัยสำคัญจนกระทั่งศาสตร์จารย์ธาเลอร์และลูกศิษย์ลงมือทำการทดลองและวิจัยอย่างจริงจัง อันที่จริงเรื่องปัจจัยที่มิใช่เหตุผลเข้ามามีบทบาทในการติดสินใจของคนเรานี้มีอยู่ในแนวคิดของอะดัม สมิธซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ยกย่องว่าเป็นบิดาของวิชาเศรษฐศาสตร์ระบบตลาดเสรี แต่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่มิให้ความสำคัญ อาทิเช่น เรื่องจริยธรรมซึ่ง อะดัม สมิธเขียนตำราไว้ 17 ปีก่อนที่เขาจะเขียนตำราวิชาเศรษฐศาสตร์เรื่อง The Wealth of Nations เมื่อปี พ.ศ. 2319 ตำราเล่มนั้นชื่อ The Theory of Moral Sentiments ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ไทยรุ่นใหม่อาจมิเคยได้ยินด้วยซ้ำ

เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมนำไปสู่การใช้นโยบายจำพวกสร้างแรงจูงใจแทนการบังคับให้ประชาชนตัดสินใจไปในทิศทางที่สังคมต้องการ แต่ในขณะเดียวกัน เราจะต้องไม่สับสนกับนโนบายสร้างแรงจูงใจจำพวกประชานิยมแบบเลวร้ายและการตลาดแบบขาดจริยธรรม ทั้งนี้เพราะทั้งสองอย่างนี้จะมีผลในทางลบต่อประชาชนชนส่วนใหญ่ในระยะยาว ส่วนนโยบายที่วางอยู่บนฐานของการใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจะทำให้เกิดผลดีต่อสังคมโดยรวม