เมื่อนิสสัน ไม่สุขสันต์

เมื่อนิสสัน ไม่สุขสันต์

เมื่อนิสสัน ไม่สุขสันต์

รถยนต์ 1 คัน ประกอบด้วยชิ้นส่วนมากมาย ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ไม่น้อยกว่า 30,000 ชิ้น โอกาสที่ชิ้นใดชิ้นหนึ่ง จะบกพร่องจึงเกิดขึ้นได้

กระบวนการตรวจสอบคุณภาพ จึงต้องเข้มงวดอย่างยิ่งยวด เพราะเมื่อได้ส่งรถยนต์ออกไปจากโรงงานแล้ว ต้องมั่นใจว่าจะไม่เกิดข้อบกพร่องร้ายแรง ที่จะเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

แต่เราก็เห็นว่า รถยนต์หลายยี่ห้อ ถูกบริษัทเรียกกลับคืนอยู่บ่อยๆ บางครั้งจำนวนนับแสนนับล้านคัน ซึ่งแต่ละครั้งก็ทำให้บริษัทเสียค่าใช้จ่ายมาก เสื่อมเสียชื่อเสียง และเสียความน่าเชื่อถือ

ล่าสุด กลางเดือนกันยายน - ต้นเดือนตุลาคม 2560เป็นคราวของบริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด ซึ่งได้ “เรียกคืน” รถนิสสันหลายรุ่น ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น จำนวน 1,200,000 คัน บริษัทจะเสียเงินไปในการนี้มากถึง 222 ล้านดอลล่าร์ ทั้งนี้มินับถึงความเสื่อมเสียชื่อเสียง

การเรียกคืน ไม่ใช่เพราะว่าผู้ขับขี่รถนิสสันบางคน ได้รับอุบัติเหตุอันเนื่องมาจาก ความบกพร่องของชิ้นส่วนบางชิ้นนะครับ สาเหตุเป็นเพียงว่า กระบวนการตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งได้ทำมาอย่างดีทุกขั้นตอน จนถึงขั้นสุดท้าย เหลือเพียงตรวจเบรคและสัญญาณไฟเท่านั้น ก็ได้เกิดปัญหาขึ้น

เจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคม ได้ค้นพบเมื่อวันที่ 18 กันยายนว่า การตรวจสอบเบรค ได้ตรวจและลงนามโดยนายช่างที่ได้รับการรับรองแล้ว แต่พอถึงขั้นตอนสุดท้ายจริงๆ ก่อนที่จะส่งรถออกจากโรงงาน คือการตรวจระบบไฟฟ้า กลับตรวจโดยนายช่างที่ไม่ได้ผ่านการรับรอง ปัญหาก็มีแค่นี้แหละครับ

แต่ปัญหาอย่างนี้ ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะล่าสุดยังมีรายงานว่าเอกสารรับรองคุณภาพระบบไฟฟ้า ยังถูกสวมรอยให้ลงนามโดยนายช่างอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านการรับรองแล้วอย่างถูกต้อง จึงทำให้นิสสันถูกกระหน่ำหนักเข้าไปอีก

ช่วงแรกที่เกิดปัญหา นิสสันให้เจ้าหน้าที่ระดับกลาง 2 คน ออกมาแถลงข่าวยืนยันว่า ไม่มีปัญหาอะไรมากมาย และรถยนต์ที่ส่งออกไปจำหน่ายให้ลูกค้าขับขี่อยู่แล้ว ก็ไม่มีความเสี่ยงแต่อย่างใด ส่วนรถอีกจำนวนหนึ่งที่ยังอยู่ที่โรงงาน ก็จะยังไม่ส่งออก แต่จะเก็บไว้เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง...ตรงนี้ก็ถูกตำหนิว่าเป็นการอธิบายที่ขัดแย้งกันเอง

ภายหลังปรากฏข้อมูลว่า ปัญหาแบบเดียวกันนี้ ได้เกิดขึ้นที่โรงงานผลิตนิสสันในญี่ปุ่น ทุกโรงงาน จำนวน 6 โรงงาน

เมื่อปัญหาขยายวงกว้างเช่นนั้น ซีอีโอของนิสสัน จึงแถลงข่าวเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 ว่าตนเอง ขอโทษ ลูกค้า ประชาชน และทุกๆฝ่าย และบริษัทได้ตัดสินใจ “เรียกคืน” รถนิสสันในญี่ปุ่น รุ่นที่มีปัญหานี้ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา แม้จะเสียค่าใช้จ่าย 222 ล้านเหรียญ บริษัทก็ยินดี

ความจริงชื่อเสียงของนิสสัน เรื่องการตรวจสอบคุณภาพอย่างเคร่งครัด ได้รับการยอมรับมานาน ในช่วงเวลาที่ “โตโยต้า” มีปัญหาเรื่องคุณภาพการผลิต รัฐมนตรีคมนาคมของสหรัฐ ในขณะนั้น ยังเอ่ยปากชมนิสสันว่า “เป็นตัวอย่างที่ดีของระบบตรวจสอบคุณภาพ” ทำให้นิสสันได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก

แต่บริษัท ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น “มาตรฐานของอุตสาหกรรม” กลับตกม้าตาย ด้วยเหตุง่ายๆ เพียงแค่นี้เอง คำถามที่ตามมาก็คือ ผู้บริหารระดับสูง ทราบเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ ก็ต้องรอการสอบสวน ว่าความจริงจะเป็นเช่นใด

บทเรียนที่ผมคิดว่าเราได้รับ ทั้งจากกรณีนิสสัน และกรณีอื่นอีกมากมายก็คือ ไม่่ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ หรืออุตสาหกรรมใดก็ตาม เราไม่สามารถคาดหวังได้ว่า บริษัทใหญ่ระดับชาติ หรือระดับโลก มีระบบการทำงานที่ดีและรัดกุม จะไม่กระทำในสิ่งที่ผิด บางครั้งก็เป็นความผิดที่ร้ายแรงเกินคาดคิด อย่างเช่น โฟล์คสวาเก้น หรือความผิดที่เกิดจากความหละหลวมอย่างนิสสัน เป็นต้น

อีกบทเรียนหนึ่งก็คือ เมื่อบริษัทใดก็ตาม มีข้อบกพร่องอันถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ และข้อสงสัยจากสังคม บ่อยครั้งที่บริษัทจะรีบออกมาแถลงข่าว เพื่อปกป้องตนเองไว้ก่อน แต่แล้วในที่สุดก็ต้องออกมาขอโทษและยอมรับความผิดพลาดนั้นภายหลัง ซึ่งทำให้ชื่อเสียงเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดความเกลียดชังจากผู้บริโภคและสังคม

ความจริงคนญี่ปุ่นเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์อย่างมาก ผมเองก็เพิ่งกลับจากญี่ปุ่นเมื่อคืนวันพุธนี้เอง ผู้บริหารใน“หลักสูตร Synergy ของผมคนหนึ่ง ได้แวะซื้อของที่ห้าง บิ๊ก คาเมร่า ในตอนค่ำ แล้วลืมกระเป๋าสตางค์ไว้ที่ห้างนั้น กลับไปอีกทีตอน 22 น. ห้างได้ปิดทำการไปแล้ว

รุ่งเช้ากลับไปอีกครั้งหนึ่ง ได้รับกระเป๋าสตางค์ ซึ่งมีเงินครบถ้วนทุกประการ

อีกเรื่องหนึ่ง ไกด์เล่าให้ฟังว่า ในช่วงเวลาที่ไข้หวัดนกระบาดอย่างหนักนั้น เจ้าของฟาร์มชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง พบว่าไก่ในฟาร์มตายไป 1 ตัว เขาจึงตัดสินใจทำลายไก่ที่เหลือทั้งหมด โดยไม่ต้องรอคำสั่งใดๆจากทางการเลย

เรื่องนี้เป็นข่าวไปทั่วประเทศ หลังจากที่ไข้หวัดนกสงบลงแล้ว ปรากฏว่าไข่ไก่จากฟาร์มแห่งนี้ ขายดิบขายดี เพราะผู้บริโภคต่างเชื่อมั่นว่า เจ้าของฟาร์ม ทำธุรกิจด้วยใจคุณธรรม และรักษาคุณภาพการผลิตอย่างสูงสุด....ผมว่า นี่แหละคือรางวัลแห่งความซื่อสัตย์

แต่ที่ผมเองยังประหลาดใจก็คือ เมื่อคนญี่ปุ่นจำนวนมากมาย ต่างมีความซื่อสัตย์อย่างยิ่งยวด ทำไมเมื่อก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับชาติ และระดับนานาชาติ จึงกล้าตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และผิดวัฒนธรรมของชาติอย่างรุนแรง

บางคนเมื่อถูกค้นพบ ก็ออกมาขอโทษ ร้องไห้ บางรายกลับไปฆ่าตัวตายเพื่อรับผิดชอบ

ตรงนี้เป็นปัญหาของญี่ปุ่นครับ คือซื่อสัตย์อย่างดีมาตลอด แต่่กลับมาเสียคุณค่า ตอนที่เติบโตแล้วมีอำนาจ ซึ่งเรื่องอย่างนี้ คนไทยก็คงไม่ประหลาดใจนัก เพราะเราเห็นมาจนชินชา เมื่อผลประโยชน์ มันแรงพอที่จะดึงบางคน ให้หลุดออกไปจากกรอบแห่งคุณธรรมได้

เคยมีผลสำรวจว่า เยาวชนไทยตัวเล็กๆ และยังไม่เติบโตนี่แหละ ที่คิดว่า รัฐบาลทำผิดบ้าง โกงบ้าง ก็ไม่เป็นไร ถ้าทำให้คนไทยรวยขึ้นและดีขึ้น

ซึ่งผมต้องขอบคุณผลสำรวจดังกล่าว เพราะแม้จะทำให้เกิดอาการ “ช้อค” แต่มันก็ทำให้ตระหนักต่อปัญหา และปลุกกระแสอย่างต่อเนื่อง ให้เราช่วยกันสร้างความซื่อสัตย์ ให้ฝังแน่นในใจของเยาวชนไทยต่อไป

ปัญหานี้ยาก และใครจะคิดอย่างไรผมก็ไม่ทราบ แต่ผมยังมีความหวังครับ

เพราะถ้าหากไม่มีความหวัง แล้วเราจะฝากชาติไทยไว้กับใครเล่าครับ