โลกและไทยใน Synchronized Growth (2)

โลกและไทยใน Synchronized Growth (2)

นตอนที่หนึ่ง ผู้เขียนเสนอแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่สะท้อนมุมมองของสำนักวิจัยชั้นนำรวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ว่าเศรษฐกิจโลก

มีทิศทางฟื้นตัวอย่างพร้อมเพรียงกัน (Global Synchronized Growth) แต่เป็นการฟื้นตัวที่ไร้เงินเฟ้อซึ่งภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีแต่ไม่มีเงินเฟ้อเช่นนี้ ทำให้ธนาคารกลางต่างๆ สามารถดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย โดยคงดอกเบี้ยในระดับต่ำและยังอัดฉีดสภาพคล่องผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ได้

แต่เพราะดำเนินนโยบายเช่นนี้เอง ที่ทำให้สภาพคล่องทั่วโลกอยู่ในระดับสูงมาก นำไปสู่ภาวะฟองสบู่สินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์หนัก เช่น สินแร่โลหะสำคัญ เช่น ทองแดง ซึ่งผู้เขียนมองว่า ภาวะเช่นนี้ไม่ยั่งยืน โดยมองว่ามีมีปัจจัยเสี่ยง 5 ประการที่เป็นทำให้สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันพลิกผัน อันได้แก่

  1. แนวโน้มการตึงตัวขึ้นของนโยบายการเงินชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นการลดทอนงบดุล และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) รวมถึงการลดทอน QE ของยุโรปและญี่ปุ่น
  2. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เบา โดยเฉพาะน้ำมันและธัญพืช ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้น และยิ่งทำให้ธนาคารกลางต้องทำนโยบายการเงินตึงตัวขึ้น
  3. การใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานในกระบวนการผลิต (Automation) ทำให้คนงานระดับล่างถูกเลิกจ้างมากขึ้น
  4. กระแสกีดกันทางการค้า (Protectionism) ที่เพิ่มขึ้น

และ 5. ความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยหลังนี้ หากรุนแรงมากขึ้น อาจกดดันให้เศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวแล้วนั้นกลับมาตกต่ำอีกครั้ง

เมื่อภาพของโลกเป็นเช่นนั้น ภาพของเศรษฐกิจขนาดเล็กและมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกสูง (หรือที่เรียกว่า Small-open Economy) อย่างไทยก็หลีกไม่พ้นที่จะได้รับผลจากเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบไม่เท่าเทียมกัน (Uneven Growth)

กล่าวคือ ภาคที่ฟื้นตัวจะเป็นภาคที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก อันได้แก่ ภาคการส่งออก ที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่องถึง 8.9% ต่อปีใน 8 เดือนแรกของปี ผลจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวขาเข้าใน 8 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 23.5 ล้านคน ขยายตัว 5.4% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาภาคเศรษฐกิจในประเทศแล้ว เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญปัจจัยฉุดรั้ง 4 ประการ อันได้แก่ 

  1. ภาคเกษตรโดยรายได้เกษตรกรกลับมาปรับตัวลดลงในเดือนก.ค.และส.ค. อันเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวอย่างรุนแรงในระดับ 15-16% โดยเฉพาะยางพารา ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง
  2. ตลาดแรงงานยังคงซึมเซาโดยการจ้างงานที่ยังหดตัวต่อเนื่องติดต่อกันมาแล้วกว่า 4 ปี โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ไม่ได้รับผลบวกจากการส่งออกและท่องเที่ยวที่ขยายตัว เช่น ภาคการก่อสร้าง การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ค่าจ้างก็ไม่ขยายตัวเช่นเดียวกัน โดยค่าจ้างเฉลี่ยรายเดือนของแรงงานไม่ได้ขยายตัวเลยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา
  3. เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำโดยหากวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคแล้วนั้น จะพบว่าในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ดัชนีอยู่ในระดับเดิม แปลว่าราคาสินค้าโดยภาพรวมไม่สามารถปรับขึ้นได้ ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้ผลิต/จำหน่ายไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ ดังนั้น จึงต้องหันไปกดต้นทุนราคาของวัตถุดิบรวมถึงกดค่าแรงแทน ซึ่งทำให้รายได้ของลูกจ้างถูกกดในระดับต่ำ

และ 4.ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ที่แข็งค่าประมาณ 6.7% นับตั้งแต่ต้นปี กระทบต่อรายได้รูปเงินบาทของผู้ส่งออก โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าขนาดกลางและเล็ก รวมถึงผู้ผลิตที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ซึ่งกลุ่มนี้จะไม่สามารถทำการประกันความเสี่ยงค่าเงิน (Hedging) ได้

ผู้เขียนมองว่าปัจจัยฉุดรั้งทั้ง 4 ทำให้เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนัก เห็นได้จากการบริโภคและการลงทุนในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้รู้สึกว่ารายได้ของตนเองมีมากขึ้นแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจภาพรวมของทางการจะดีขึ้นก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยอาจเริ่มฟื้นตัวขึ้นตามเศรษฐกิจโลกได้บ้าง โดยมีปัจจัยที่ต้องจับตา 3 ประการหลัก ได้แก่ 

  1. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันและสินค้าเกษตรว่าจะฟื้นขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากฟื้นขึ้นก็จะช่วยทำให้อัตราเงินเฟ้อในไทยให้เพิ่มขึ้น ทำให้รายได้เกษตรกรดีขึ้น รวมถึงช่วยลดทอนการแข็งค่าของเงินบาท (เนื่องจากจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลลดลง)
  2. การดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลกซึ่งหากตึงตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาท เนื่องจากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้าไทยในระดับสูงนั้นอาจเริ่มลดลง แต่ถ้าตึงตัวอย่างรุนแรงอาจทำให้ดอกเบี้ยในตลาดการเงินไทยต้องปรับขึ้นตาม ซึ่งจะกระทบต่อสภาพคล่องในประเทศ

และ 3. ความเสี่ยงการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ โดยหาก (1) สถานการณ์ตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี (2) ปัญหาการเมืองสหรัฐซึ่งกระทบต่อแผนการปฏิรูปภาษีของรัฐบาลทรัมป์ และ (3) กระแสกีดกันทางการค้ากลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง อาจกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน ทำให้นักลงทุนตื่นตระหนก รวมถึงทำให้การค้าและการลงทุนโดยตรง (ซึ่งเป็นปัจจัยบวกของเศรษฐกิจโลกในปีนี้) กลับมาลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและไทยที่เริ่มฟื้นตัวกลับมาหดตัวลงอีกครั้งได้

ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกมีมากเท่าใด ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยก็มีไม่น้อยเช่นกัน นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้กำหนดนโยบาย โปรดพึงระวัง