อายุความของสัญญาทางปกครอง

อายุความของสัญญาทางปกครอง

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติเงื่อนไขเกี่ยวกับการฟ้องคดีปกครองไว้หลายประการ ประการหนึ่งก็คือ

ระยะเวลาในการฟ้องคดี หรือที่เข้าใจกันทั่วไปว่าอายุความนั่นเอง ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 (แก้ไขเมื่อปี พ.ศ. 2551) บัญญัติระยะเวลาในการฟ้องคดีสัญญาทางปกครองไว้ว่า การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) ให้ยื่นฟ้องภายในห้าปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแก่การฟ้องคดี แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

“วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแก่การฟ้องคดี” จะเป็นวันใดนั้น ไม่มีความแน่นอน ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของแต่ละคดีและดุลยพินิจของศาลปกครอง ซึ่งหากกล่าวในแง่ของประโยชน์ของประชาชนผู้อยู่ภายใต้บังคับกฎหมาย ตลอดจนหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้ฟ้องคดีอยู่บ่อยครั้ง ความไม่แน่นอนดังกล่าวทำให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐต้องเสียโอกาสในการฟ้องคดีหลายๆ ครั้ง เนื่องจากศาลไม่รับฟ้องเพราะเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี

ในบทความฉบับนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างแนวคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีสัญญาทางปกครองที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ดุลยพินิจของศาลที่ไม่ตรงกันเท่าใดนัก

กรณีแรก ศาลวินิจฉัยว่าฟ้องคดีรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดีตั้งแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างหรือระยะเวลาที่ขยายออกไป (กล่าวคือวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีผิดนัดผิดสัญญา) ในคดีตัวอย่าง สัญญามีข้อกำหนดว่า หากผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้รับจ้างไม่สามารถทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาและผู้ฟ้องคดียังมิได้บอกเลิกสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องชำระค่าปรับให้แก่ผู้ฟ้องคดีนับถัดจากวันที่กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาหรือวันที่ผู้ฟ้องคดีได้ขยายให้จนถึงวันที่ทำงานแล้วเสร็จจริง ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ขยายกำหนดวันสิ้นสุดของสัญญาอออกไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2541 แต่ผู้ถูกฟ้องคดียังไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าปรับ ศาลจึงวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าปรับได้นับแต่วันที่ 1 พ.ค. 2541 อันเป็นวันถัดจากวันที่ครบกำหนดสิ้นสุดของสัญญาที่ได้ขยายออกไปครั้งสุดท้าย โดยถือเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 264/2547 และที่ 265/2547)

กรณีที่ 2 ศาลวินิจฉัยว่า กรณีที่หน่วยงานทางปกครองผู้ว่าจ้างยื่นฟ้องคดีเพื่อเรียกให้ผู้รับจ้างชำระค่าปรับอันเนื่องมาจากผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบงานตามสัญญา ถือว่าวันที่ผู้ว่าจ้างมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างเป็นวันที่ผู้ว่าจ้างรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ในคดีนี้ผู้ฟ้องคดี (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ทำสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารกับผู้ถูกฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทำงานไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาในสัญญา ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ 25 เม.ย. 2543 แจ้งบอกเลิกสัญญาพร้อมกับแจ้งเรื่องการเรียกค่าปรับตามสัญญาไปยังผู้ถูกฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉยไม่ชำระเงินค่าปรับดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ศาลวินิจฉัยว่า เมื่อปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ 25 เม.ย. 2543 บอกเลิกสัญญาแก่ผู้ถูกฟ้องคดี จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีในวันที่มีหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าว (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 745/2549, ที่ 245/2550, ที่ 281/2550, ที่ 643/2550, ที่ 547/2550, ที่ 718/2550, ที่ 724/2550 และที่ 756/2550)

กรณีที่ 3 ศาลวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดีเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีไม่ชำระค่าเสียหายภายในเวลาที่กำหนดในหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ ตามคดีตัวอย่างผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ 26 ต.ค. 2544 แจ้งให้ชำระเงินภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2544 แต่ไม่ชำระเงินภายในเวลาที่กำหนด ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงิน ถือว่าผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีนับแต่วันที่พ้นกำหนด 15 วันตามหนังสือเรียกให้ชำระเงินคือ วันที่ 16 พ.ย. 2544 (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 186/2548 และที่ 952/2548)

ทั้ง 3 กรณีดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีสิทธิฟ้องคดีจะต้องใช้ความระมัดระวังในการสำรวจอายุความหรือระยะเวลาในการฟ้องคดีในกรณีของตนให้ดี เนื่องจากข้อเท็จจริงของแต่ละคดีอาจทำให้ระยะเวลาในการฟ้องคดีเปลี่ยนแปลงไปได้ ทางที่ดีเพื่อเป็นการป้องกันก็ควรจะฟ้องในโอกาสแรกที่ทำได้ภายใน 5 ปีนับจากวันที่มีการไม่ปฏิบัติตามสัญญาน่าจะปลอดภัยกว่า

พบกันใหม่คราวหน้าค่ะ 

////

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่

// โดย...วิภานันท์ ประสมปลื้ม

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]