ศาสตร์พระราชา: พระอัจฉริยภาพด้านกฎหมาย

ศาสตร์พระราชา: พระอัจฉริยภาพด้านกฎหมาย

วันที่13 ตุลาคม2559เป็นวันสูญเสียอย่างใหญ่หลวงเป็นวันมหาวิปโยค ของพสกนิกรชาวไทยเมื่อมีข่าวและมีประกาศต่อมาว่า

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคตประชาชนทุกหมู่เหล่าต่างเศร้าโศกปานหัวใจสลาย ประชาชนจำนวนมากใช้เวลานานนับเดือน จึงค่อยคลายความเศร้าโศก ไปได้ระดับหนึ่ง และ เมื่อสำนักพระราชวังเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปกราบพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทได้ ประชาชนยังคิดว่าพระองค์ยังทรงอยู่กับประชาชน แต่เมื่อย่างเข้าสู่เดือนตุลาคม2560 และมีข่าวความคืบหน้าของการก่อสร้างพระมรุมาศออกมาเป็นระยะฯ ยิ่งใกล้เสร็จประชาชนก็ใจหายมากขึ้นเมื่อมีการซักซ้อมริ้วขบวนพระราชอิสริยยศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ก็ยิ่งใจหายมากขึ้นไปอีก หลายคนเมื่อดูข่าวเห็นภาพที่เกี่ยวข้องก็สะอื้นน้ำตาไหลออกมาออกมาโดยไม่อาจหักห้ามได้

พสกนิกรหลายคนอยากให้ยังคงตั้งพระบรมศพไว้ ให้ประชาชนได้กราบไหว้ไม่ต้องจัดให้มีการถวายพระเพลิง แต่เมื่อต้องมีการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ตามพระราชประเพณีอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ประชาชนก็ต้องทำใจยอมรับ หลายคนจึงต้องหาวิธีการปลอบใจตัวเอง ทำใจยอมรับสภาพความจริงว่าต่อไปไม่มีพระองค์ท่านที่เห็นเป็นสรีระร่างกายของพระองค์จริงฯ อยู่กับเราอีกต่อไป คิดว่า ท่านเป็นเทวดาถึงเวลาที่ต้องส่งเทวดากลับสวรรค์แล้ว พระองค์ไม่ได้ไปไหนยังสถิตอยู่ในใจตราบนิจนิรันดร์

พสกนิกรจำนวนมากใช้วิธีการยอมรับและคลายความโศกเศร้าด้วยการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ รำลึกถึงคำสอน แนวคิด รำลึกถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ที่พระราชทานศาสตร์พระราชาให้แก่ประชาชนมากมายหลายสาขาหลายด้านแบบที่ปฏิบัติได้เป็นมรรคเป็นผล มาเป็นแรงบันดาลใจและใช้เป็นแนวทางในการดำรงตน ดำรงชีวิต และการปฏิบัติหน้าที่ สืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ต่อไปซึ่งจะเป็นคุณแก่ตนเอง และเป็นประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติ

ศาสตร์พระราชาที่พระองค์พระราชทานเป็นแนวคิด ให้แก่บุคคลในวงการกฎหมายและประชาชนทั่วไป อันเป็นพระอัจฉริยภาพด้านกฎหมายของในหลวงรัชกาลที่เก้า ซึ่งเห็นประจักษ์ได้จากการที่ครูบาอาจารย์ด้านกฎหมายที่เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญที่เกี่ยวกับกฎหมายมากมายหลายท่าน กล่าวหรือเขียนบทความไว้ เช่นนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานศาลฎีกา อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานองคมนตรี เคยกล่าวในในการสัมมนาที่เกี่ยวกับกระบวนยุติธรรม ว่า” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรตรวจสำนวนเองแทบทุกเรื่อง เพราะบางคดีท่านย้อนสำนวนให้องคมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ... พระเจ้าอยู่หัวทรงละเอียด ทรงใช้เวลาวินิจฉัยฎีกานักโทษด้วยพระองค์เอง”

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตองคมนตรี เขียนบทความไว้เรื่องหนึ่ง มีความตอนหนึ่งว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเป็นนักกฎหมายโดยวิชาชีพ แต่ทรงเข้าถึงแก่นแท้และจิตวิญญาณของกฎหมายอย่างแท้จริง พระอัจฉริยภาพของพระองค์เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ผมอยู่เสมอ จากพระบรมราชวินิจฉัยฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษในคดีต่างฯ หรือจากพระราชกระแสเกี่ยวกับปัญหาทางด้านกฎหมายที่พระราชทานให้คณะองคมนตรีพิจารณา นอกจากนี้ พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานในหลายโอกาส ยิ่งแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่นักกฎหมายและบุคคลทั่วไปถึงพระอัจฉริยภาพทางกฎหมายอย่างลึกซึ้งยิ่งนัก ซึ่งเราอาจเรียนรู้อุดมการณ์ เจตนารมณ์และหลักการของกฎหมาย ตลอดจนข้อบกพร่องของกฎหมาย หรือแม้กระทั่งข้อจำกัดของผู้ใช้กฎหมายจากพระองค์ได้เป็นอย่างดี บ่อยครั้งที่พระองค์ทรงชี้ทางสว่างให้นักกฎหมายได้เห็นช่องทางที่จะแก้ไขข้อบกพร่องต่างฯที่มีอยู่ทั้งในตัวบทกฎหมายและในตัวนักกฎหมายเอง” ”

นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ อดีตประธานศาลฎีกา องคมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ไว้ตอนหนึ่งว่า “ในส่วนที่เกี่ยวกับงานด้านกฎหมายที่องคมนตรีฝ่ายกฎหมายรับผิดชอบ และถวายความเห็นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพอย่างล้ำลึกในสาขานิติศาสตร์ รวมทั้งได้ทรงแสดงให้เห็น ถึงพระปรีชาสามารถในการพิจารณาปัญหาต่างฯโดยอยู่ในกรอบของกฎหมายและความเป็นธรรมที่พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพในด้านด้านกฎหมายนั้น”

พระอัจฉริยภาพด้านกฎหมายของพระองค์ยังเห็นประจักษ์ได้จากพระราชโอวาทที่เกี่ยวกับกฎหมายที่ได้ทรงพระราชทานในโอกาสต่างฯ ซึ่งมีเนื้อหาอันแสดงให้เห็นว่าพระองค์ ทรงเข้าใจใน หลักและเจตนารมณ์กฎหมาย ปรัชญากฎหมาย ความเป็นธรรม อย่างละเอียดลึกซึ้ง

พระราชโอวาทหลายพระราชโอวาท จะทรงเน้นย้ำเรื่องกฎหมายกับความยุติธรรม เช่น

“กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมือย่างหนึ่งสำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรมไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยาตลอดจนเหตุและผล ตามความเป็นจริงด้วย..”

“คำว่ายุติธรรม นี้ ก็เคยกล่าวว่าเป็นสิ่งที่มากกว่ากฎหมายด้วยซ้ำ เพราะกฎหมายนั้นเป็นการวางกฎระเบียบ ที่จะให้ปฏิบัติโดยดีโดยชอบ แต่คำว่ายุติธรรมนี้สูงกว่านั้น เพราะแม้จะไม่มีบัญญัติในข้อบังคับใดฯ ก็ต้องมีความหมายว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรียกว่าดีก็ต้องกระทำ ทุกสิ่งที่เรียกว่าชั่วจะต้องงดเว้น ..”

มีคำพูดถึงนักกฎหมาย อยู่ตอนหนึ่งว่า คนที่ทำงานกับกฎหมายมากๆ มักจะติดอยู่กับตัวบทกฎหมาย คำพูดอย่างนี้ ดูจะไม่ใช่คำชม หากเป็นคำติติงนักกฎหมายบางคน ที่ยึดติดกับตัวบทกฎหมายเป็นหลักการธำรงรักษาความยุติธรรม ซึ่งดูจะเป็นการคับแคบเกินไป และอาจทำให้รักษาความยุติธรรมได้ ไม่เต็มที่ ผู้ที่ทำหน้าที่ พิทักษ์ความยุติธรรม ความเป็นธรรม จึงควรระมัดระวัง คือควรจะได้ทำความเข้าใจให้แน่ชัดว่ากฎหมายนั้น ไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งในการใช้รักษาและอำนวยความยุติธรรม เท่านั้น ..

พระราชโอวาทเรื่องกฎหมายกับความยุติธรรมดังกล่าวข้างต้นอาจารย์กฎหมายหลายท่านสรุปว่า เป็นแนวปรัชญาทางกฎหมาย ที่ถือความยุติธรรมมาก่อนตัวบทกฎหมายอันควรต้องศึกษาให้ลึกซึ้งและยึดถือกันต่อไป

  ธ สถิตในใจตราบนิจนิรันดร์