กฎของเมอฟี่ กฎของหัวแม่มือ และกฎของพาเรทโต้

กฎของเมอฟี่ กฎของหัวแม่มือ และกฎของพาเรทโต้

ช่วงนี้พูดเรื่องหนักๆ มามากแล้ว วันนี้เลยขอคุยเรื่องเบาๆ สำหรับอ่านเล่นวันหยุดสุดสัปดาห์

Murphy Law, Rule of Thump, Pareto Principle เป็นคำพูดที่ใช้กันบ่อยๆ ของพวกนักสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ เป็นคำพูดที่ไม่เป็นทางการ และไม่เป็นวิทยาศาสตร์

ฟังแล้วไม่ค่อยมีเหตุผลประกอบว่าทำไมถึงใช้คำนั้น แต่ก็ใช้กันมาเรื่อยๆ คำพูดแบบนี้ผ่านเข้ามาในชีวิตของทุกคน และเราก็อยู่กับมัน ใช้มัน และได้รับผลลัพธ์จากมัน โดยไม่รู้ตัว แล้วก็ผ่านไป คำแบบนี้ที่คนไทยใช้ก็มีหลายคำเหมือนกัน แม้ว่าจะไม่เหมือนคำฝรั่งอังกฤษ ถือเป็นคำพูดที่พูดกันโดยไม่มีตรรกะรองรับ เช่นกัน หรือมีบ้างแต่ก็น้อยมาก

คำแรก คือ กฎของเมอฟี่ (Murphy Law)

ได้ยินคำนี้ครั้งแรกๆ จากการดูซีรีส์หนังทีวีตอนที่อยู่ต่างประเทศ ดูแล้วก็คิดว่าคำนี้มันเกิดมาได้อย่างไร และมีความหมายแค่ไหน

เคยพูดกับเพื่อนๆ ทีเล่นทีจริงอยู่บ่อยๆว่า...คนเรานี่นะ บางทีบทจะดี ก็มีแต่เรื่องดีๆ ตามมา เช่นพอเงินเดือนขึ้น ก็ถูกหวย ชนะแข่งขัน ได้ใจสาวสวย พ่อแม่สาวยอมให้ลูกสาวแต่งงานด้วย...แต่พอยามซวย เช่นประกันหมดอายุ ก็เกิดอุบัติเหตุ รถถูกชน ที่บ้านมีคนป่วยเข้าโรงพยาบาล และเรื่องอะไรที่ไม่ดีๆ ตามมาเป็นพรวน

ลักษณะเช่นนี้ ไม่มีวิทยาศาสตร์อธิบาย แต่เป็นความรู้สึกของคนเรา เรียกว่าดวงดี ดวงไม่ดี ช่วงดวงดี ทำอะไรก็ดีไปหมด แต่พอช่วงดวงไม่ดี ทำอะไรก็ดูผิดไปหมด ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยได้รับความชื่นชม เรียกว่ากลายเป็นคนดวงตกโดยปริยาย

จริงๆคำนี้มีต้นกำเนิดเหมือนกัน เป็นชื่อทหารคนหนึ่งที่เข้าสู่สนามรบแล้วคิดคำนี้ขึ้นมา แล้วก็ใช้กันต่อๆ มาจนปัจจุบัน

กฎของเมอฟี่ หรือ เมอฟี่ลอว์ เป็นเช่นนี้แล

Murphy Law…whatever can go wrong, will go wrong (things will go wrong in any given situation, if you give them a chance)

คำต่อมาคือ กฎของหัวแม่มือ (Rule of Thump)

ตามประวัติที่สืบค้น คำๆ นี้แรกเริ่มมาจากช่างไม้ในอดีตที่วัดความยาววัสดุไม้เวลาทำตู้โต๊ะตั่งเตียง เป็นการวัดอย่างหยาบๆ เอาความยาวของนิ้วมือมาเป็นมาตรวัด เป็นการใช้ประสบการณ์ที่ฝึกฝนมา ไม่ได้มีทฤษฎีอะไรรองรับ

ต่อมาถูกนำไปใช้ในการตอบคำถามที่บางครั้งไม่รู้เหมือนกันว่าจะตอบอย่างไร ในบางครั้งบางเวลาถูกถามว่า ทำไมทำอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น หรือคิดอย่างนั้น เราก็ไม่รู้เหมือนกัน เพียงแต่คิดว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้น ก็เลยตัดสินใจอย่างนั้นไป

กฎของหัวแม่มือ บางทีก็รวมๆ เรียกกฎแห่งนิ้วมือ คือนิ้วมือมันถูกเรียงเป็นลำดับจากนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย แล้วโดยทั่วไป นิ้วโป้งจะสั้น นิ้วชี้จะยาวขึ้น นิ้วกลางมักจะยาวที่สุด พอถึงนิ้วนางจะสั้นลง แล้วนิ้วสุดท้ายคือนิ้วก้อยก็จะสั้นที่สุดอีกด้านหนึ่ง

ถามว่ามันมีตรรกะอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า ก็ต้องตอบว่ามันไม่มีในทางวิทยาศาสตร์ แต่มันเหมือนกับว่า เมื่อเริ่มต้นที่หนึ่ง มันก็ควรตามด้วยสอง สาม สี่ ห้า ไปเรื่อยๆ

แม้ว่าในโลกแห่งความเป็นจริงมันอาจจะกระโดดจากหนึ่งเป็นอย่างอื่นก็ได้ อย่างที่มีหลายคนพูดว่า “The whole is not the sum of the parts” หรือ “ผลลัพธ์ที่เป็นมากกว่าผลรวม” ซึ่งถูกอธิบายว่า 1+1 อาจเท่ากับ 1, 3 หรือ 4 หรือจำนวนอื่นก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องเท่ากับ 2 เสมอไป

คำที่มีความหมายเช่นนี้ในภาษาอังกฤษมีใช้กันเยอะมาก บ้านเราก็มีใช้บ้าง ที่ได้ยินบ่อยๆก็เช่นคำว่า สามัญสำนึก (common sense) ที่เขาพูดกัน (pattern language) หรือ องค์รวม (heuristic) เป็นต้น

Rule of Thump…a broadly accurate guide or principle, based on experience or practice rather than theory (a principle with broad application that is not intended to be strictly accurate or reliable for every situation. It is based on practical experience) (Right-hand rule, Oersted’s law, Rule of 72, Pattern language, Heuristic argument, Common sense, back-of-the-envelop calculation, Modulor, Satisficing)…Carpenter used thump as “inch”

ส่วนคำสุดท้ายก็คือคำว่า กฎของพาเรทโต้ (Pareto Law)

กฎของพาเรทโต้ นี้เป็นคำที่ค่อนข้างเป็นทางการ แต่ที่ชาวบ้านร้านถิ่นพูดกันมักเรียกว่า กฎยี่สิบ/แปดสิบ

พาเรทโต้ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลีที่พบว่าที่อิตาลีนั้น คนรวย 20% ครอบครองทรัพย์สินมากกว่าคนอีก 80% ที่เหลือ พูดง่ายๆ ก็คือ รวยกระจุก จนกระจาย นั่นเอง และคนเพียง 20% นี่แหล่ะ กลับมีอิทธิพลเหนือคนอีก 80% ในการตัดสินใจ

ต่อมาได้มีคนตั้งข้อสังเกตว่ามีความเป็นไปได้ในหลายๆ เรื่องที่สามารถเห็นได้ชัด เช่นในทางการเมือง จะมีคนประมาณ 20% ที่มาแสดงความเห็นเสียงดังฟังชัด แต่ที่เหลืออีก 80% มักจะอยู่อย่างเงียบๆ บางเรื่องตรงกับอารมณ์ก็ออกมาเห็นด้วย ถ้าไม่ตรงก็เฉยๆ ไม่มามีส่วนร่วม แต่ 20% นั้นจะออกมาแสดงความเห็นตลอดเวลา

กฎของพาเรทโต้ จึงเป็นอะไรที่พูดกว้างๆ ต้องไปวิจัยสืบค้นกันจริงๆ จังๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม กฎของพาเรทโต้ก็ถูกนำไปใช้อธิบายในหลายๆ เรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเศรษฐศาสตร์หรือการเมือง แม้แต่การวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์ก็ยังถูกนำไปอธิบาย

จึงไม่แปลกที่บางคนไม่รู้จะตอบคำถามอย่างไร ก็บอกว่าเป็นไปตามกฎ 20/80

Pareto Principle…known as the 80/20 rule, states that, for many events, roughly 80% of the effects come from 20% of the causes.

จบเรื่องเบาๆ วันหยุดสุดสัปดาห์เท่านี้

ส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษที่อ้างอิงทั้งหมดมาจาก วิกิพีเดีย (Wikipedia) นอกนั้นมาจากประสบการณ์ส่วนตัว อาจผิดบ้างก็ขออภัย ไม่มีเจตนาเลยครับ